ธรรมนูญครอบครัว สร้างให้ถูกต้องตามขั้นตอน Family Charter Canvas ตอนที่ 2. (ตอนจบ)

จากบทความเกี่ยวเนื่องที่ผ่านมาเกี่ยวกับการจัดทำธรรมนูญครอบครัวด้วยเครื่องมือ FCC ตอนที่ 1 (ย้อนกลับไปอ่านได้ที่ บทความตอนที่ 1.) ซึ่งได้อธิบายเกี่ยวกับองค์ประกอบ 1 – 4 ภายใน FCC กล่าวสรุปโดยย่อจากตอนที่ผ่านมานั้นก็คือการเริ่มต้นพูดคุยภายในครอบครัวสำหรับ 1) หาค่านิยมครอบครัว (Family Values) เพื่อเป็นแนวความคิด กรอบการตัดสินใจภายในกงสี 2) หาอนาคตธุรกิจครอบครัววาง Common Goals เพื่อกำหนดทิศทางการพัฒนาร่วมกันในอนาคต 3) หาโครงสร้างธุรกิจครอบครัวที่เหมาะสม ตามบริบทของกงสี นิยามความเป็นสมาชิกครอบครัวและกำหนดโครงสร้างที่ส่งเสริมการเติบโตในอนาคตและ 4) หาบทบาท หน้าที่ เพื่อสร้างความชัดเจนในหน้าที่รับผิดชอบของคนในครอบครัว


องค์ประกอบที่ 5. สวัสดิการ & เงินครอบครัว Family Welfare & Family Fund

สวัสดิการครอบครัว

องค์ประกอบพิจารณาการจัดทำสวัสดิการและเงินครอบครัว

ประเด็นยอดนิยมในกงสี คือการกำหนดสวัสดิการให้กับคนในครอบครัว ทำอย่างไรให้เท่าเทียม? ต้องให้อะไร? คนอื่นได้เราต้องได้หรือไม่? แล้วเอาเงินมาจากไหน? คำถามก่อน What Where When How นั้นควรเป็น Why ก่อนเสนอ การกำหนดสวัสดิการครอบครัวภายในธุรกิจครอบครัวควรเริ่มต้นด้วยคำถามว่า “เราให้สวัสดิการคนในครอบครัวไปเพื่ออะไร?” ธุรกิจครอบครัวเวลาวางแผนสวัสดิการครอบครัวมักลืมในหลักการของการให้ การดูแลคนในครอบครัว...เราอยากให้เงินดูแลของกงสีไปสร้างความรู้สึกแบบไหน? ดูแลแบบเป็นส่วนสนับสนุน ดูแลแบบเต็มที่ หรืออยู่ตรงกลาง...

หากเราตั้งหลักได้แล้วว่าทำไมถึงต้องให้ กงสีถึงเริ่มมาพูดคุยกันถึงเรื่องที่ต้องดูแลเป็นสวัสดิการภายในครอบครัว เรื่องไหนที่ครอบครัวให้ความสำคัญ สุขภาพ? การศึกษา? พื้นฐานการมีครอบครัว? แต่งงานมีลูก? การให้ความสำคัญของแต่ละครอบครัวมักไม่เหมือนกัน เช่นเดียวกันกับหลายครอบครัวที่ได้ไปให้คำปรึกษา เพราะแต่ละบ้านมีพื้นเพที่แตกต่าง ผู้จัดทำธรรมนูญจึงจำเป็นต้องหาข้อตกลงในสวัสดิการอย่างชัดเจนเพื่อที่การดูแลของคนในครอบครัวจะไม่ผิดจุดประสงค์ที่วางไว้

อย่างไรก็ตาม ในทุกสวัสดิการครอบครัวไม่ใช่ว่าทุกคนมีสิทธิได้ทุกอย่างในสัดส่วนที่เท่ากัน ครอบครัวสามารถกำหนดสิทธิสมาชิกครอบครัว (ตามองค์ประกอบโครงสร้างครอบครัว ข้อที่ 3) (เป็นสายครอบครัว) ว่าใครมีสิทธิได้รับสวัสดิการครอบครัวในเรื่องอะไรตามความเหมาะสมที่ควรจะได้รับ

และด้วยคำถามสำคัญถัดมาคือเงินที่เบิกจ่ายเป็นสวัสดิการครอบครัวจะมาจากช่องทางใด? หลายธุรกิจครอบครัวมักบอกว่า “เอามาจากบัญชีสอง” หรือ “เงินกู้กรรมการ” หากทำเช่นนั้น เรากำลังสร้างกับดักให้กับธุรกิจครอบครัวในอนาคตหรือไม่? บัญชีสอง เงินกู้กรรมการ ล้วนแล้วแต่มีความเสี่ยงสูงในการถูกสรรพากรตั้งคำถามถึงที่มาของแหล่งเงินไหลออก ที่ดูไม่เอื้อต่อการเติบโตของกิจการ แต่ไว้เพื่อการส่วนตัวหรือไม่? แม้กงสีบอกว่ามีที่ปรึกษาเป็นสรรพากร แล้วคุณจะแน่ใจอย่างไรว่าจะมีถูกตรวจเจอในอนาคตอันใกล้? ทำทุกอย่างตรงไปตรงมา บริหารภาษีให้ถูกต้อง เงินปันผลผู้ถือหุ้น ผลักดันกำไรสะสมในบัญชีแรก ไม่ทำการเลี่ยงภาษีเพราะความมักง่ายแยกบัญชีธุรกิจออกจากบัญชีครอบครัวเพื่อความชัดเจนบริหารง่ายในอนาคต ในท้ายที่สุดคือหาคนจัดการ เป็นผู้ถือเงินและแจกแจงการเงินครอบครัวให้โปร่งใส เกณฑ์ในการคัดเลือกคนดูแลเงินครอบครัวเป็นอย่างไร? ต้องเป็นคนในครอบครัวหรือคนนอกที่ไม่มีส่วนได้เสีย? ประสบการณ์มากน้อยขนาดไหน? เนื้อหาเหล่านี้ต้องถูกพูดคุยและตกผลึกในการพูดคุยครอบครัวให้ธรรมนูญครอบครัวเกิดประสิทธิภาพมากที่สุด


รูปแบบการกำหนดอนาคตธุรกิจครอบครัว

องค์ประกอบที่ 6. การบริหารธุรกิจครอบครัว Family Business Management

ธุรกิจครอบครัวควรจะบริหารอย่างไร? หลักธรรมาภิบาลพื้นฐานที่เกือบทุกกงสีไม่ได้ย้อนกลับมาตรวจสอบตัวเองให้ถ่องแท้ ธุรกิจครอบครัวอยากเติบโต อยากเป็นมืออาชีพ แต่ติดการบริหารธุรกิจครอบครัวแบบเดิม จัดการคนในครอบครัวแบบเดิม มีระบบ Promotion แบบเดิม เกณฑ์เงินเดือนแบบเดิม ผู้บริหารก็เป็นชุดเดิม แล้วกงสีเราจะก้าวข้ามไปสู่อนาคตที่ธุรกิจครอบครัวต้องการได้อย่างไร หากทุกอย่างยังเป็นแบบเดิม? และหากเป็นเช่นนั้น กงสีก็คงจะอยู่ที่เดิมไม่เปลี่ยนแปลง... ครอบครัวจะต้องพิจารณาองค์ประกอบเพื่อวางรากฐานในการบริหารธุรกิจครอบครัวให้เข้มแข็งขึ้น หลายกงสีอาจกล่าวเป็นนัยได้ว่า “ทำอย่างไรให้ธุรกิจเป็นมืออาชีพมากขึ้น” และด้วยองค์ประกอบนี้ ครอบครัวจะต้องเริ่มต้นพูดคุยเพื่อหาข้อตกลง ดังนี้

การวางรูปแบบบริหารธุรกิจในมิติของครอบครัว

แม้ว่าคนในครอบครัวคือกำลังสำคัญและจำเป็นอย่างมากในการบริหารธุรกิจครอบครัวในอดีต แต่ความสำคัญในอดีตเป็นสิ่งจำเป็นในอนาคตหรือไม่? ลูกหลานกงสีต้องเข้ามาทำงานในธุรกิจครอบครัวหรือไม่? และหากอยากเข้าทำงานระเบียบการว่าจ้างจะเป็นอย่างไรสำหรับคนในครอบครัว เหตุการณ์ที่กล่าวถึงไม่ใช่หลักการที่กล่าวขึ้นลอยๆ แต่เป็นเหตุการณ์จริงที่เกิดขึ้นกับหลายครอบครัวที่เมื่อไม่ได้พูดคุยเรื่องต่างๆ ให้ชัดเจน ก็เกิดข้อขัดแย้งในการจ้างคนในครอบครัวเข้าทำงาน เมื่อธุรกิจครอบครัวต้องการความเป็นมืออาชีพ แต่คนในครอบครัวกลับเข้าทำงานได้โดยไม่มีกฎเกณฑ์รับรอง ระบบที่พยายามสร้างก็คงไม่ศักดิ์สิทธิ์อีกต่อไป ดังนั้น กงสีควรจะพูดคุยให้ครอบคลุมในเรื่องของเกณฑ์การรับเข้าทำงานของคนในครอบครัว การได้รับเงินเดือน ตำแหน่งที่สามารถทำงานได้ ซึ่งจะต้องพูดคุยครอบคุลมไปถึงเขย สะใภ้ หรือสมาชิกครอบครัวคนอื่นๆ ที่อาจอยู่และไม่อยู่ในธรรมนูญครอบครัว

การวางรูปแบบบริหารธุรกิจในมิติของความเป็นมืออาชีพ

“ธุรกิจครอบครัวหากจะเติบโตได้ต้องสลัดความเป็นธุรกิจครอบครัวออกไป” ประโยคนี้มักเจอบ่อยครั้งเมื่อพูดคุยกับหลายธุรกิจครอบครัว ในบางกรณีอาจจะเป็นเช่นนั้น แต่ในหลายกรณีที่ได้ให้คำปรึกษาธุรกิจครอบครัวระดับใหญ่ การเป็นธุรกิจครอบครัวเป็นสิ่งที่ดี เพราะจะเป็นการสร้างความรู้สึกเป็นเจ้าของภายในครอบครัว แต่ไม่ใช่สร้างให้ทุกคนมาอยู่ แต่ต้องสร้างธุรกิจครอบครัวแบบมืออาชีพ (Conscious Professionalism) ขึ้นมา โดยผสมผสานระหว่างคนในครอบครัวที่เหมาะสม มืออาชีพที่เก่งและระบบการทำงานที่มีประสิทธิภาพ

การสร้างธุรกิจครอบครัวแบบมืออาชีพไม่ได้แปลว่าทุกอย่างจะต้องชัดเจน โปร่งใสทุกคนสามารถเห็นทุกอย่างได้ แต่คือการสร้างระบบการบริหารจัดการอย่างเป็นขั้นเป็นตอนมีโครงสร้าง (Organization Chart) พนักงาน โครงสร้างการสั่งงานที่ชัดเจน มีการจ้างงาน การขึ้นตำแหน่ง การคัดเลือกที่เป็นธรรมต่อคนในครอบครัวและมืออาชีพ ดังนั้นการวางธุรกิจอย่างมืออาชีพในธรรมนูญครอบครัว จะต้องวางแผนพูดคุยเรื่องการทำงานและค่าตอบแทนที่เหมาะสม (Contribution & Compensation) อำนาจการตัดสินใจที่จะต้องอยู่ภายในครอบครัว และอำนาจที่สามารถกระจายออกไปได้ ตำแหน่งใดสำคัญในครอบครัว “ห้าม” คนนอกเป็น ตำแหน่งใน “ห้าม” คนกงสีอยู่ ซึ่งรวมไปถึงนโยบายการรับมืออาชีพ กฎเกณฑ์การพิจารณาต่างๆ เรื่องทั้งหมดนั้น ก็ควรจะพูดคุยและกำหนดไว้ในธรรมนูญครอบครัว


วางแผนสืบทอดธุรกิจ

หลักการวางสืบทอดธุรกิจครอบครัว

องค์ประกอบที่ 7. การสืบทอดกิจการ Succession Planning

เมื่อธุรกิจครอบครัวดำเนินถึงช่วงเวลาหนึ่งก็ต้องถึงคราวต้องวางแผนการสืบทอดกิจการ ดังนั้น ประเด็นที่ควรนำมาพูดคุย และกำหนดไว้ใน FCC คือหลักการของการสืบทอดในความเป็นเจ้าของ และการสืบทอดการบริหารธุรกิจถัดไปในอนาคต

การสืบทอดในความเป็นเจ้าของ (Ownership Succession)

เมื่อพูดคุยกันในความเป็นเจ้าของ ประเด็นที่ควรจะกำหนดในธรรมนูญครอบครัวคือความเป็นเจ้าของจำเป็นหรือไม่ที่จะต้องอยู่ที่คนๆ เดียวเป็นหลัก? หรือว่าสามารถเป็นกลุ่มผู้นำที่สร้างขึ้นเพื่อมาผลักดันในกิจการครอบครัว? หลักการดังกล่าวเป็นเรื่องของผู้นำเดี่ยว (Single Leader) และ ผู้นำกลุ่ม (Group Leader) ที่ไม่เคยถูกพูดคุยภายในกงสี แต่เป็นสาระสำคัญอย่างมากเมื่อต้องวางแผนการส่งต่อความเป็นเจ้าของเพื่อรุ่นถัดไป ความเป็นเจ้าของสามารถแบ่งปันร่วมกันในคนในครอบครัวมากขนาดไหน?

มากไปกว่านั้น หากครอบครัวมีมืออาชีพเป็นผู้บริหารในองค์กร สิ่งที่ควรพูดคุยมาสามารถแบ่งปันแก่มืออาชีพได้หรือไม่? หลายธุรกิจครอบครัวในตลาดหลักทรัพย์ที่เราได้เห็นการมีการแบ่งปันหุ้นแก่บุคคลภายนอกด้วยกระบวนการทางกฎหมายซึ่ง

การสืบทอดการบริหารธุรกิจ (Management Succession)

ใครควรที่จะเป็นผู้บริหารต่อไปในอนาคต? คำถามที่ไม่กล้านำขึ้นมาถามในอดีต จะถูกดึงเข้ามาหารือกันภายในการพูดคุย การบริหารธุรกิจไม่ได้ทำกันอย่างง่ายๆ และการสืบทอดการบริหารก็ไม่ใช่เรื่องที่ง่ายดายเช่นเดียวกัน ในการจัดทำธรรมนูญครอบครัว รูปแบบของการสืบทอดการบริหารจะถูกตกผลึกเพื่อหาลักษณะคนที่จะสืบทอดกิจการไม่ว่าจะเป็นในองค์ประกอบของความเป็นคนในครอบครัว การเป็นมืออาชีพ ความสามารถ ประสบการณ์ กระบวนการต่างๆ หรือในบางครอบครัวอาจมองไปถึงอายุที่เหมาะสมในการรับช่วงต่อการเป็นผู้บริหาร หรือหลายครอบครัวก็เลือกที่จะมองข้ามเกณฑ์อายุของผู้บริหารเพราะมีความเห็นว่าอายุเป็นตัวเลขที่จำกัดและไม่สามารถนิยามความสามารถ ประเมินวิสัยทัศน์ที่กว้างไกลและเป็นประโยชน์ต่อองค์กรได้

ในทางกลับกัน เมื่อมองเรื่องผู้รับมอบตำแหน่ง ครอบครัวก็จะต้องพิจารณาการเกษียณของผู้อยู่ในตำแหน่ง หรืออีกนัยหนึ่งคือการวางแผนเกษียณ (Landing Phase) การกำหนดคุณสมบัติและเกณธ์การสืบทอดการบริหารคงจะไม่เกิดผลหากไม่ได้มองเรื่องเกณฑ์และกระบวนการส่งมอบของรุ่นก่อนหน้า ในการจัดทำธรรมนูญครอบครัวควรจะตั้งคำถามในเรื่องของ ตำแหน่งและเกณฑ์อายุที่ควรพิจารณาการเกษียณ ทำไมต้องกำหนด? ก็เพื่อให้ผู้ดำรงค์ตำแหน่งตระหนักอยู่เสมอว่า “ตัวเองไม่ได้อยู่ยั้งยืนยงในธุรกิจเสมอไป” จากประสบการณ์ การให้คำปรึกษา ธุรกิจครอบครัวไม่อาจปฏิเสธได้ว่า ผู้ใหญ่หลายคนมองตำแหน่งที่ตนเองถือไว้เป็นของตาย ไม่สามารถเปลี่ยนผ่านได้ จะเปลี่ยนก็ต่อเมื่อเค้าจากไป มุมมองเช่นนี้เป็นมุมมองที่สร้างกำแพงการสืบทอดอย่างมีประสิทธิภาพในธุรกิจครอบครัว และคนกงสีก็จะปฏิบัติเสียแต่ว่าตำแหน่งในธุรกิจครอบครัวเป็นเพียงเครื่องมือแสดงอำนาจ เครื่องมือทำเงินก็แค่นั้น และด้วยเหตุนี้การหา Landing Phase จึงเป็นเรื่องสำคัญอย่างมากที่ควรจะพูดคุยในธรรมนูญครอบครัว


องค์ประกอบที่ 8. ทรัพย์สิน & ความมั่งคั่ง Asset & Wealth

องค์ประกอบดังกล่าวคือการกำหนดจุดประสงค์ของทรัพย์สินกงสีเพื่อสร้างความชัดเจนในการบริหารต่อไปในอนาคต เมื่อกงสีมีความต้องการสร้างความชัดเจนมากขึ้น การกำหนดทรัพย์สินของครอบครัวว่าที่ดิน อาคาร หรือทรัพย์สินอื่นใดได้นิยามเป็นทรัพย์กงสีหรือไม่ หรือนั้นเป็นเพียงทรัพย์สินของแต่ละคน? หลักการดังกล่าวควรที่จะถูกพูดคุยเป็นอันดับแรกหากพูดคุยเรื่องทรัพย์กงสีก่อนที่จะกำหนดกฎระเบียบต่อไป เพราะในหลายครอบครัวที่ไปได้ให้คำปรึกษา รายการทรัพย์กงสีที่แต่ละคนคิดก็มักจะไม่ตรงกันเป็นส่วนใหญ่

หลังจากกำหนดทรัพย์กงสีเป็นที่เรียบร้อย ทรัพย์กงสีก็ควรที่จะถูกวางจุดประสงค์อย่างชัดเจน ใน FCC จะเป็นเครื่องมือเพื่อให้ครอบครัวได้วางนโยบายว่าทรัพย์กงสีมีจุดประสงค์อย่างไรบ้างเพื่อคนในครอบครัว? ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดในที่ดินของครอบครัวคือ ในหลายครอบครัว ได้มีการกำหนดจุดประสงค์ของที่ดินให้มีไว้เพื่อ 1) เก็บไว้เพื่อเป็นที่พักอาศัยของคนในครอบครัว (บ้านกงสี) 2) พัฒนาเพื่อต่อยอดในธุรกิจ 3) ขายในระยะสั้นหรือยาว หรือ 4) ปล่อยเช่า อย่างไรก็ตาม ตัวอย่างดังกล่าวเป็นเพียงทรัพย์กงสีที่เป็นที่ดินเท่านั้น ทรัพย์กงสีไม่ว่าจะเป็นสังหาริมทรัพย์ หรืออสังหาริมทรัพย์ที่ครอบครัวกำหนดก็ควรที่จะถูกวางจุดประสงค์ตามบริบทที่ครอบครัวพูดคุยกัน

ทรัพย์กงสีสามารถเชื่อมโยงไปสู่ความมั่งคั่งได้ด้วยการต่อยอดทรัพย์กงสีเพื่อผลประโยชน์ส่วนรวมของคนในครอบครัว ใน FCC ครอบครัวจะได้พูดคุยและลงแนวทางว่าทรัพย์กงสีแต่ละชนิดสามารถนำไปต่อยอดสร้างความมั่งคั่งในกงสีได้อย่างไร กรณีตัวอย่างของครอบครัวที่ได้ใช้ FCC ครอบครัวจะสามารถตกลงกันได้ว่าเงินกงสีจำนวนหนึ่งสามารถนำไปลงทุนสร้างผลตอบแทนได้ หรือสามารถนำไปซื้อทรัพย์สินเพื่อสร้างเป็นทรัพย์กงสีเพิ่มเติมได้ตามที่ครอบครัวกำหนด คำถามที่ควรจะพูดคุยระหว่างการจัดทำ FCC คือการลงทุนประเภทใดที่กงสียอมรับได้ เพราะสมาชิกครอบครัวบางคนอาจมีสไตล์การลงทุนที่แตกต่างกัน บางคนชอบความเสี่ยงมาก บางคนชอบความเสี่ยงน้อย บางคนชอบลงทุนเอง บางคนชอบลงทุนกับสถาบันทางการเงิน บางคนชอบลงทุนในสังหาริมทรัพย์ (หุ้น ทอง นาฬิกา ฯลฯ) และบางคนก็อาจชอบลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ (ที่ดิน) แนวทางการลงทุนสร้างความมั่งคั่งจึงเป็นแนวทางสำคัญที่ควรจัดทำเพื่อสร้างความชัดเจนและนำนโยบายดังกล่าวไปปฏิบัติ และสร้างการลงทุนที่ทุกคนยอมรับได้ในกงสี

แนวทางใน FCC ที่ควรพูดคุยคือรูปแบบการบริหารจัดการทรัพย์กงสีและการลงทุน ใครควรจะเป็นผู้บริหารจัดการในการจัดเก็บเอกสารกงสี ติดตามการลงทุนให้เกิดผลประโยชน์สูง เมื่อกงสีมีการต่อยอดความมั่งคั่งจึงจำเป็นอย่างมากที่จะต้องมีคนช่วยดูแลเพื่อคงประโยชน์สูงสุดไว้ในกงสี สื่อสารสร้างความชัดเจนภายในครอบครัว และนำเสนอรายละเอียดในทรัพย์กงสี ข้อพิจารณาต่างๆให้แก่สภาครอบครัวได้บริหารจัดการในอนาคต ดังนั้น ผู้บริหารจัดการทรัพย์กงสีจะต้องเป็นใคร? มีเกณฑ์ในการคัดเลือกอย่างไรที่ทุกคนจะยอมรับ และรายละเอียดข้อมูลไหนที่ผู้จัดการจะต้องเตรียมเป็นประจำเพื่อสื่อสารภายในครอบครัวอย่างเป็นประจำสม่ำเสมอ


องค์ประกอบที่ 9. กฎบ้าน House Rules

กฎบ้านคือกรอบอื่นใดที่สมาชิกครอบครัวทุกคนเห็นว่าควรที่จะมีเพื่อคงความเป็นกงสี คงความปรองดอง ผสานความสัมพันธ์และการอยู่ร่วมกันในกงสี การมีกฎบ้านคือการสื่อสารกรอบของครอบครัวเพื่อให้ทุกคนเข้าใจสิ่งที่ครอบครัวอนุญาตให้ทำและสิ่งที่เป็นข้อห้ามตามกฎบ้าน กฎบ้านสามารถสร้างเป็นเครื่องมือกระชับความสัมพันธ์ภายในครอบครัวผ่านกิจกรรมครอบครัวต่างๆ ที่ครอบครัวได้กำหนดขึ้น หรือเป็นเครื่องมือสร้างความเข้าใจในบทลงโทษของครอบครัวหากมีสมาชิกครอบครัวคนใดทำผิดกฎในธรรมนูญครอบครัว

กฎบ้านเพื่อคงความเป็นกงสีในหลายธุรกิจครอบครัวจะกำหนดเรื่องของแผนที่สมาชิกครอบครัวจะต้องทำเพื่อคงกงสีต่อไปในอนาคต ในบางธุรกิจครอบครัวอาจมีกฎบ้านที่เกี่ยวข้องกับการคงกงสีคือ ไม่แจ้งรายละเอียดธรรมนูญครอบครัวให้แก่คนนอก หรือไม่บอกสูตรการผลิตต่างๆ แก่คนนอกครอบครัวเพื่อป้องกันไม่ให้มีความลับรั่วไหลและสร้างผลกระทบต่อเนื่องในธุรกิจครอบครัว หรืออีกตัวอย่างหนึ่งคือห้ามทำธุรกิจที่ไม่ตรงต่อค่านิยมครอบครัว หรือห้ามทำธุรกิจที่เป็นการค้าแข่งในกงสี ทั้งหมดเป็นกฎเพื่อสร้างความเข้าใจร่วมกันภายในครอบครัง คงการดำเนินกงสีเพื่อไปให้ราบรื่น และไม่สร้างข้อขัดแย้งให้เกิดขึ้นในธุรกิจครอบครัว

กฎบ้านเพื่อสานต่อความปรองดอง ความสัมพันธ์ และสนับสนุนธุรกิจครอบครัวก็เป็นอีกหลักการหนึ่งที่ต้องพูดคุยกันใน FCC ครอบครัวสามารถกำหนดกิจกรรมครอบครัวที่ทุกคนจะต้องเข้าร่วมเพื่อคงความสัมพันธ์ แสดงความเคารพกันและกันให้ชัดเจน ในหลายครอบครัวที่ได้ไปให้คำปรึกษาเมื่อไม่กำหนดกฎบ้านในเนื้อหานี้อย่างชัดเจน สมาชิกครอบครัวบางท่านอาจให้ความสำคัญกับพิธีกรรมความเชื่อ (อาทิเช่น ตรุษจีน เชงเม้ง งานแต่ง เป็นต้น) บางอย่าง หรือบางคนก็อาจให้ความสำคัญกับบางวันเป็นพิเศษ (อาทิเช่น วันเกิด วันปีใหม่ วันทานข้าวร่วมกัน เป็นต้น) การไม่ได้กำหนดกรอบกิจกรรมในครอบครัวก็จะกลายมาเป็นบ่อเกิดของการทะเลาะกันภายในครอบครัวในอนาคต ดังนั้น ครอบครัวจึงจะต้องกำหนดแผนกิจกรรมครอบครัวร่วมกันเพื่อให้ทุกคนเข้าว่ากิจกรรมกลางของครอบครัวมีเรื่องไหนบ้าง และมีสมาชิกครอบครัว­คนไหนในธรรมนูญจะต้องเข้าร่วมตามกฎบ้านที่ได้ตกลงไว้

ในท้ายมีสุด เมื่อ FCC คือการกำหนดกฎระเบียบ และให้คุณต่างๆ (ผ่านสวัสดิการครอบครัว สิทธิพิเศษในการบริหารธุรกิจ เป็นต้น) FCC จะต้องกำหนดบทลงโทษสมาชิกครอบครัว เพื่อเป็นการตักเตือนและวางกรอบภายในครอบครัวว่าทุกคนจะต้องดำเนินตามกรอบ FCC และธรรมนูญครอบครัว ซึ่งหากไม่ปฏิบัติตามก็จะมีบทลงโทษตามที่ครอบครัวได้ตกลงกันเป็นเหมือนการเตือนและทำโทษของผู้ทำผิดดังกล่าว ทั้งนี้ บทลงโทษของครอบครัวสามารถเริ่มต้นได้ตั้งแต่การตักเตือน จนไปถึงการตัดออกจากธรรมนูญ ไม่ได้รับสิทธิต่างๆ ภายในครอบครัวได้ ตามที่ผู้จัดทำธรรมนูญครอบครัวได้กำหนด


FCC คือเครื่องมือในการกระตุ้นการพูดคุยกันภายในครอบครัว สร้างสรรค์ความเข้าใจภาพกว้าง และสรุปหลักการในการจัดทำธรรมนูญครอบครัว หลักจากที่ครอบครัวได้จัดทำ FCC เป็นที่เรียบร้อย การจัดทำธรรมนูญครอบครัวจึงไม่ใช่เรื่องที่ยากอย่างที่ทุกคนคิด

FCC ไม่ได้เป็นเพียงเครื่องมือในการจัดทำธรรมนูญครอบครัวเท่านั้น FCC ยังสามารถใช้เป็นเครื่องมือสื่อสารภายในครอบครัวเพื่อนำเสนอภาพรวมของธุรกิจครอบครัวแก่สมาชิกครอบครัวทุกคนได้เข้าใจในหลักการของกงสี ในการประชุมครอบครัวในอนาคต รวมไปถึงเป็นเครื่องมือการปรับปรุงธรรมนูญครอบครัว ปรับเอาหลักการเข้า-ออก ตามบริบทครอบครัวที่เกิดขึ้น ณ ปัจจุบัน และให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด

อย่างไรก็ตาม แม้ FCC จะเป็นเครื่องมือในการจัดทำ สื่อสาร และปรับปรุงของกงสีแล้ว หลายครอบครัวอาจประสบความท้าทายในการพูดคุย หาตรงกลางภายในครอบครัวได้ ซึ่งอาจนำไปสู่ข้อพิพาทของครอบครัวระหว่างจัดทำธรรมนูญครอบครัว ด้วยเหตุนี้ หลายธุรกิจครอบครัวจึงได้ใช้ที่ปรึกษาธุรกิจครอบครัวที่ไม่มีส่วนได้เสียและมีประสบการณ์เป็นผู้ช่วยครอบครัว (Facilitator) ในการจัดทำธรรมนูญครอบครัวให้เกิดขึ้นจริงได้ด้วยทางเลือกที่หลากหลาย ประสบการณ์จากหลายธุรกิจครอบครัว และการใช้จุดแข็งของคนกลางที่ไม่มี Bias ในการข้อสรุปภายในครอบครัวที่ทุกเห็นตรงกันได้

การทำธรรมนูญครอบครัวโดยใช้ FCC เป็นกระบวนการในการพูดคุยเพื่อให้เห็นภาพรวมของธุรกิจครอบครัว นำข้อมูลอดีตและปัจจุบันมาสร้างอนาคต และสานต่อธุรกิจครอบครัวจากรุ่นสู่รุ่นโดยเน้นการป้องกันมากกว่าแก้ไขเมื่อมีปัญหา ดังนั้น เมื่อครอบครัวมองการป้องกันเหตุที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ในกงสี การจัดทำธรรมนูญครอบครัวโดยใช้ FCC จึงเป็นเครื่องมือที่เป็นประโยชน์ต่อครอบครัวในอนาคต ซึ่งจะสร้างโอกาสในการพัฒนา เสริมความปรองดอง และคงความเป็นธุรกิจครอบครัวจากรุ่นสู่รุ่นได้ตามข้อตกลงที่ทุกคนให้พ้องต้องกัน

Previous
Previous

วางแผนสืบทอดธุรกิจครอบครัว ส่งต่อช่วงอายุไหนเหมาะสมที่สุด?

Next
Next

ธรรมนูญครอบครัว สร้างให้ถูกต้องตามขั้นตอน Family Charter Canvas ตอนที่ 1.