ปัญหาการเปรียบเทียบในครอบครัว
เมื่อดึงคำว่า “การเปรียบเทียบ” ขึ้นมาเป็นประเด็นพูดคุย ทุกคนคงสามารถสะท้อนการโดนเปรียบเทียบจากประสบการณ์ของตนเองมาอย่างมากมาย โดยเฉพาะการเปรียบเทียบภายในเครือญาติครอบครัว สมาชิกครอบครัวรุ่นเดียวกันหรือแม้กระทั้งพี่น้องในครอบครัวมักเป็นโจทย์ให้ผู้ใหญ่พูดคุยกันและก็ต่างเปรียบเทียบคนนั้นกับคนนี้ หากบทสนทนานั้นจบที่รุ่นผู้ใหญ่แล้วก็คงจะไม่เกิดอะไร แต่หลายๆ ครั้งบทสนทนานั้นก็มักจะหลุดมาสู่หูของเจ้าตัว (ผู้ถูกเปรียบเทียบ) ในท้ายที่สุด หรือซ้ำร้ายไปมากกว่าก็คือถูกเปรียบเทียบต่อหน้าเจ้าตัวกันไป
การเปรียบเทียบบุคคลเป็นการกระทำที่สุ่มเสี่ยง ยิ่งเป็นการเปรียบเทียบคนที่มีความสัมพันธ์กับเราอย่างลึกซึ่งแล้วยิ่งมีความเปราะบางขึ้นเป็นทวีคูณ เหตุเพราะคำพูดของเรานั้นจะมีอิทธิพลต่อความรู้สึกของผู้ถูกเปรียบเทียบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ (อาทิ พ่อ-ลูก แม่-ลูก พี่-น้อง น้าผู้ใหญ่-หลานเด็ก เป็นต้น) และโดยส่วนใหญ่แล้วการเปรียบเทียบนั้นเองจะเป็นตัวแปรที่กระทบต่อสภาพจิตใจ สร้างแผลทางใจให้กับสมาชิกครอบครัวตั้งแต่วัยเด็ก และเป็นปมลึกติดตัวมาซึ่งยากที่จะแก้ปมนั้นให้สำเร็จ ซึ่งเรื่องที่ถูกเปรียบเทียบส่วนใหญ่แล้วจะเป็นในเรื่องการศึกษา สรีระ ไลฟ์สไตล์ และวิธีการทำงานต่างๆ หากเราเป็นคนที่เป็นคนเคยเปรียบเทียบ หรือเคยถูกเปรียบเทียบ
หากเราลองนึกย้อนไปในอดีตจะเห็นได้ว่าการเปรียบเทียบนั้นเริ่มตั้งแต่วัยเด็ก อาจจะเป็นการเปรียบเทียบที่ทำโดยตั้งใจเพราะอยากให้เห็นตัวอย่างที่ชัดเจน อยากสร้างแรงบันดาลใจ หรือเกิดขึ้นแบบไม่ได้ตั้งใจเพราะโกรธ เป็นวิธีการเล่าเรื่อง หรือพลั้งปากไป แต่การเปรียบเทียบนั้นจะเป็นตัวแปรที่สร้างพฤติกรรมของผู้ถูกเปรียบเทียบให้เป็นอยู่เหมือนปัจจุบัน ดังนั้น เมื่อการเปรียบเทียบเป็นตัวแปรที่สร้างแผลทางใจภายในครอบครัว สมาชิกครอบครัวที่ถูกเปรียบเทียบในฝั่งด้อยกว่า (Inferior Comparison) ก็จะมีความรู้สึกไม่ดีต่อตัวเอง หรือฝั่งที่ถูกเปรียบเทียบในฝั่งที่เหนือกว่า (Superior Comparison) อยากหลีกเลี่ยงไม่ได้ (ในบางกรณีอาจจะมีฝ่ายสนับสนุนเหตุผล (Justified Comparison) และความรู้สึกไม่ดีนั้นเองก็จะเป็นบ่อเกิดของความขัดแย้งในธุรกิจครอบครัวต่อไป
การเปรียบเทียบมีผลทำให้สมาชิกครอบครัวขัดแย้งในธุรกิจครอบครัวอย่างไร? ขอเริ่มต้นที่หลักการก่อนว่า การเปรียบเทียบบุคคลนั้นจะต้องมีฝ่ายเหนือกว่า และฝ่ายด้อยกว่า (Superior vs Inferior) เข้ามาเกี่ยวข้อง) ด้วยเหตุนี้ฝ่ายที่ด้อยกว่าเมื่อถูกเปรียบเทียบแล้วจึงเกิดอารมณ์โกรธ อิจฉา ต่อบุคคลที่เหนือกว่า และจะมีความรู้สึกเศร้า กระวนกระวาย โทษตัวเอง และ/หรือไม่มีแรงผลักดันกับตนเอง ซึ่งด้วยปรากฎการณ์เหล่านี้ทำให้ความสัมพันธ์ในทางครอบครัวของทั้ง 2 ฝั่งไม่ดีตั้งแต่ต้น และเมื่อทั้ง 2 ต้องมาทำงานร่วมกันในธุรกิจครอบครัวก็ย่อมมีโอกาสเกิดเหตุการณ์ที่สร้างผลกระทบทางลบแก่ธุรกิจครอบครัว ดังเหตุการณ์ดังต่อไปนี้
1. ไม่อยากทำงานร่วมกัน
คงเป็นเรื่องธรรมชาติที่เมื่อคนใดคนหนึ่งมีข้อขัดแย้ง ข้อพิพาทกับอีกฝ่ายหนึ่ง คนนั้นก็คงไม่ได้อยากร่วมทำงานภายใต้เนื้องานที่คาบเกี่ยวซึ่งกันและกัน ซึ่งเหตุการณ์ดังกล่าวก็เกิดขึ้นกับความสัมพันธ์ครอบครัวที่มามีอิทธิพล มีผลกระทบต่อการทำงานในธุรกิจร่วมกัน โดยทั้งสองฝ่ายจะเผชิญกับการทำงานที่มีความตึงเครียดไม่เป็นธรรมชาติระหว่างกัน ปฏิเสธในการร่วมงานแม้เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจโดยตรง การสื่อสารระหว่างสองฝ่ายจะห่างเหินและขาดการพูดคุยเพื่อสร้างสรรค์การทำงานที่มีประสิทธิภาพอันส่งผลให้การทำงานพัฒนาต่อเนื่องไป
เหตุการณ์ดังกล่าวอาจบานปลายทำให้บรรยากาศในการประสานงานระหว่างบริษัทหรือแผนกชะงัก ซึ่งส่งผลกระทบให้ธุรกิจขาดทุนในลำดับต่อมา กรณีศึกษาของครอบครัวหนึ่งที่คุณพ่อชอบเปรียบเทียบน้องชายคนกลาง (Inferior Comparison) กับพี่สาวคนโต (Superior Comparison) ว่าน้องชายคนกลางเป็นคนที่ฉลาดหัวไวตั้งแต่เด็ก เป็นที่รักของคุณครู และสอบเข้ามหาวิทยาลัยทั้งชั้นนำปริญญาตรีและปริญญาโทได้โดยง่ายดาย ผิดจากพี่สาวคนโตที่การศึกษาไม่ได้เรียนสูงเท่าที่ควร แต่หารู้ไม่ว่าด้วยเหตุการณ์ของธุรกิจครอบครัวนั้นทำให้พี่สาวคนโตต้องยอมละการศึกษาเพื่อมาช่วยงานในกิจการ และเพื่อให้ครอบครัวมีเงินในการส่งน้องๆ เรียนดีๆ คุณพ่อครอบครัวนี้ลืมนึกถึงประเด็นที่กล่าวไปแต่ไปมองแต่เพียงความสำเร็จที่เห็นเป็นรูปธรรม แต่ไม่ใช่กระบวนการและผู้เสียสละ เหตุการณ์ดังกล่าวทำให้พี่สาวคนโตไม่ประสงค์ที่จะทำงานร่วมกับน้องชายคนกลางเพียงเพราะมันไปกระทบภาวะทางจิตใจของตน และหากต้องทำงานร่วมกันก็จะทำให้ประสิทธิภาพของตัวเองนั้นด้อยลงซึ่งจะไปซ้ำเติมเป็นวังวนในประเด็นที่โดยเปรียบเทียบอีกครั้งหนึ่ง
ด้วยเหตุนี้ การเปรียบเทียบจึงเป็นสาเหตุของความขัดแย้ง ข้อพิพาทภายในครอบครัว (Family Conflict) ซึ่งนำไปสู่สภาวะจิตใจที่ไม่มั่งคงและอาจสร้างความขัดแย้ง ข้อพิพาทในธุรกิจ (Business Conflict) โดยที่สมาชิกครอบครัวหลายคนไม่รู้
2. อยากเอาชนะ เพื่อตนเองไม่ใช่ธุรกิจ
ในบางคนปมด้อยของตนเองนั้นมีไว้เพื่อเอาชนะ และต้องพิสูจน์ตนเอง อาจเพราะพิสูจน์ตนเองหรือพิสูจน์ให้ผู้เปรียบเทียบเห็น ภาวะดังกล่าวจึงทำให้สมาชิกครอบครัวทำงานแบบเห็นแก่ตัว และสร้างวัฒนธรรมแบบสิทธิพิเศษ (Exclusivity) เพื่อให้ตนเองได้ ตนเองเด่นจนพิสูจน์ตนเองได้ การมีแรงผลักดันเพื่อสร้างผลประโยชน์แม้เป็นเรื่องที่ดี แต่หากมองผลประโยชน์เพียงเพื่อตนเองแล้วนั้น ก็คงขัดต่อเจตนารมณ์ของธุรกิจครอบครัวอย่างชัดเจนเพราะธุรกิจครอบครัวคือการสร้างผลประโยชน์ส่วนรวม (Inclusivity) ต่อเนื่องกันไป มากไปกว่านั้นการเน้นแต่ผลลัพธ์เพื่อเป็นผู้ชนะ นั้นก็จะสร้างกรอบความคิดที่ไม่ได้ทำให้ผู้อื่นได้รับประโยชน์ และเป็นเหตุกระตุ้นให้ความสัมพันธ์ภายในครอบครัวสั่นคลอดเพราะสมาชิกครอบครัวคนอื่นจะไม่พอใจที่คนดังกล่าวไม่ได้เห็นแก่ประโยชน์คนอื่นเท่าที่ควร และจะส่งผลกระตุ้นวัฒนธรรมการทำงานภายในธุรกิจให้เป็นวัฒนธรรมแบบเพื่อตนเอง ทำให้องค์กรไม่มีความเป็นมืออาชีพจึงไม่สามารถสร้างผลประกอบการตามที่หวังไว้
ในบางกรณี การทำเพื่อตนเองก็เป็นการขัดขวางไม่ให้สมาชิกครอบครัวคนอื่นได้ผลงาน อาจเกิดขึ้นโดยการไม่แบ่งปันข้อมูลที่สำคัญในการวิเคราะห์ตัดสินใจในกรอบการทำงานของคนอื่น หรือกดดันผู้บริหาร (ในครอบครัว) เพื่อเสนอตนเองเพื่อรับงานไปทำเยอะขึ้นจนไม่สามารถบริหารจัดการงานได้เนื่องจากงานที่ล้นมือ หรืออาจเพราะงานนั้นเกินความสามารถ ซึ่งส่งผลให้โครงการของธุรกิจครอบครัวไม่ประสบผลสำเร็จ เกิดขาดทุนในธุรกิจครอบครัวอย่างไม่น่าเกิดขึ้นเพียงเพราะต้องการขัดขวางการได้งานระหว่างสมาชิกครอบครัว กรณีศึกษาหนึ่งของครอบครัวที่มีแผนในการตั้งโรงงานผลิตใหม่ในต่างจังหวัดเพื่อเพิ่มกำลังการผลิตสินค้าต่อยอดการพัฒนาของกิจการ แต่ด้วยความอยากพิสูจน์ตนเองจากการโดนเปรียบเทียบระหว่างพี่คนโตและน้องคนเล็ก น้องชายก็ได้ใช้กลยุทธ์กดดันคุณพ่อคุณแม่เพื่อขอโครงการไปทำ แม้การผลิตจะเป็นความเชี่ยวชาญของพี่ชายคนโต แต่สุดท้ายคุณพ่อคุณแม่ยอมปล่อยให้น้องชายไปทำเพราะความลำบากใจของผู้ปกครอง แต่การตั้งโรงงานใหม่นั้นไม่ง่ายแม้แต่น้อย ผนวกกับการปิดบังข้อมูลที่ไม่ยอมให้พ่อแม่พี่ชายเข้าไปมีส่วนรับรู้และเข้ามาช่วยเหลือ จึงทำให้โรงงานผลิตที่ตั้งใหม่นั้นขาดทุนอย่างมหาศาลจนสุดท้ายทำให้พี่ชายต้องมากู้วิกฤตและทำให้โรงงานที่เปิดใหม่นั้นกลับมามีรายได้มีกำไรในท้ายที่สุด
ดังนั้น ความอยากเอาชนะคนในครอบครัวเพื่อพิสูจน์ตนเองก็เป็นศาสตร์ที่อันตราย และหากไม่ได้มีกรอบ Winning Mindset ที่เหมาะสมก็อาจสร้างความเสียหายทั้งในเรื่องของการเงิน และด้านจิตใจกับกงสีเราได้อย่างมหาศาล
3. ไม่อยากพัฒนา (ตนเอง)
ในหลายกรณีที่ได้ให้คำปรึกษา สมาชิกครอบครัวที่ถูกเปรียบเทียบอาจถูกกระทบกระเทือนทางจิตใจ บางคนอาจถึงขั้นเป็นโรคซึมเศร้า และต้องไปพบกับผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งผลกระทบด้านจิตใจนั้นได้ส่งผลทางด้านความคิด การบริหารจัดการ รวมไปถึงการตัดสินใจ ทำให้คนนั้นไม่กล้าที่จะความคิด ไม่กล้าที่จะแสดงออกอะไรเพราะกลัวโดนเปรียบเทียบ ผลกระทบถัดมาที่มักเกิดขึ้นคือผู้ถูกเปรียบเทียบมักจะไม่มีความต้องการที่จะพัฒนาตนเอง หรือแม้กระทั้งไม่ได้มีแนวความคิดอยากจะพัฒนาต่อธุรกิจให้ดีขึ้น เนื่องจากผลกระทบด้านจิตใจทำให้ความรู้สึกอยากพัฒนาตัวเองนั้นถูกจำกัดขึ้น จึงทำให้ไอเดียการพัฒนาธุรกิจถูกจำกัดไปด้วยอย่าหลีกเลี่ยงไม่ได้
เมื่อธุรกิจไม่ได้รับแรงสนับสนุนอย่างเต็มที่ การเติบโตของธุรกิจก็มักจะชะงักหรือไม่ได้เติบโตอย่างเต็มศักยภาพ เราอาจเห็นได้จากหลายธุรกิจครอบครัวที่สมาชิกครอบครัวบางคนมีความต้องการที่จะทำงานในกิจการครอบครัวเพียงเพราะคุณพ่อคุณแม่ (ผู้ใหญ่) ขอมา และได้มอบตำแหน่งสำคัญให้เพราะเป็นคนในครอบครัว แต่เค้าไม่ได้มีความสนใจที่จะพัฒนาตนเอง ไม่ได้มองถึง Career Path และไม่ได้มองว่าธุรกิจจะต้องเดินหน้าอย่างไรต่อไป ทำงานแบบ Passive Worker เช้าเข้างาน เย็นออกงานดั่งพนักงานทั่วไป (แต่อาจเป็นผู้ถือหุ้นในธุรกิจครอบครัว) ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้วความเป็นเจ้าของ และความเป็นครอบครัวควรที่จะเป็นแรงผลักดันในคนดังกล่าวต่อยอดธุรกิจเพื่อทำให้กิจการเติบโตและส่งต่อธุรกิจนี้ให้กับลูกหลานต่อไปจากรุ่นสู่รุ่น
ด้วยเหตุนี้เอง ผลกระทบจากความไม่อยากพัฒนาคนเอง จึงส่งผลกระทบต่อธุรกิจครอบครัวอย่างมหาศาลเพราะหากมองในด้านธุรกิจการไม่พัฒนาตนเองนั้นส่งผลกระทบต่อการมีส่วนร่วมในการพัฒนาธุรกิจให้มียอดขาย มีผลกำไรที่ดีจากไอเดียความคิดที่ทุกคนสามารถมีส่วนร่วมได้ รวมทั้งยังสร้างบรรยากาศการทำงานที่ไม่น่าดึงดูดให้กับพนักงานทั่วไปหรือแม้กระทั้งคนในครอบครัว หรือในด้านครอบครัวก็คือการสร้างความไม่พอใจในรูปแบบการทำงานของเจ้าตัวซึ่งจะไปซึ่งจะมีผลทำให้สภาวะจิตใจแย่ลงไปกว่าเดิม
หากกล่าวโดยสรุป
การเปรียบเทียบเป็นการกระทำที่เกิดขึ้นเป็นประจำในครอบครัวไม่ว่าจะเป็นการตั้งใจหรือไม่ แต่ผลกระทบของการเปรียบเทียมสมาชิกครอบครัวระหว่างกันมักสร้างผลเสียมากกว่าผลดี แนวทางที่เหมาะสมสำหรับครอบครัวคือการวางกฎระเบียบภายในครอบครัวไม่ให้พฤติกรรมเปรียบเทียบเกิดขึ้นภายในครอบครัวเพื่อป้องกันไม่ให้ความรู้สึกเชิงลบระหว่างสมาชิกครอบครัวและก่อให้เกิดข้อพิพาทระหว่างกัน ถึงกระนั้นหากการเปรียบเทียบได้เกิดขึ้นและมีสมาชิกครอบครัวได้รับผลกระทบจากการเปรียบเทียบภายในครอบครัว หรือแม้กระทั้งครอบครัวไม่แน่ใจว่ามีสมาชิกครอบครัวได้รับผลกระทบจากการเปรียบเทียบ ครอบครัวควรจะเปิดกว้างที่จะช่วยเหลือสมาชิกครอบครัวในการฟื้นฟูรักษาให้ความสัมพันธ์ในครอบครัวดีขึ้นโดยการตั้งสวัสดิการครอบครัวเพื่อสนับสนุนให้สมาชิกครอบครัวเข้ารับการช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญ หรือหากครอบครัวไม่ประสงค์ที่จะให้บุคคลภายนอกรับทราบถึงประวัติภายในครอบครัว ครอบครัวสามารถจัดประชุมครอบครัวโดยมีที่ปรึกษาธุรกิจครอบครัว หรือผู้อาวุโสที่ทุกคนให้การยอมรับเพื่อช่วยเหลือสมาชิกครอบครัวที่ได้รับผลกระทบนั้นไม่ว่าจะเป็นการประชุมแบบเปิดหรือแบบปิด
อย่างไรก็ดี หากสมาชิกครอบครัวหรือผู้ใหญ่ต้องการตักเตือนหรือสั่งสอนสมาชิกครอบครัว (หรือเด็กรุ่นใหม่) ก็สามารถทำได้ผ่านการนำสาส์นต่างๆ เข้าไปชี้แจงในประชุมครอบครัว หรือสื่อสารผ่านตัวแทนสายครอบครัว วิธีดังกล่าวจะเป็นวิธีที่สามารถสื่อสารกับสมาชิกครอบครัวได้อย่างมีประสิทธิภาพและลดโอกาสการเปรียบเทียบภายในครอบครัว
การเปรียบเทียบนั้นคือความเสี่ยงภายในธุรกิจครอบครัวและเป็นพฤติกรรมที่ควรหลีกเลี่ยงให้มากที่สุดเพื่อสร้างบรรยากาศการอยู่ร่วมกันอย่างปรองดอง และสร้างธรรมาภิบาลธุรกิจครอบครัวที่สามารถพูดคุยสื่อสารกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีวิธีสนับสนุนสมาชิกครอบครัวผ่านสวัสดิการครอบครัวหรือการประชุมครอบครัวที่ชัดเจน โปร่งใส และสามารถทำงานร่วมกันได้อย่างมืออาชีพเพื่อพัฒนาธุรกิจครอบครัวให้น่าอยู่และส่งต่อไปให้รุ่นต่อไปจากรุ่นสู่รุ่น