ธรรมนูญครอบครัว จัดทำ ใช้งานจริงผ่าน 9 หลักการบริหารธุรกิจครอบครัว
9 หลักการจัดทำ ธรรมนูญครอบครัว
สร้างกฎระเบียบธุรกิจครอบครัว ชัดเจน โปร่งใส เติบโต มั่งคั่ง ยั่งยืน
เมื่อพูดถึงธรรมนูญครอบครัว หลายคนคงสงสัยว่าถ้าจะทำธรรมนูญครอบครัวให้ใช้ได้จริง คงเป็นเรื่องที่ซับซ้อน และยากมาก เพราะคงมีหลายเรื่องที่ต้องพูดคุยกัน และแต่ละเรื่องก็แตกออกเป็นหัวข้อยิบย่อยเป็นอนันต์ ซึ่งบางเรื่องก็ไม่รู้ทางเลือก บางเรื่องไม่รู้ทางออก บางเรื่องไม่มีตรงกลาง และบางเรื่องก็คุยกันไม่ได้เพราะไม่ทราบว่าจะเรื่องนั้นเป็นเรื่องใต้พรมที่จะไปกระตุกให้คนในครอบครัวไม่พอใจ พาลทะเลาะกันด้วยหรือไม่
ด้วยเหตุนี้ แม้หลายครอบครัวอยากทำธรรมนูญครอบครัว แต่ส่วนใหญ่จะกล้าๆ กลัวๆ ในการพูดคุยกันเรื่องการสร้างกฎระเบียบขึ้นใหม่ วางธรรมนูญครอบครัวให้ชัดเจน โปร่งใส และปล่อยให้เรื่องในครอบครัวดำเนินอยู่เช่นนั้น โดยแค่หวังว่าเรื่องที่กังวล จะไม่เกิดขึ้นแต่อย่างใด แท้จริงแล้ว ธรรมนูญครอบครัวมันพูดคุย จัดทำยากขนาดนั้นเลยหรือ?…
ธรรมนูญครอบครัวคือ “ข้อตกลงร่วมของครอบครัวในการบริหารจัดการ และวางกฎระเบียบการอยู่ร่วมกันในกงสี (ธุรกิจ และครอบครัว) เพื่อคงความเป็นเจ้าของ และสามารถส่งต่อความมั่งคั่งนี้จากรุ่นสู่รุ่น” (“ธรรมนูญฯ”) เพื่อให้ทุกคนเห็นภาพ ธรรมนูญฯ คือกฎกงสีที่ทุกคนร่วมกันก่อตั้งขึ้นเพื่อส่งต่อแนวคิดและความมั่งคั่งจากรุ่นพ่อสู่รุ่นลูกและรุ่นถัดๆ ไป ดังนั้นแล้ว ธรรมนูญฯ เป็นเรื่องที่ใหญ่สมคำนิยาม และต้องอาศัยแรงกาย (จัดเวลา พูดคุย) แรงใจ (เสียสละ มองเป็นกลาง หาจุดร่วม) เพื่อให้ได้มาซึ่ง “ธรรมนูญครอบครัว” 1 ฉบับที่ทุกคนตกลงกัน บางบ้านจัดทำธรรมนูญฯ ขึ้นมามีมากกว่า 20+ หน้า มีกฎ 200+ ข้อ บางบ้านมีเพียงไม่ถึง 10 หน้า มีกฎไม่ถึง 100 ข้อ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับ “หลักการ” ที่ครอบครัวให้ความสำคัญ และอยากสร้างความชัดเจน โปร่งใส
แต่คำถามที่แท้จริงแล้วคือ…แล้วหลักการอะไรที่ธรรมนูญฯ ควรใช้ เพื่อนำมาพูดคุย หาข้อตกลงกันภายในกงสีกัน? ด้วยหลักการ และเครื่องมือของบริษัทชื่อ “แผนภาพธรรมนูญครอบครัว” (“Family Charter Canvas” “FCC”) และประสบการณ์ที่ได้จัดทำให้กับธุรกิจครอบครัวมามากกว่า 30+ บริษัท ทางเราเลยสามารถวิเคราะห์ และสามารถนำเสนอ 9 หลักการในการจัดทำธรรมนูญฯ เพื่อให้ครอบครัวสามารถนำเอาหลักการดังกล่าวมาพูดคุย เชื่อมโยง หาข้อสรุปกงสีได้อย่างครบถ้วน ครอบคลุม ซึ่งมีรายละเอียดดังต่อไปนี้
หลักการที่ 1: ค่านิยมครอบครัว Family Values
สิ่งที่สำคัญที่สุดของการทำธุรกิจครอบครัว และเป็นสิ่งที่หลายธุรกิจครอบครัวมักมองข้ามเพราะมองว่าไม่สำคัญที่สุดในการดำเนินธุรกิจครอบครัว ค่านิยมครอบครัวคือสิ่งที่ครอบครัวยึดมั่นในการตัดสินใจและดำเนินธุรกิจครอบครัวร่วมกัน “ไม่ใช่สิ่งที่ยึดติด” ค่านิยมของครอบครัวจะเป็นตัวกำหนดการพัฒนาธุรกิจครอบครัวว่าการต่อยอดธุรกิจครอบครัวจะต้องดำเนินไปในกรอบรูปแบบไหน
หลักการที่ 2: อนาคตธุรกิจครอบครัว Family Business Future
ปัจจัยสำคัญที่ทุกครอบครัวให้ความสำคัญคือการวางแผนอนาคตธุรกิจครอบครัวอย่างเข้มแข็ง และเป็นที่แน่นอนว่าเรื่องนี้เป็นสิ่งที่ทุกครอบครัวคิดอยู่ตลอดเวลา แต่เมื่อครอบครัวมีแนวคิดอนาคตที่แตกต่างนั้นก็เป็นบ่อเกิดของความเห็นที่ไม่ตรงกัน และการบริหารที่ขัดแย้ง ซึ่งมีผลต่อการเมืองในธุรกิจ และความสัมพันธ์ของครอบครัวในท้ายที่สุด ดังนั้น การพูดคุยหาข้อตกลงเรื่องอนาคตธุรกิจครอบครัวจึง เป็นแนวทางที่สมาชิกครอบครัวควรจะให้ความสำคัญ และวางหมุดหมายให้ทุกคนเห็นพ้องต้องกันก่อนที่จะไปต่อเรื่องถัดๆ ไป
หลักการที่ 3: องค์ประกอบที่ 3. โครงสร้างธุรกิจ โครงสร้างครอบครัว Business Structure – Family Structure
ธรรมนูญฯที่ดีต้องชัดเจนในเรื่องโครงสร้าง ไม่ว่าจะเรื่องธุรกิจหรือครอบครัว การวางโครงสร้างที่ชัดเจน และโปร่งใสจะทำให้กงสีมีขั้นตอนในการตัดสินใจอย่างชัดเจนมากขึ้นและสมาชิกครอบครัวทุกคนก็จะทราบดีกว่าแนวทางการตัดสินใจในอนาคตใครจะเป็นผู้ตัดสินใจ
โครงสร้างธุรกิจที่ควรจะระบุไว้ใน FCC ควรจะเป็นโครงสร้างธุรกิจครอบครัวในอนาคตที่สมาชิกครอบครัวเห็นพ้องต้องกันว่าเป็นสิ่งที่ควรจะเป็นในอนาคตเป็นภาพใหญ่ในเรื่องของสัดส่วนการถือหุ้นภายในกงสี นโยบายราคาซื้อขายหุ้นระหว่างครอบครัวและราคาซื้อขายของบุคคลภายนอก ใครจะเป็นผู้ถือครองหุ้นในแต่ละบริษัทและหุ้นของแต่ละบริษัทจะสะท้อนอะไรในธุรกิจครอบครัว มากไปกว่านั้นใน FCC ควรจะระบุว่าหุ้นในธุรกิจครอบครัวในอนาคตจะเป็นอย่างไร ใครสามารถได้รับตกทอดหุ้นดังกล่าวได้ เพื่อครอบครัวจะสามารถนำไป Implement ในด้านกฎหมายต่อไม่ว่าจะเป็นเอกสารสัญญาผู้ถือหุ้น (Shareholder Agreement) ข้อบังคับบริษัท (Articles of Association) หรือข้อบังคับพนักงาน เป็นต้น
หลักการที่ 4: สิทธิ หน้าที่ Right & Responsibility)
ทุกสิ่งล้วนมีหน้าที่ของมัน ไม่ต่างอะไรกับในครอบครัวที่สมาชิกครอบครัวทุกคนจะต้องมีสิทธิ หน้าที่ที่สนับสนุนค่านิยม และอนาคตธุรกิจครอบครัว สิ่งดังกล่าวในธรรมนูญครอบครัวคือแนวทางปฏิบัติของคนในครอบครัวที่สร้างความโปร่งใสอย่างตรงไปตรงมา และสื่อสารให้ทุกคนเข้าใจถึงสิทธิ หน้าที่ที่แต่ละคนจะต้องปฏิบัติตาม รวมไปถึงกำหนดรูปแบบการสื่อสารที่เหมาะสมภายในครอบครัว
หลักการที่ 5: สวัสดิการ & เงินครอบครัว Family Welfare & Family Fund
ประเด็นยอดนิยมในกงสี คือการกำหนดสวัสดิการให้กับคนในครอบครัว ทำอย่างไรให้เท่าเทียม? ต้องให้อะไร? คนอื่นได้เราต้องได้หรือไม่? แล้วเอาเงินมาจากไหน? คำถามก่อน What Where When How นั้นควรเป็น Why ก่อนเสนอ การกำหนดสวัสดิการครอบครัวภายในธุรกิจครอบครัวควรเริ่มต้นด้วยคำถามว่า “เราให้สวัสดิการคนในครอบครัวไปเพื่ออะไร?” ธุรกิจครอบครัวเวลาวางแผนสวัสดิการครอบครัวมักลืมในหลักการของการให้ การดูแลคนในครอบครัว...เราอยากให้เงินดูแลของกงสีไปสร้างความรู้สึกแบบไหน? ดูแลแบบเป็นส่วนสนับสนุน ดูแลแบบเต็มที่ หรืออยู่ตรงกลาง...
หลักการที่ 6: การบริหารธุรกิจครอบครัว Family Business Management
ธุรกิจครอบครัวควรจะบริหารอย่างไร? หลักธรรมาภิบาลพื้นฐานที่เกือบทุกกงสีไม่ได้ย้อนกลับมาตรวจสอบตัวเองให้ถ่องแท้ ธุรกิจครอบครัวอยากเติบโต อยากเป็นมืออาชีพ แต่ติดการบริหารธุรกิจครอบครัวแบบเดิม จัดการคนในครอบครัวแบบเดิม มีระบบ Promotion แบบเดิม เกณฑ์เงินเดือนแบบเดิม ผู้บริหารก็เป็นชุดเดิม แล้วกงสีเราจะก้าวข้ามไปสู่อนาคตที่ธุรกิจครอบครัวต้องการได้อย่างไร หากทุกอย่างยังเป็นแบบเดิม? และหากเป็นเช่นนั้น กงสีก็คงจะอยู่ที่เดิมไม่เปลี่ยนแปลง... ครอบครัวจะต้องพิจารณาองค์ประกอบเพื่อวางรากฐานในการบริหารธุรกิจครอบครัวให้เข้มแข็งขึ้น หลายกงสีอาจกล่าวเป็นนัยได้ว่า “ทำอย่างไรให้ธุรกิจเป็นมืออาชีพมากขึ้น”
หลักการที่ 7: การสืบทอดกิจการ Succession Planning
เมื่อธุรกิจครอบครัวดำเนินถึงช่วงเวลาหนึ่งก็ต้องถึงคราวต้องวางแผนการสืบทอดกิจการ ดังนั้น ประเด็นที่ควรนำมาพูดคุย และกำหนดไว้ใน FCC คือหลักการของการสืบทอดในความเป็นเจ้าของ และการสืบทอดการบริหารธุรกิจถัดไปในอนาคต ซึ่งการวางแผนการสืบทอดนั้นจะต้องวางเป็นกระบวนระยะยาว ไม่ใช่การวางแผนระยะสั้น เนื่องจากจะต้องพิจารณาองค์กระกอบเรื่องของคุณลักษณะของผู้สืบทอด เกณฑ์การพิจารณา กระบวนการคัดเลือก รูปแบบการสอนงาน และที่สำคัญคือตำแหน่งของผู้ใหญ่เมื่อต้องวางแผนการสืบทอดกิจการ ในบางกรณีของธุรกิจครอบครัวก็อาจพิจารณาคุณลักษณะของมืออาชีพคนนอกเพิ่มเติมเพื่อเป็นตัวเลือกเสริมสำหรับการวางแผนการสืบทอดความเป็นเจ้าของ และ/หรือการบริหารด้วยซ้ำไป
หลักการที่ 8: ทรัพย์สิน & ความมั่งคั่ง Asset & Wealth
องค์ประกอบดังกล่าวคือการกำหนดจุดประสงค์ของทรัพย์สินกงสีเพื่อสร้างความชัดเจนในการบริหารต่อไปในอนาคต เมื่อกงสีมีความต้องการสร้างความชัดเจนมากขึ้น การกำหนดทรัพย์สินของครอบครัวว่าที่ดิน อาคาร หรือทรัพย์สินอื่นใดได้นิยามเป็นทรัพย์กงสีหรือไม่ หรือนั้นเป็นเพียงทรัพย์สินของแต่ละคน? หลักการดังกล่าวควรที่จะถูกพูดคุยเป็นอันดับแรกหากพูดคุยเรื่องทรัพย์กงสีก่อนที่จะกำหนดกฎระเบียบต่อไป เพราะในหลายครอบครัวที่ไปได้ให้คำปรึกษา รายการทรัพย์กงสีที่แต่ละคนคิดก็มักจะไม่ตรงกันเป็นส่วนใหญ่
หลักการที่ 9: กฎบ้าน House Rules
กฎบ้านคือกรอบอื่นใดที่สมาชิกครอบครัวทุกคนเห็นว่าควรที่จะมีเพื่อคงความเป็นกงสี คงความปรองดอง ผสานความสัมพันธ์และการอยู่ร่วมกันในกงสี การมีกฎบ้านคือการสื่อสารกรอบของครอบครัวเพื่อให้ทุกคนเข้าใจสิ่งที่ครอบครัวอนุญาตให้ทำและสิ่งที่เป็นข้อห้ามตามกฎบ้าน กฎบ้านสามารถสร้างเป็นเครื่องมือกระชับความสัมพันธ์ภายในครอบครัวผ่านกิจกรรมครอบครัวต่างๆ ที่ครอบครัวได้กำหนดขึ้น หรือเป็นเครื่องมือสร้างความเข้าใจในบทลงโทษของครอบครัวหากมีสมาชิกครอบครัวคนใดทำผิดกฎในธรรมนูญฯ
หากกล่าวโดยสรุป
ธรรมนูญฯ เป็นเครื่องมือที่สามารถจัดทำได้ไม่ยาก หากรู้ถึงหลักการที่จะต้องพูดคุยกัน ซึ่งใน 9 หลักการนี้คือหลักการที่ได้รับการพิจารณา พิสูจน์จาก 30+ ธุรกิจครอบครัวแล้วว่า สามารถจัดทำธรรมนูญฯ ที่ถูกต้อง ชัดเจน โปร่งใส และเป็นที่พึงพอใจและทุกธุรกิจครอบครัว แต่ถึงกระนั้นธรรมนูญฯ ก็ควรใช้เป็นเครื่องมือในการป้องกันมากกว่าแก้ไขสถานการณ์ในธุรกิจครอบครัว เพราะหากครอบครัวใดได้เกิดการทะเลาะ มีข้อพิพาทที่ใหญ่โตแล้ว การจัดทำธรรมนูญฯ ก็อาจกลายเครื่องมือในการกลั่นแกล้ง หรือใช้แบบผิดวิธี และทำให้ครอบครัวเสียแรงการ แรงใจ หรือแม้กระทั่งทุนทรัพย์ในความพยายามจัดทำกฎกงสีตามที่หลายคนได้คาดหวังเอาไว้ แต่หากใช้ธรรมนูญฯ อย่างถูกวิธีแล้วนั้น เครื่องมือนี้ก็จะกลายเป็นกฎกงสีที่ทุกคนได้สื่อสารครอบคลุมทุกประเด็นตาม 9 หลักการของ FCC เกิดความชัดเจน โปร่งใส และมีกฎระเบียบที่ทุกคนยอมรับเป็นหลักการดำเนินธุรกิจครอบครัวจากรุ่นสู่รุ่นต่อไป
สำหรับท่านไหนที่สนใจ รายละเอียดเชิงลึก ตามหลักการของ FCC สามารถอ่านต่อได้ทาง
Family Charter Canvas ตอนที่ 1 และ Family Charter Canvas ตอนที่ 2