เปลี่ยนแปลงธุรกิจครอบครัวผ่านกระบวนการ Transformation Growth Model

Transformation Growth Model

Comfort l Fear l Learning l Growth

เคยสงสัยหรือไม่ว่า ทำไมเวลาธุรกิจครอบครัวจะเปลี่ยนแปลงถึงได้ยากเย็นเสียเหลือเกิน จากตอนแรกคุยอนาคตไว้อย่างดี กำหนดแผนการอย่างเป็นรูปธรรม ทุกคนดูตื่นเต้นกับระบบใหม่ โครงสร้างใหม่ในอนาคต แต่เมื่อถึงตอนปฏิบัติจริงที่ทุกคนต้องนำไปใช้ กลับกลายเป็นว่าแต่ละคนเงียบเฉยหรือมีถึงขั้นต่อต้านกับแผนการที่เคยตกลงไว้

 

เหตุการณ์นี้เกิดขึ้น ได้อย่างไร? ในเมื่อทุกอย่างคุยกันไว้แล้วไม่ใช่หรือ?

 

อยากให้สมาชิกกงสีทุกคนเข้าใจว่า การเปลี่ยนแปลงในธุรกิจครอบครัวไม่เหมือนการเปลี่ยนแปลงที่ตรงไปตรงมาเหมือนกับองค์กรทั่วไป มันมีลักษณะพิเศษของมัน เพราะการเปลี่ยนแปลงนั้นหมายถึงการเปลี่ยนพฤติกรรมที่เกี่ยวข้องทั้งภายในธุรกิจ และครอบครัวที่พวกเขาเคยทำมาตั้งนานหลายสิบปี หากต้องเปลี่ยนแปลงย่อมมีความกลัว ความเครียดวิตกกังวลว่าสิ่งที่ต้องเปลี่ยนจะไปกระทบความสะดวกสบายของเขา แม้ปลายทางจะดีขึ้นแต่ทุกคนก็ยังไม่เห็นภาพ

ดังนั้นแล้ว การเปลี่ยนแปลงย่อมมีกระบวนการของมัน และในบทความนี้ก็อยากจะทำความเข้าใจเกี่ยวกับการกระบวนการเปลี่ยนแปลง (Change Process) ผ่าน 4 พื้นที่ (Zone) ที่ธุรกิจครอบครัวจะต้องก้าวผ่านก่อนที่จะผลัดเปลี่ยนจากปัจจุบันสู่แผนอนาคต ผ่านกระบวนการ 4 ขั้นตอนด้วย Transformation Growth Model


ขั้นที่ 1: พื้นที่ปลอดภัย (Comfort Zone)

เปลี่ยนแปลงธุรกิจครอบครัว

เป็นพื้นที่ปัจจุบันที่ทุกคนอยู่เมื่อไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลง Comfort Zone คือพื้นที่ที่ทุกคนมีบทบาท หน้าที่ที่ชัดเจนของตนเอง และไม่ได้มีความท้าทายเกิดขึ้นเนื่องจากได้มีการออกแบบให้บทบาทหน้าที่ภายในขอบเขตตัวเองอยู่ในกรอบที่บริหารจัดการได้ทั้งในเรื่องธุรกิจ และครอบครัว ไม่ได้มีการเรียนรู้เชิงนโยบาย กลยุทธ์ หรือการทดลองสิ่งใหม่ให้เกิดขึ้น ไม่ได้มองหาการพัฒนา เปลี่ยนแปลงตนเองเพื่อต่อยอดกิจการให้ก้าวหน้า สมาชิกกงสีหลายคนได้ติดกับดักความสบาย (Comfort Zone Trap) เพราะคิดว่าสิ่งที่ตนเองทำอยู่เป็นประจำและพยายามทำให้ดีขึ้นคือการพัฒนาต่อยอด แต่นั้นคือการแก้ปัญหาเชิงบริหาร ไม่ใช่การพัฒนาต่อยอดเชิงกลยุทธ์ เพราะในท้ายที่สุดพฤติกรรมของตนเอง และแนวทางการดำเนินธุรกิจก็ไม่ได้แตกต่างไปจากเดิม

ขั้นที่ 2: พื้นที่หวาดกลัว (Fear Zone)

เมื่อมีกลยุทธ์ที่ต้องเปลี่ยนแปลงไม่ว่าด้านธุรกิจ หรือครอบครัวทุกคนก็จะได้เผชิญพื้นที่ที่ทุกคนไม่คุ้นชิ้น นั้นคือพื้นที่หวาดกลัว (Fear Zone) ในพื้นที่นี้ คนในครอบครัวจะรู้สึกไม่ปลอดภัยแตกต่างจากพื้นที่ก่อนหน้า (Comfort Zone) เพราะการเปลี่ยนแปลงย่อมมาพร้อมกับความไม่รู้ และความไม่รู้ก็ทำให้หลายคนวิตกกังวล เครียด และเข้าสู่โหมดป้องกันตัวเอง (Defense Mechanism) หลายครอบครัวที่มีแผนกำลังจะปรับเปลี่ยนธุรกิจ เมื่อต้องก้าวออกจาก Comfort Zone ก็จะเกิดความกังวล และความกลัว สุดท้ายก็ไม่กล้าที่จะเผชิญกับควาไม่รู้เหล่านั้น กลับกลายเป็นการยึดติดในพื้นที่ปลอดภัย ธุรกิจครอบครัวหลายครอบครัวที่ไม่สามารถก้าวออกจาก Fear Zone ได้มักจะให้เหตุผลเข้าข้างการตัดสินใจตนเองว่าการไม่เปลี่ยนแปลง หรือการทำแบบเดิมนั้นดีอยู่แล้วเพราะการเปลี่ยนนั้นยุ่งยาก ไม่คุ้มเสี่ยง ปัญหาเพียงเล็กน้อยก็ตีให้ใหญ่เหมือนหนักหนา กลายเป็นการยึดติดความสำเร็จเดิม (Status Quo) และไม่กล้าที่จะเปลี่ยนแปลงในท้ายที่สุด แต่หากกงสีไหนกล้าที่จะเผชิญกับ Fear Zone เข้าไปอยู่ในพื้นที่แห่งการไม่รู้ และเผชิญพร้อมแก้ปัญหากับมันนั้นก็จะทำให้กงสีก้าวเข้าสู่อีกพื้นที่หนึ่งที่สดใสมากขึ้น

ขั้นที่ 3: พื้นที่เรียนรู้ (Learning Zone)

เมื่อการเผชิญการไม่รู้แปรเปลี่ยนไปเป็นศึกษา วิเคราะห์ และแก้ปัญหาสิ่งที่ไม่รู้ สิ่งที่ไม่รู้ก็กลับกลายเป็นประสบการณ์ให้ก้าวผ่าน พื้นที่แห่งการเรียนรู้ Learning Zone ก็จะเกิดขึ้นทั้งในธุรกิจ และครอบครัว ปัญหาใหญ่เมื่อก่อนก็เป็นการเรียนรู้ และสร้างระบบบริหารให้ดีขึ้นกว่าเดิม เมื่ออนาคต และกลยุทธ์มั่นคงและทุกคนก้าวเข้าสู่การเรียนรู้ ความกลัวก็คือเรื่องท้าทายที่ต้องก้าวผ่าน สมาชิกครอบครัวจะรู้สึกถึงแบบแผนการทำงานที่ชัดเจนยิ่งขึ้น มีทักษะใหม่เกิดขึ้นมาภายในสมาชิกครอบครัวแต่ละคน และเริ่มมีการสื่อสารระหว่างสมาชิกครอบครัว และภายในการทำงานอย่างเป็นระบบมากขึ้น นั้นก็หมายความได้ว่า Comfort Zone เดิมของครอบครัวก็ถูกขยายให้กว้างขึ้นไปจากเดิมเช่นกัน

ขั้นที่ 4: พื้นที่เติบโต (Growth Zone)

หลังจากธุรกิจครอบครัวผ่าน Comfort Zone, Fear Zone, Learning Zone เป็นที่เรียบร้อย ธุรกิจครอบครัวก็จะเข้าสู่ช่วงเก็บเกี่ยวดอกผลจากการเปลี่ยนแปลง นั้นหมายถึงอนาคตที่ทุกคนได้วางเอาไว้นั้นได้เริ่มดำเนินไปตามทิศทางที่ครอบครัวได้หวังผลไว้ หรือเรียกไว้ว่าบรรลุแผนที่วางไว้ ธุรกิจครอบครัวก็จะเริ่มได้รับผลตอบแทน (Top Line (Revenue)) และผลกำไร (Profit) สมาชิกครอบครัวรวมถึงพนักงานบริษัทก็จะเชี่ยวชาญระบบ หรือทักษะที่เรียนรู้มาแล้วทั้งสิ้น และก้าวเข้าสู่พื้นที่เติบโตคือการไม่หยุดที่จะเปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ จากการเปลี่ยนแปลงของธุรกิจครอบครัว สิ่งที่หลายธุรกิจครอบครัวที่ประสบความสำเร็จนั้นคือการวางอนาคตใหม่ และวางกระบวนการการเปลี่ยนแปลงธุรกิจครอบครัวต่อไปอย่างต่อเนื่อง เพื่อขยายกิจการ และเพิ่มทักษะของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องให้มากขึ้น และเกิดประโยชน์สูงสุดแก่ทั้งธุรกิจ และครอบครัว


โดยสรุป

ในท้ายที่สุดนี้ สิ่งที่ฉุดรั้งธุรกิจครอบครัวเกือบทั้งหมดที่ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงจนเองจากจุดเริ่มต้นไปสู่ปลายทางนั้นไม่ใช่ทักษะความรู้เชิงเทคนิค ไม่ใช่ทักษะการบริหารชั้นยอด ไม่ใช่การมีพนักงานระดับพระกาฬ แต่เป็นมุมมอง (Mindset) ของเจ้าของ กล่าวคือสมาชิกครอบครัวที่พร้อมจะก้าวออกจาก Comfort zone และมาก้าวผ่าน Fear Zone สู่ Learning Zone เพื่อไปสู่ Growth Zone ตามจุดหมายของครอบครัวหรือไม่ สิ่งที่ครอบครัวหวังไว้ไม่ใช่ต้องรอเวลาที่เหมาะสมเพื่อปรับเปลี่ยน เปลี่ยนแปลงเพราะเวลาที่เหมาะสมไม่เคยเกิดขึ้น แต่เวลาที่เหมาะสม โอกาสที่เหมาะสม และการเปลี่ยนแปลงที่เหมาะสมนั้นคือเมื่อทุกคนในครอบครัวควรยังมีความสัมพันธ์อันดี และสามารถพูดคุยสื่อสาร พร้อมกับมีพื้นที่ให้สมาชิกครอบครัวทุกคนทดลองเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลง เพิ่มพูดทักษะตัวเองรวมไปถึงสร้าง New Comfort Zone ให้กับตัวเองและครอบครัวต่อไป

Previous
Previous

เจาะความคิด Forbes กลยุทธ์พาผู้นำธุรกิจครอบครัวเติบโต l GongsiTalk#11 GongsiExpert#1

Next
Next

เมื่อธุรกิจครอบครัวต้องเริ่มคิดแบบเจ้าของ Family Business Think Like Owner l GongsiTalk#10