ธุรกิจครอบครัว ทำงานอย่างไร?
9 หลักการธุรกิจครอบครัว
การบรรยายแก่ธุรกิจครอบครัวใน หัวข้อธุรกิจครอบครัวให้กับสมาคม GS1 Thailand ภายใต้สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย
ธุรกิจครอบครัว เปรียบได้เหมือน "ต้นไม้ใหญ่" ที่หยั่งรากลึกมาอย่างยาวนาน ก่อร่างสร้างตัวจากรุ่นก่อตั้งเป็นเมล็ดพันธุ์สร้างคุณค่าทางเศรษฐกิจ และมีจิตวิญญาณของผู้ประกอบการที่ส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่น ถึงกระนั้นไม่ใช่ธุรกิจ "ทุกต้น" ที่จะเติบโตงดงาม บ้างสูงใหญ่กิ้งก้างแผ่ใบสวย บ้างโอนเอนตามแรงลม และบางต้นอาจหักโค่นลงเพราะ "รากฐาน" ที่ไม่มั่นคง
โมเดลสามวง (Three-Circle Model) ของ Professor John A. Davis จึงเป็นโมเดลที่ไว้ใช้เปรียบเทียบ และทำความเข้าใจเพื่อบริหารธุรกิจครอบครัว เปรียบเสมือนเข็มทิศที่ช่วยให้ผู้เกี่ยวข้องในธุรกิจครอบครัวเข้าใจและจัดการโครงสร้างอันซับซ้อนนี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ดังนั้น บทความนี้จะพาทุกท่านไปทำความเข้าใจ ทำความรู้จักแนวคิดนี้ให้ลึกซึ้งมากขึ้น เพื่อให้ธุรกิจครอบครัวสามารถเติบโตอย่างแข็งแกร่งและส่งต่อสู่อนาคตอย่างมั่นคง
ธุรกิจครอบครัว ไม่ได้เป็นเพียงแค่บริษัทหรือกิจการที่มีสมาชิกในครอบครัวเป็นผู้ถือหุ้นและบริหารงานเท่านั้น แต่มันคือการผสานระหว่างธุรกิจ และความสัมพันธ์ ความรัก ความปรองดอง ซึ่งเปรียบได้ก็คือระบบของธุรกิจที่ต้องการสร้างสมดุลเติบโต และการคงความสัมพันธ์ให้ยังรัก ยังผู้พันธ์ต่อไปได้เรื่อยๆ
เข้าใจธุรกิจครอบครัวผ่าน Three-Circles Model
ถ้าจะทำความเข้าใจคำว่าธุรกิจครอบครัวมากขึ้น โมเดลสามวงของ Prof. John A Davis จึงเป็นแนวคิดที่ได้ถูกพัฒนาขึ้นมาเพื่ออธิบายความสัมพันธ์อันซับซ้อนขององค์กรที่เรียกว่าธุรกิจและครอบครัว โดยแบ่งออกได้เป็นสามองค์ประกอบหลัก ได้แก่:
ครอบครัว (Family) – เป็นองค์ประกอบของความเป็นสายเลือดคนในครอบครัว หรือความสัมพันธ์นอกสายเลือด เช่นคู่สมรส (เขย สะใภ้) บุตรบุญธรรม หรือลูกหม้อกงสีบางคนที่เรารักและเชิดชูมาอย่างยาวนาน คนกลุ่มนี้สามารถทำงานอยู่ในธุรกิจก็ได้ และ/หรือถือหุ้นในธุรกิจก็ได้ หรืออาจไม่ได้ทำงานและถือหุ้นเลยก็ยังพิจารณาว่าเป็นคนในครอบครัว
ธุรกิจ (Business) – สะท้อนถึงองค์กร โครงสร้าง และเป้าหมายของการทำธุรกิจ ถ้านับเป็นบุคคลแล้วก็คือกรรมการบริษัท (ทั้งผู้มีอำนาจลงนาม และกรรมการอิสระ) ผู้บริหาร หรือหัวหน้า พนักงานทั่วไปที่ทำงานที่เป็นคนในครอบครัว หรือคนนอกก็ได้ คนเหล่านี้คือคนที่อยู่ในกิจการของเราเป็น “คนทำงาน” จริงๆ
เป็นเจ้าของ (Ownership) – เจ้าของสะท้อนผ่านการถือหุ้น ดังนั้นผู้ถือหุ้นคือกลุ่มคนที่เป็นเจ้าของกิจการ ซึ่งส่วนใหญ่แล้วคนในครอบครัวทั้งหมดก็จะเป็นเจ้าของธุรกิจ แต่อาจมีบางครอบครัวที่มีคนนอกเข้ามาร่วมเป็นเจ้าของ (JV Partners & Private Equity) หรืออาจมาจากการเข้าตลาดหลักทรัพย์ จึงก่อให้เกิดผู้ถือหุ้นรายย่อยเป็นเจ้าของก็ทำได้
ทั้งนี้ หลายคนในครอบครัวก็เป็น (1) สมาชิกครอบครัว (2) ที่ทำงานอยู่ในธุรกิจ (3) และถือหุ้น จึงสามารถอธิบายได้ว่าคนในครอบครัวเหล่านี้มีมากถึง 3 บทบาท ที่พวกเข้าต้องอยู่ ซึ่งยิ่งวงกลมแต่ละวงทับซ้อนกันมากเท่าไหร่ ความซับซ้อนก็จะมีมากขึ้นตามไปเช่นเดียวกัน เพราะความคาดหวังจากแต่ละองค์ประกอบที่แตกต่างทำให้การบริหารจัดการย่อมซับซ้อน และยากขึ้นเป็นเท่าตัว
3 วงกลม รู้ไปทำไม?
โมเดล 3 วงกลม รู้แล้วดียังไง? ทำไมต้องเข้าใจอย่างจริงจัง
1. การแยกบทบาท:
ธุรกิจที่เติบโตอย่างยั่งยืนต้องมีการกำหนดบทบาทให้ชัดเจนรู้ว่า "ใครเป็นใคร" ในหลายบทความของบริษัท มักจะกล่าวถึงเราต้องรู้ว่าหมวกระหว่างการสื่อสารเราสวมหมวกอะไร? หมวกเจ้าของ หมวกธุรกิจ หรือหมวกครอบครัว มากไปกว่านั้นการที่เรารู้ว่าเราคือใคร หรือคนในครอบครัวคือใครในแต่ละวงกลมก็จะเป็นการสร้างการบริหารที่ชัดเจน โปร่งใส และเป็นมืออาชีพ เพราะไม่ใช่เพียงเพราะเป็นลูกหรือหลานของเจ้าของเดิมจะได้รับตำแหน่งบริหารทันที การมีโครงสร้างที่โปร่งใส และกฎเกณฑ์ที่เป็นธรรม จะช่วยลดความขัดแย้งภายในและเพิ่มประสิทธิภาพขององค์กรได้เช่นเดียวกัน
2. การบริหารความสัมพันธ์ในครอบครัว: แก่นแท้ของความมั่นคง
ความรัก ความปรองดอง ความผูกพันมันเป็นพลังบวกในการดำเนินธุรกิจครอบครัว แต่หากไร้ซึ่งการจัดการที่เหมาะสม ความสัมพันธ์ก็อาจกลายความซับซ้อน ความยุ่งยาก มันจะกลายเป็นเป็นคอขวดที่ฉุดรั้งไม่ให้ธุรกิจของเราเติบโตเพราะเพียงคำว่าครอบครัวกับความสัมพันธ์
หลายบ้านจึงเลือกจัดตั้ง "ธรรมนูญครอบครัว" และจัดตั้ง "สภาครอบครัว" และ "ปรับโครงสร้างธุรกิจ" สร้าง "Family Office" เพื่อใช้เป็นแนวทางสำหรับ "วางแผนสืบทอดกิจการ" และเพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและกำหนดแนวทางร่วมกัน สามารถช่วยป้องกันปัญหาความขัดแย้งที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต
3. การส่งต่อธุรกิจ: ศิลปะแห่งความต่อเนื่อง
จุดประสงค์ของธุรกิจครอบครัวคือการหวังผลระยะยาว หวังผลแบบข้ามรุ่น หรือเรียกได้ว่าต้องเป็น Long-Term Generational Family Business Strategy
เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ว่าการส่งไม้ต่อในธุรกิจครอบครัวเป็นหนึ่งในความท้าทายที่ยิ่งใหญ่ที่สุด หลายกงสีที่เจอกับปัญหา "รุ่นสองไม่สานต่อ รุ่นสามทำลาย" การเตรียมทายาททางธุรกิจจึงต้องดำเนินไปอย่างมีแผน หรือเรียกได้ว่าต้องเป็น "กระบวนการ" โดยเน้นการพัฒนาองค์ความรู้และทักษะในการบริหาร นำเอาข้อตกลงของครอบครัวผ่าน "ธรรมนูญครอบครัว" มาปรับใช้อย่างต่อเนื่อง
4. การบริหารความเป็นเจ้าของ: กำหนดทิศทางและสมดุล
ความเป็นเจ้าของสะท้อนผ่านการถือหุ้น แต่ในธุรกิจครอบครัวไม่ได้หมายถึงเพียงแค่การถือหุ้น แต่ยังรวมถึงอำนาจในการตัดสินใจและทิศทางขององค์กร การวางแผนโครงสร้างการถือหุ้น และการกำหนดบทบาทของผู้ถือหุ้นแต่ละคนเป็นสิ่งสำคัญเพื่อให้ธุรกิจสามารถดำเนินต่อไปได้อย่างราบรื่น
หากกล่าวโดยสรุป
หากเปรียบเหมือนที่ใครหลายคนที่ชอบบอกว่าธุรกิจครอบครัวเป็นเหมือนต้นไม้ Three-Circle Model ก็เปรียบเสมือนหลักยึดที่ทำให้ต้นไม้ต้นนี้เติบโตอย่างแข็งแรงและมั่นคง การเข้าใจบทบาทของธุรกิจ ครอบครัว และความเป็นเจ้าของ จะช่วยให้การบริหารเป็นไปอย่างมีระบบ ลดความขัดแย้ง และสร้างโอกาสในการส่งต่อกิจการสู่คนรุ่นหลังได้อย่างมั่งคั่ง
ธุรกิจครอบครัวที่ประสบความสำเร็จไม่ได้เกิดขึ้นเพียงเพราะโชคช่วย ไม่ใช่ "ปรากฎการณ์" หากแต่ต้องอาศัย "กระบวนการ" การมีความเข้าใจในโครงสร้าง การบริหารที่มีระบบ และกฎระเบียบ ความรักความปรองดองภายในครอบครัวเป็นที่ตั้ง เพราะท้ายที่สุดแล้ว ไม่ว่าธุรกิจจะเติบโตเพียงใด สายสัมพันธ์ในครอบครัวคือรากฐานที่แท้จริงของความมั่นคงและยั่งยืน