Family Office สำเร็จได้ไม่ใช่เรื่องเงิน แต่คือความปรองดอง

ธุรกิจครอบครัว

งานบรรยายการบริหาร Family Office

การบรรยายให้แก่ธุรกิจครอบครัว และผู้บริหารบริษัทบริหารหลักทรัพย์ชั้นนำของประเทศไทย

“อยากให้ธุรกิจสำเร็จต้องทำเงินเยอะๆ สิ มีเงินเยอะทุกคนก็อยู่สบาย” คำพูดที่สมาชิกครอบครัวหลายท่านชอบพูด เวลาจัดทำธรรมนูญครอบครัว หรือหลักจากจะเริ่มปรับใช้ธรรมนูญครอบครัวด้วยการจัดตั้ง Family Office ด้วยชุดความคิดที่ว่าเมื่อเงินเยอะ ทุกคนจะอยู่สบายและไม่ทะเลาะกันไปเอง น่าคิดที่หลายธุรกิจครอบครัวที่เราได้ไปให้คำปรึกษา แม้เงินเยอะ ความมั่งคั่งเยอะเรียกได้ว่าอยู่ถึงรุ่นหลายก็ใช้ไม่หมด แต่เหตุไฉนเล่าที่พวกเขายังทะเลาะกันแม้มีความมั่งคั่งกองอยู่ตรงหน้าพร้อมให้หยิบใช้ไปยันลูกๆ หลายๆ อะไรคือเบื้องหลังความสำเร็จของการบริหาร Family Office ให้ประสบความสำเร็จจากประสบการณ์การให้คำปรึกษามาอย่างยาวนาน?

เบื้องหลังการบริหาร Family Office หรือบริหารธรรมนูญครอบครัวที่ประสบความสำเร็จอย่างแท้จริง ไม่ใช่แค่เรื่องการลงทุนที่ดีหรือการวางแผนภาษีที่แม่นยำ แต่คือการมี Family Harmony หรือเรียกว่าความปรองดองที่แน่นแฟ้นในครอบครัว หลายครอบครัวให้ความสำคัญกับการรักษา “ต้นทุนทางการเงิน” และ “ผลกำไร” แต่หลงลืมไปว่า “ต้นทุนทางอารมณ์” “ความรู้สึกเชื่อมโยงเป็นเจ้าของ” อย่างความไว้ใจ ความเข้าใจกัน และความสามัคคี คือปัจจัยที่แท้จริงในการส่งต่อความมั่งคั่งจากรุ่นสู่รุ่น

ในฐานะที่ปรึกษาธุรกิจครอบครัว เราเห็นมาหลากหลายรูปแบบ: ความขัดแย้งที่ไม่ได้พูดออกมา, ความสัมพันธ์พี่น้องที่เปราะบาง, หรือวิสัยทัศน์ที่ไม่ตรงกันระหว่างรุ่นเก่าและรุ่นใหม่ ปัญหาเหล่านี้มักเป็น “ความเสี่ยงเงียบ” เป็น “กับดักกงสี” ที่บั่นทอนความมั่นคงของ Family Office มากกว่าความท้าทายของธุรกิจเสียอีก

ด้วยเหตุนี้ ครอบครัวที่อยู่อย่างยั่งยืนจึงมีแนวทางการบริหารธรรมนูญครอบครัวผ่าน Family Office ว่า “ความกลมเกลียว” คือ ทรัพย์สินเชิงกลยุทธ์ ที่ต้องใส่ใจและสร้างขึ้นอย่างเป็นกระบวนการ ซึ่งบทความนี้จะขออธิบายแนวทาง 5 ข้อที่จะช่วยให้ Family Office ไม่เพียงแต่บริหารทรัพย์สินได้ดี แต่ยัง รักษาความสัมพันธ์ ที่ทรงคุณค่านี้ไว้ได้อย่างมั่นคง


  1. มีจุดยืน “ร่วมกัน” ในครอบครัว

Family Office

รู้หรือไม่ว่า หลายครอบครัวไม่ได้คิดถึงเรื่องจุดยืนรวมกันมาก่อน แม้ว่าเป็นเรื่องสำคัญเป็นอย่างมาก เพราะหากไม่มีจุดร่วม ครอบครัวก็จะไร้ซึ่งจุดหมาย

ก่อนคิดเรื่องกลยุทธ์ ต้องตอบให้ได้ว่า “เราทำ Family Office เพื่ออะไร?” การมีเป้าหมายและคุณค่าร่วมกันช่วยให้ทุกการตัดสินใจเป็นไปในทิศทางเดียวกัน จัดทำเป็น กฎระเบียบภายใต้ธรรมนูญครอบครัว กำหนดไว้ในพันธกิจครอบครัว และทบทวนอย่างสม่ำเสมอเพื่อให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงบริบทครอบครัวปัจจุบัน

2. โครงสร้าง สิทธิ บทบาท หน้าที่ต้องชัดเจน

สอดคล้องกับจุดร่วมในข้อที่ 1. เมื่อไม่มีข้อตกลง เมื่อไม่มีจุดยืนร่วมกัน หรือไม่มีการกำหนดโครงสร้างที่จัดเจน ความสับสนและความคาดหวังที่ไม่ตรงกันก็จะเกิดขึ้น การไม่ระบุถึงสิทธิ บทบาท หน้าที่ของคนในครอบครัว ก็สามารถทำให้คนในครอบครัวคิดแตกต่างกัน ต่างฝ่ายต่างกระทำโดยคิดว่าตนเองถูกต้อง “คิดเข้าข้างตนเอง” โดยไม่คำนึงถึงส่วนรวม สิ่งนี้ทำให้เกิดการทะเลาะกันในกงสี และทำให้หลายต่อหลายธุรกิจครอบครัวแตกแยกแม้มีเงินมีความมั่งคั่งอย่างมหาศาล

ดังนั้น การกำหนดว่าใครเป็นเจ้าของ (ในหุ้น ในทรัพย์สิน) ใครมีสิทธิ์ตัดสินใจ (ในธุรกิจ ในครอบครัว ในทรัพย์กงสี ฯลฯ) และใครมีบทบาทบริหาร หรือมีสิทธิ์เข้าทำงาน หรือดูแลใน ธุรกิจครอบครัว Family Office ฯลฯ โครงสร้างเหล่านี้ควรถูกกำกับด้วยเอกสารชัดเจน เช่น กฎการจ้างงานในครอบครัว การตั้งสภาครอบครัว การตั้งตำแหน่งเลขาครอบครัว หรือตำแหน่งใดที่จะสร้างความชัดเจนโปร่งใสตามที่ทุกคนเห็นว่าเหมาะสมที่สุด


3. สร้างวัฒนธรรมการสื่อสารที่โปร่งใส

การสื่อสารในครอบครัวต้องมีการจัดตั้งขึ้นอย่างชัดเจน และปฏิบัติใช้อย่างเคร่งครัด เพราะหลายครั้งทุกครอบครัวมักจะหลงลืมในการสื่อสารเพราะคิดเผื่อหลงคิดว่ามันเป็นเรื่องที่ทุกคนควรรู้อยู่แล้ว หรือคิดเผื่อแม้กระทั่งอาจไม่ใช่เรื่องที่ควรจะรู้ ปรากฏการณ์คิดเผื่อคิดไปเองเช่นนี้จะต้องหมดไประหว่างทำ Family Office สร้างช่องทางการสื่อสารที่รู้ว่าเรื่องไหนควรจะสื่อสารแก่ใครในครอบครัว เพื่อแรงผลักดันและวัฒนธรรมการสื่อสารที่ทุกคนจะรับทราบพร้อมปฏิบัติตาม

การจัดประชุมที่มีโครงสร้าง เช่น ประชุมผู้ถือหุ้น ประชุมกรรมการ ประชุมผู้บริหาร หรือแม้กระทั่งประชุมครอบครัวเป็นประจำ สื่อสารข้อมูลทางการเงินอย่างมีบริบท และเปิดพื้นที่ให้สมาชิกสามารถสอบถามหรือแสดงความเห็นได้อย่างปลอดภัย การมีที่ปรึกษาหรือคนกลางมาช่วยในการสื่อสาร โดยเฉพาะในเรื่องที่ละเอียดอ่อนนั้นเป็นช่องทางที่จะทำให้เกิดความเข้าใจอย่างเท่าเทียมพร้อมลดความตึงเครียดและเข้าใจผิดได้ดีกว่าวิธีไหนๆ

4. สร้างกระบวนการให้รุ่นใหม่มีส่วนร่วม

ทายาทรุ่นใหม่คือผู้สืบทอดทั้งทรัพย์สินความมั่งคั่ง และเจตจำนงค์ของครอบครัว ดังนั้นกลยุทธ์ของธุรกิจครอบครัวก็ควรที่จะสร้างกระบวนการที่ทำให้คนรุ่นใหม่มีส่วนร่วมในการวางแผนค่อยๆ เพิ่มบทบาท หน้าที่ในองค์กรอย่างต่อเนื่องเพื่อทำให้ในท้ายทีสุดเมื่อรุ่นผู้ใหญ่ได้วางมือลง (ไม่ว่าด้วยความตั้งใจ หรือไม่ตั้งใจ) ทายาทคนรุ่นใหม่จะพร้อมที่จะก้าวเข้ามาสานต่อเจตนารมณ์กงสีได้อย่างไม่ขาดตกบกพร่องในมิติใดเป็นพิเศษ เราอาจเห็นได้บ่อยครั้งที่ทายาทรุ่นใหม่ของเราที่ “พยายาม” จะเข้ามามีส่วนร่วมในการกระบวนการพัฒนาธุรกิจ และเมื่อรุ่นผู้ใหญ่ได้ลองนำพวกเขาเข้ามา ทางคนรุ่นใหม่ก็ “เล่นใหญ่” จะเปลี่ยนนู่นนั้นนี้แบบหุนหันพลันแล่น ในแบบที่รุ่นผู้ใหญ่ห้ามปรามแทบไม่ทัน กลายเป็นต้องปิดกั้นเพราะรูปแบบความคิดนั้นไม่ตรงกัน เหตุการณ์เช่นนี้จะไม่เกิดขึ้นหากเราเริ่มวางกระบวนการอย่างต่อเนื่อง

ด้วยเหตุนี้ Family Office ที่ดีควรมีการวางแผนพัฒนาอย่างจริงจัง เช่น การให้ความรู้ทางการเงิน การฝึกมีส่วนร่วมในการประชุม การเปิดโอกาสให้รับผิดชอบโครงการการกุศล หรือโครงการพิเศษของครอบครัวตั้งแต่เนิ่น ๆ เพื่อปลูกฝังความรับผิดชอบและบทบาทที่ชัดเจน และความรู้สึกเป็นเจ้าของในธุรกิจครอบครัวอย่างต่อเนื่อง

5. ประเมินและปรับระบบอย่างต่อเนื่อง

ทุกอย่างไม่จีรังยั่งยืน เฉกเช่นความเป็นไปและบริบทของครอบครัว ดังนั้นกฎระเบียบของ Family Office ก็ควรที่จะปรับเปลี่ยน เปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ โครงสร้างและนโยบายใน Family Office ควรถูกทบทวนและประเมินผลเป็นประจำ ซึ่งสามารถทำได้จาก การสำรวจความพึงพอใจของสมาชิก หรือการจัดเวิร์กช็อปทบทวนเป้าหมายร่วม เพื่อให้มั่นใจว่าสิ่งที่สร้างไว้ยังสอดคล้องกับบริบทของครอบครัวในปัจจุบัน


Family Office

การบริหาร Family Office ผ่านหลักการ Family Management Unit (FaMU) หรือหน่วยบริหารครอบครัว

หากกล่าวโดยสรุป

Family Office ที่ดีไม่ใช่แค่เครื่องมือบริหารความมั่งคั่ง แต่คือเวทีสร้างความเข้าใจ ความสามัคคี และจิตวิญญาณของครอบครัวรุ่นสู่รุ่น ความกลมเกลียวไม่ใช่แค่ “เรื่องอารมณ์” แต่มันคือ เครื่องมือปกป้องและส่งต่อทรัพย์สินของครอบครัวอย่างยั่งยืน

ดังนั้น Family Office จะต้องผสานทั้งหลักการบริหารธุรกิจและครอบครัว ผสานให้ลงตัวตามบริบทของแต่ละครอบครัว ซึ่งสามารถใช้หลักการ Family Management Unit เพื่อสร้างสมดุลระหว่างการเติบโตของธุรกิจ ความปรองดองในครอบครัว และการส่งต่อกิจการอย่างมั่งคั่งยั่งยืนได้ โดยที่สมาชิกครอบครัวทุกคนเห็นพ้องต้องกัน

Next
Next

ธรรมนูญครอบครัวใช้งานอย่างไร l GongsiTalk#20