ธรรมนูญครอบครัว สร้างให้ถูกต้องตามขั้นตอน Family Charter Canvas ตอนที่ 1.
ธรรมนูญครอบครัวเป็นสิ่งที่หลายครอบครัวพยายามจะจัดทำขึ้นเพื่อวางกฎระเบียบภายในครอบครัว สร้างธรรมาภิบาล วางโครงสร้างธุรกิจครอบครัวให้ชัดเจนโปร่งใส เพื่อหวังผลว่าจะทำให้ธุรกิจครอบครัวสามารถเติบโต และส่งต่อไปสู่รุ่นลูกหลานได้ช่วยกันทำโดยไม่ทะเลาะกัน จากความพยายามที่เกิดขึ้นทำให้ธุรกิจครอบครัวได้พยายามตัวอย่างธรรมนูญครอบครัว หรือ Questionnaire การทำธรรมนูญครอบครัวจากคนรู้จักโดยคาดหวังว่าจะทำให้ครอบครัวได้มีธรรมนูญครอบครัวอย่างที่หวังไว้ แต่จากประสบการณ์ของหลายธุรกิจครอบครัวที่ได้ให้คำปรึกษามานั้น แม้ครอบครัวจะมีตัวอย่างธรรมนูญครอบครัว หรือ Questionnaire แล้วก็ตาม แต่สิ่งที่ได้ก็ไม่สามารถปรับใช้ได้กับบริบทธุรกิจครอบครัวตัวเอง และในบางครั้งตัวอย่าง และQuestionnaire ที่ได้กลับกลายเป็นเชื้อเพลิงสร้างความไม่พอใจในครอบครัวอย่างไม่คาดคิด
กรณีตัวอย่างของหนึ่งธุรกิจครอบครัวใหญ่มูลค่าบริษัทรวมเกิน 1,000 ล้านบาท ได้พยายาม “ลอกธรรมนูญครอบครัว” ของครอบครัวเพื่อนสนิทจากการนำธรรมนูญครอบครัวของเพื่อมาปรับใช้ จากความคิดที่จะเมื่อได้สิ่งสมบูรณ์แล้วเอามาปรับใช้ก็ไม่ยาก กลับกลายเป็นการสร้างความไม่พอใจในรูปแบบการประชุม และการออกเสียงภายในครอบครัว ทำให้เกิดการทะเลาะกันภายในครอบครัวระหว่างพ่อและลูกใหญ่โต และทำให้การใช้ธรรมนูญครอบครัวของครอบครัวนั้นต้องหยุดชะงักไป เพราะบริบทของแต่ละครอบครัวไม่ตรงกันจึงทำให้ไม่สามารถดูธรรมนูญครอบครัวอื่นและมาใช้ได้อย่างทันที
ดังนั้น เครื่องมือในการจัดทำธรรมนูญครอบครัวมีอะไรบ้างที่เป็นแบบแผน และสามารถเริ่มได้แม้เป็นธุรกิจครอบครัวมือใหม่กับเรื่องดังกล่าว สิ่งนั้นเรียกว่า Family Charter Canvas (FCC)
หากกล่าวโดยย่อ FCCเป็นเครื่องมือในการจัดทำธรรมนูญครอบครัวอย่างครอบคลุมที่พาครอบครัวพูดคุยในทุกมิติที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจครอบครัว “หลุดกับดักความไม่รู้” เป็นการวางรากฐานกฎระเบียบเพื่อสมาชิกครอบครัวทุกคนในปัจจุบันและอนาคตโดยสร้างการมีส่วนร่วมกับคนในครอบครัว รวมไปถึงยังเป็นเครื่องมือสื่อสารสร้างความชัดเจนภายในครอบครัวในระหว่างการประชุมและการปรับเปลี่ยนธรรมนูญครอบครัวเพื่อไม่ให้เกิดความเข้าใจผิดและการทะเลาะกันภายในครอบครัว (ทุกท่านสามารถกลับไปอ่านได้ในบทความก่อนหน้า เกี่ยวกับนิยามและความสำคัญของ FCC)
ทั้งนี้ ในการจัดทำธรรมนูญครอบครัวด้วย FCC นั้นควรเริ่มต้นในการพูดคุยภายในครอบครัวด้วยองค์ประกอบไหน และแต่ละองค์ประกอบมีรายละเอียดอย่างไรบ้างในการพูดคุยกัน ในบทความนี้จะชี้แจงรายละเอียดดังกล่าวในเนื้อหาที่ปรากฏด้านล่าง
องค์ประกอบที่ 1. ค่านิยมครอบครัว Family Values
องค์ประกอบการพิจารณา ค่านิยมครอบครัว - Family Value
สิ่งที่สำคัญที่สุดของการทำธุรกิจครอบครัว และเป็นสิ่งที่หลายธุรกิจครอบครัวมักมองข้ามเพราะมองว่าไม่สำคัญที่สุดในการดำเนินธุรกิจครอบครัว ค่านิยมครอบครัวคือสิ่งที่ครอบครัวยึดมั่นในการตัดสินใจและดำเนินธุรกิจครอบครัวร่วมกัน “ไม่ใช่สิ่งที่ยึดติด” ค่านิยมของครอบครัวจะเป็นตัวกำหนดการพัฒนาธุรกิจครอบครัวว่าการต่อยอดธุรกิจครอบครัวจะต้องดำเนินไปในกรอบรูปแบบไหน
กรณีตัวอย่างของครอบครัวหนึ่งที่มีค่านิยมชัดเจนคือ ครอบครัวจะ “ทำการค้าที่ไม่เกี่ยวข้องกับชีวิต” ครอบครัวดังกล่าวจึงวางกรอบการพัฒนาธุรกิจที่ไม่เกี่ยวข้องกับสินค้าที่เป็นอาหาร หรือการเพาะปลูก หรืออีกหนึ่งครอบครัวที่มีค่านิยมในการ “ส่งเสริมความถูกต้อง” ครอบครัวจึงผลักดันให้ธุรกิจมีการทำบัญชีในรูปแบบบัญชีเดียว และวางแผนภาษีอย่างถูกต้องตรงไปตรงมา กรณีดังกล่าวเป็นตัวอย่างที่ค่านิยมครอบครัวได้เป็นเข็มทิศในการต่อยอดและดำเนินธุรกิจครอบครัว ซึ่งค่านิยมครอบครัวยังเป็นกรอบเข็มทิศให้กับครอบครัวควบคู่กันไป ดังเช่นในครอบครัวหนึ่งที่มีค่านิยมครอบครัวในการ “คืนสู่สังคม” ครอบครัวจึงวางกฎระเบียบให้สมาชิกครอบครัวทุกคนเข้าร่วมกิจกรรมทำบุญบริจาคภายในครอบครัว เพื่อสร้างพฤติกรรมให้แก่ลูกหลานให้เข้าใจค่านิยมของครอบครัว และสร้างความเข้าใจในการดำเนินธุรกิจครอบครัว
ค่านิยมครอบครัวเป็นองค์ประกอบที่สำคัญเป็นอย่างมากเมื่อครอบครัวมีสมาชิกครอบครัวที่หลากหลายรุ่นและมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น เพราะค่านิยมนี้จะเป็นกรอบการทำงานให้กับคนในครอบครัวให้ดำเนินไปในทิศทางเดียวกันทั้งในบริบทครอบครัวและบริบทธุรกิจหรือ “แม้อาจอยู่คนละบริษัท” ก็ตาม
การกำหนดค่านิยมภายในครอบครัวจะต้องพิจารณาถึงตัวแปรความสำคัญในอดีต ปัจจุบัน และอนาคต ซึ่งรวมไปถึงแรงผลักดันของครอบครัวและส่วนตัว ทั้งหมดเป็นสิ่งที่ “จำเป็น” และไม่อาจมองข้ามได้ ดังนั้นสิ่งที่สำคัญในการหาคานิยมครอบครัวคือการหา Common Interest ของสมาชิกครอบครัวเพื่อให้ Personal Value ของทุกคนรวมกันกลายมาเป็น Family Value สำหรับกงสีของเรา
รูปแบบการกำหนดอนาคตธุรกิจครอบครัว
องค์ประกอบที่ 2. อนาคตธุรกิจครอบครัว Family Business Future
ปัจจัยสำคัญที่ทุกครอบครัวให้ความสำคัญคือการวางแผนอนาคตธุรกิจครอบครัวอย่างเข้มแข็ง และเป็นที่แน่นอนว่าเรื่องนี้เป็นสิ่งที่ทุกครอบครัวคิดอยู่ตลอดเวลา ครอบครัวสามารถกำหนดอนาคตธุรกิจครอบครัวได้โดยสามารถแบ่งออกเป็น 3 แนวทางด้วยกัน ดังนี้
วิธีที่ 1: อนาคตธุรกิจครอบครัวแบบเติบโต (Growth): ครอบครัวอาจวางแผนให้ธุรกิจครอบครัวเติบโต ขยับขยายธุรกิจให้กว้างและลึกขึ้นเพื่อสร้างรายได้เข้ามาในกลุ่มธุรกิจ หากครอบครัวมีนโยบายในการเติบโตการวางทิศทางเชิงรุกจึงเป็นสิ่งสำคัญ มองหาโอกาสในการตีตลาดใหม่ เสริมแกร่งตลาดเดิม สร้างสรรค์นวัตกรรมเพื่อตอบโจทย์ลูกค้ามากขึ้นเพื่อโอกาสทางธุรกิจ
เมื่อมีแผนในการเติบโตก็จะต้องมาคิดกลยุทธ์ในทางปฏิบัติต่อว่าจะเติบโตไปอย่างไร หลายองค์กรเลือกวิธีเติบโตแบบ Organic หมายถึงค่อย ๆ โตโดยใช้ทุนครอบครัวที่มีอยู่และหาช่องทางการเติบโตจากทรัพยยากรณ์ที่มีอยู่ หรือจะเลือกวิธีเติบโตแบบก้าวกระโดด (Inorganic) ซึ่งอาจเป็นได้ทั้งการซื้อกิจการ (Merger & Acquisition) การร่วมทุน (Joint Venture) หรือแม้แต่การจดทะเบียนเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ เป็นต้น ดังนั้น Growthที่ครอบครัวมองไว้อาจมีช่องทางที่หลากหลายซึ่งจะต้องมาพิจารณาทางเลือกอีกครั้งหนึ่งหลังจากที่ครอบครัวได้ตกลงกันแล้วว่าอยากเติบโต
วิธีที่ 2: อนาคตธุรกิจครอบครัวแบบควบคุม (Control): เมื่อมีการเติบโตก็อาจจะสูญเสียอำนาจควบคุมบางอย่างไป แต่หากครอบครัวเลือกการควบคุมนั้น อำนาจการควบคุมก็จะยังอยู่กับครอบครัวต่อไป อนาคตในการควบคุมคือการคงสิทธิในการตัดสินใจ สิทธิในการบริหารธุรกิจไว้ที่คนในครอบครัวโดยสามารถมอบอำนาจการตัดสินใจบางอย่างให้กับมืออาชีพ พนักงานคนนอกไว้ได้ แต่อำนาจการตัดสินใจส่วนใหญ่แล้วก็ยังคงเป็นของครอบครัวอยู่
ครอบครัวที่มีอำนาจการควบคุมสูงจะสามารถสร้างระบบและวัฒนธรรมองค์กรได้อย่างรวดเร็วและมีอิสระ อำนาจการตัดสินใจต่างๆ ก็สามารถทำได้โดยผ่านแต่การประชุมครอบครัวชั่วข้ามคืน แต่การควบคุมที่มากเกินไปก็อาจทำให้องค์กรดูไม่มีความเป็นมืออาชีพและทำให้พนักงานรู้สึกไม่มั่นคงใน Career Path ของตนเพราะตนเองไม่สามารถก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งที่สูงได้เนื่องจากติดสมาชิกครอบครัวที่คุมตำแหน่งอยู่
วิธีที่ 3: อนาคตธุรกิจครอบครัวแบบเน้นสภาพคล่อง (Liquidity): ในบริบทที่ครอบครัวต้องการสภาพคล่องทางการเงิน ธุรกิจก็เป็นกลไกในการสร้างความมั่งคั่งดังกล่าว ด้วยเหตุนี้การเน้นสภาพคล่องในธุรกิจจึงเป็นอีกนโยบายหนึ่งที่ธุรกิจครอบครัวเลือกใช้เพื่อสร้างสภาพคล่องทำให้มีเงินสดและสร้างความมั่งคั่งในครอบครัว นโยบายสภาพคล่องจะสามารถทำได้ผ่านการปันผลสู่ผู้ถือหุ้น ซึ่งจะเป็นการบริหารด้านภาษีอากรที่คุ้มค่าที่สุดและยังเป็นแนวทางที่ถูกต้องตามกฎหมาย การสร้างสภาพคล่องด้วยการนำเงินออกทางบัญชีสอง เงินกู้กรรมการ หรือเพิ่มเงินเดือนผู้บริหาร/กรรมการ แม้จะทำได้แต่ทั้งหมดล้วนแล้วก็มีความเสี่ยงทางกฎหมายและภาษีอากรที่ทุกครอบครัวควรพึงระวัง
อนาคตที่กล่าวข้างต้นสามารถสร้างสมการผสมระหว่างกันได้เพื่อออกแบบแนวทางที่เหมาะสมแก่แต่ละธุรกิจครอบครัว แต่การวางแผนอนาคตธุรกิจครอบครัวไม่สามารถคิดและทำได้ด้วยตัวคนเดียว เพราะการวางแผนอนาคตคือการมองหาโอกาสและตัดสินใจร่วมกันในทิศทางที่ธุรกิจครอบครัวต้องการที่จะเดินไป ลูกค้าหลายรายที่เข้ามาหาด้วยปัญหาที่ว่าแม้ตนจะกำหนดอนาคตของกงสีแล้วแต่สมาชิกครอบครัวคนอื่นกลับไม่เห็นด้วย ไม่สนใจ ไม่กระตือรือร้นที่จะดำเนินธุรกิจไปในทิศทางที่ตนกำหนด นั้นก็เพราะเรามัวแต่ไปคิดในมุมของอนาคตที่ตนเองอยากให้เป็นหาใช่อนาคตที่ทุกคนอยากที่จะสร้างไม่ เพราะในทางกลับกันหากมีบางคนได้ยัดเยียดอนาคตที่ไม่เราไม่ได้เห็นด้วย ทุกคนก็คงไม่อยากที่จะดำเนินตามรอยดังกล่าวเป็นที่แน่นอน
องค์ประกอบที่ 3. โครงสร้างธุรกิจ โครงสร้างครอบครัว Business Structure – Family Structure
ตัวอย่างโครงสร้างธุรกิจครอบครัว
ธรรมนูญครอบครัวที่ดีต้องชัดเจนในเรื่องโครงสร้าง ไม่ว่าจะเรื่องธุรกิจหรือครอบครัว การวางโครงสร้างที่ชัดเจน และโปร่งใสจะทำให้กงสีมีขั้นตอนในการตัดสินใจอย่างชัดเจนมากขึ้นและสมาชิกครอบครัวทุกคนก็จะทราบดีกว่าแนวทางการตัดสินใจในอนาคตใครจะเป็นผู้ตัดสินใจ
โครงสร้างธุรกิจที่ควรจะระบุไว้ใน FCC ควรจะเป็นโครงสร้างธุรกิจครอบครัวในอนาคตที่สมาชิกครอบครัวเห็นพ้องต้องกันว่าเป็นสิ่งที่ควรจะเป็นในอนาคตเป็นภาพใหญ่ในเรื่องของสัดส่วนการถือหุ้นภายในกงสี นโยบายราคาซื้อขายหุ้นระหว่างครอบครัวและราคาซื้อขายของบุคคลภายนอก ใครจะเป็นผู้ถือครองหุ้นในแต่ละบริษัทและหุ้นของแต่ละบริษัทจะสะท้อนอะไรในธุรกิจครอบครัว มากไปกว่านั้นใน FCC ควรจะระบุว่าหุ้นในธุรกิจครอบครัวในอนาคตจะเป็นอย่างไร ใครสามารถได้รับตกทอดหุ้นดังกล่าวได้ เพื่อครอบครัวจะสามารถนำไป Implement ในด้านกฎหมายต่อไม่ว่าจะเป็นเอกสารสัญญาผู้ถือหุ้น (Shareholder Agreement) ข้อบังคับบริษัท (Articles of Association) หรือข้อบังคับพนักงาน เป็นต้น
การกำหนดโครงสร้างครอบครัวเป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญในการนิยามว่าใครคือ “สมาชิกครอบครัว” ธรรมนูญครอบครัวจะกำกับดูแล และให้สิทธิประโยชน์เฉพาะคนที่ถูกระบุไว้ในเนื้อหาเท่านั้น ดังนั้นหากมีคนประเภทใดที่สมควรที่จะได้รับก็ควรที่จะระบุไว้ในโครงสร้างของครอบครัว การกำหนดโครงสร้างครอบครัวนั้นสามารถใช้เกณฑ์ประเมินได้หลากหลายตามแต่บริบทของครอบครัว
ในบางครอบครัวได้ระบุว่าหากมีสมาชิกครอบครัวทางสายเลือดก็ให้ระบุไว้เป็น “สมาชิกสายหลัก” ส่วนสมาชิกครอบครัวคนอื่น เขย สะใภ้ หรือแม้กระทั้งบุตรบุญธรรมก็จะถูกจัดหมวดหมู่ไว้เป็น “สมาชิกสายรอง” คำถามที่สำคัญของทุกกงสีคือเราใช้เกณฑ์อะไรเป็นตัวตัดสินความเป็นครอบครัว? เกณฑ์ด้านความสัมพันธ์? ทางสายเลือด? ทางกฎหมาย? คำมั่นสัญญาที่ให้ไว้? เพศ? หรือแม้กระทั่งความดีความชอบ? ทุกมิติที่กล่าวถึงก็เป็นกรณีตัวของหลายครอบครัวที่นำไปใช้พิจารณาสายครอบครัวในธรรมนูญครอบครัวทั้งสิ้น
สร้างกลไกการตัดสินเรื่องต่างๆในกงสี การวางโครงสร้างครอบครัวคือการแต่งตั้งตัวแทนของครอบครัวไว้พูดคุย ตัดสินใจ และสื่อสารภายในครอบครัวที่มีความซับซ้อนและจำนวนที่มากขึ้น โดยมีเนื้อหาในการพูดคุยเช่น ทรัพย์สินกงสี สวัสดิการครอบครัว การลงทุนต่างๆ ในครอบครัว เป็นต้น ในธรรมนูญตัวอย่างของหลายครอบครัวจะพูดถึงตัวแทนครอบครัวที่เป็นผู้ตัดสินใจเรื่องต่างๆ ของครอบครัวในนามของ “สภาครอบครัว” ซึ่งบทบาท หน้าที่ ของสภาครอบครัวนั้นก็เป็นเช่นเดียวกันกับที่ได้กล่าวไว้ข้างต้น ดังนั้น ธรรมนูญครอบครัวก็ไม่ได้มีความจำเป็นที่จะต้องมีสภาครอบครัวเสมอไป สภาครอบครัวเป็นเพียงแค่ตำแหน่ง แต่สาระสำคัญคือครอบครัวจะต้องสามารถระบุคือตัวแทนของครอบครัวที่ทุกคนยอมรับเพื่อพูดคุยในวาระสำคัญๆ ภายในธุรกิจและครอบครัวต่อไป
องค์ประกอบที่ 4. สิทธิ หน้าที่ Right & Responsibility
ทุกอย่างล้วนมีหน้าที่ของมัน ไม่ต่างอะไรกับในครอบครัวที่สมาชิกครอบครัวทุกคนจะต้องมีสิทธิ หน้าที่ที่สนับสนุนค่านิยม และอนาคตธุรกิจครอบครัว สิ่งดังกล่าวในธรรมนูญครอบครัวคือแนวทางปฏิบัติของคนในครอบครัวที่สร้างความโปร่งใสอย่างตรงไปตรงมา และสื่อสารให้ทุกคนเข้าใจถึงสิทธิ หน้าที่ที่แต่ละคนจะต้องปฏิบัติตาม รวมไปถึงกำหนดรูปแบบการสื่อสารที่เหมาะสมภายในครอบครัว
การออกแบบสิทธิ หน้าที่ภายในครอบครัวควรจะกำหนดเรื่องของการประชุมครอบครัวและพิจารณาถึงเรื่องที่จะต้องนำมาพูดคุยกันในครอบครัวและรูปแบบการตัดสินใจในแต่ละวาระที่ถูกยกขึ้นมาพูดคุย การกำหนดเรื่องที่ต้องพูดคุยกันในครอบครัวมีจุดประสงค์เพื่อส่งเสริมความชัดเจนในการบริหารกิจต่าง ๆ ในครอบครัว ทั้งนี้ ในบางกรณีก็อาจมีวาระที่ไม่จำเป็นที่จะต้องนำมาพูดคุยในครอบครัวได้ ซึ่งครอบครัวก็สามารถกำหนดผู้รับผิดชอบในการตัดสินใจต่าง ๆ ได้ ตัวอย่างของหนึ่งครอบครัวคือหากเป็นเรื่องที่ดินที่มีไว้เพื่อปล่อยเช่าก็จะปล่อยให้เป็นหน้าที่ของพี่ชายคนโตและน้องสาวคนเล็กเป็นดำเนินการเพื่อให้รวดเร็วต่อการเจรจาและตัดสินใจกับบุคคลภายนอก เพียงแต่หลังจากดำเนินการใดๆ ทาง 2 ท่านนี้ก็จะต้อง Update สถานะให้กับสภาครอบครัวอีก 5 ท่าน (รวมสภาครอบครัวเป็น 7 ท่าน) ได้รับทราบถึงแผนการดำเนินการในทรัพย์สินครอบครัวดังกล่าว
อีกหนึ่งประเด็นที่ต้องกำหนดเพื่อสร้างความชัดเจนคือผู้มีสิทธิเข้าร่วมประชุมครอบครัวได้ ในหลายครอบครัวก็จะมีการแยกระหว่างประชุมตัวแทนครอบครัว (สภาครอบครัว) เพื่อพูดคุยและตัดสินใจเรื่องสำคัญภายในครอบครัว และมีการประชุมครอบครัว (ประชุมกงสี) เพื่อสื่อสารและรับฟังความคิดเห็น หรือตัดสินใจในบางวาระที่ตัวแทนครอบครัวได้พิจารณาว่าเห็นควรให้มีการออกเสียงในประชุมครอบครัว หากครอบครัวไม่ได้กำหนดความชัดเจนของผู้มีสิทธิเข้าร่วม ก็อาจจะเกิดปัญหาเรื่องของผู้เข้าร่วมใครบ้างมีสิทธิรับรู้เรื่องสำคัญ ใครบ้างต้องเข้าร่วม เช่นตัวอย่างของหนึ่งครอบครัวที่ไม่ได้มีการกำหนดผู้มีสิทธิเข้าร่วมประชุมครอบครัว ที่ผู้ชายได้นำสะใภ้เข้ามารับรู้ในเรื่องสำคัญภายในครอบครัว สร้างความไม่พอใจแก่สมาชิกครอบครัวท่านอื่นและทำให้การประชุมครอบครัวเกิดความลำบากและไม่สามารถพูดคุยได้อย่างอิสระ
อีกสิทธิ หน้าที่หนึ่งที่ไม่อาจมองข้ามได้คือรูปแบบการตัดสินใจหรือ Voting mechanism ในการประชุมครอบครัว การตัดสินใจในอุดมคติของทุกครอบครัวคือทุกคนเห็นด้วยอย่างเอกฉันท์ แต่ในความเป็นจริงแล้วไม่เป็นแบบนั้นทุกครั้งเสมอไป อาจมีสมาชิกครอบครัวบางคนไม่เห็นด้วย บางคนเห็นต่าง หรือไม่พอใจในวาระนั้น เรื่องนี้เกิดขึ้นได้ และเกิดขึ้นบ่อยในทุกครอบครัว ดังนั้น ครอบครัวต้อง design กลไกการออกเสียงให้ชัดเจนเพื่อลดปัญหา แก้ deadlock ที่อาจเกิดขึ้นในครอบครัว เราสามารถกำหนดได้ว่าต้องได้เสียงกี่เสียงวาระดังกล่าวจะถือว่าผ่านมติของที่ประชุม มีผู้ใดที่มีสิทธิออกเสียงบ้างและแต่ละคนมีสิทธิในเสียงมากน้อยขนาดไหน
ในการบริหารครอบครัวจำเป็นอย่างมากที่ต้องมีผู้ประสานภายในครอบครัว หากกล่าวง่ายๆ ก็เป็นดั่ง เลขาครอบครัวที่คอยกำกับดูแลให้กฎระเบียบในธรรมนูญครอบครัวดำเนินไปอย่างราบรื่น มีการประชุมครอบครัวอย่างสม่ำเสมอตามช่วงเวลาที่กำหนด มีการทำบัญชีครอบครัว จัดเก็บเอกสารที่ดิน/ทรัพย์กงสี สรุปผลต่างๆ ที่เกิดขึ้น และประสานงานระหว่างคนในครอบครัวและบุคคลภายนอก (ที่ปรึกษา) หากไม่มีคนที่เป็นคนประสานงานดังกล่าว ดั่งในหลายครอบครัวที่ “ลืม” ระบุตำแหน่งนี้ไว้ในธรรมนูญครอบครัวก็อาจทำให้สาระสำคัญของธรรมนูญครอบครัวตกหล่นไปและไม่ได้ถูกนำมาใช้งานเพื่อกำกับดูแล สร้างความโปร่งใสตามเจตนารมณ์ของครอบครัวได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ
แล้วองค์ประกอบที่ 5 – 9 จะเป็นอย่างไร? มีเรื่องอะไรที่ต้องพิจารณาในแต่ละองค์ประกอบ? โปรดติดตามในบทความต่อเนื่อง