ทำธรรมนูญครอบครัวฉบับไม่ใช่เจ้าสัว…เป็นไปได้หรือ?
หลาย ๆ คนคงได้ยินคำว่า “ธรรมนูญครอบครัว” มาไม่มากก็น้อย ธรรมนูญครอบครัว กฎระเบียบครอบครัว กฎกงสี หรือชื่อเรียกต่างๆ ถูกใช้เรียก “เครื่องมือ” นี้เพื่อสร้างกฎระเบียบครอบครัวสำหรับการวางโครงสร้าง และบริหาร “ธุรกิจ” และ “ครอบครัว” ให้ชัดเจน เพื่อจุดประสงค์ในการทำงานในธุรกิจครอบครัวร่วมกันอย่างราบรื่น มีข้อตกลงที่ทุกคนเห็นพ้องต้องกัน และสืบทอดกิจการได้จากรุ่นสู่รุ่น ตามปลายทางที่หลายธุรกิจครอบครัวมีนั้นก็คือการวางแผนธุรกิจครอบครัวระยะยาวแบบข้ามรุ่น (Trans-Generational Business Planning) ดังนั้น ธรรมนูญครอบครัวจึงเป็นเครื่องมือที่สร้างความแตกต่างให้กับครอบครัวเพื่อนำไปปฏิบัติภายในครอบครัว และธุรกิจครอบครัวของเรา
แต่หลายครอบครัวมักมีแนวคิดว่า ธรรมนูญครอบครัวคือเครื่องมือระดับเจ้าสัวใช้กัน สมาชิกครอบครัวไม่มาก ธุรกิจไม่ใหญ่ ก็ไม่มีความจำเป็น ยังไม่เหมาะที่จะใช้ เพราะธุรกิจครอบครัวยังดู “ยังไม่ซับซ้อน” ดังนั้น ครอบครัวก็ยังไม่พร้อมที่จะต้องมีธรรมนูญครอบครัว “ครอบครัวเราไม่ใหญ่ ธุรกิจเราเล็ก ๆ มันไม่จำเป็น”...จริงหรือ? แล้วถ้าเราไม่ใช่เจ้าสัว...การทำธรรมนูญครอบครัวเพื่อวางกฎระเบียบให้คนในครอบครัว...จะเป็นไปได้ไหม?
จากประสบการณ์ที่ปรึกษาธุรกิจครอบครัวแล้ว คำตอบที่สั้น ๆ และเรียบง่ายที่สุดเลยคือ “มีครับ” ธรรมนูญครอบครัวไม่ใช่เครื่องมือสำหรับเจ้าสัวเพียงอย่างเดียว แต่เป็นเครื่องมือสำหรับธุรกิจครอบครัวที่ต้องการสร้างโอการในการเติบโตธุรกิจและครอบครัวไปพร้อม ๆ กัน เพื่อสร้างความสมดุลระหว่างการทำงาน การจ้างงาน การบริหาร จัดแจงทรัพย์สิน และการสร้างพื้นที่ให้กับแต่ละมิติในยุคกงสีใหม่
กรณีศึกษาครอบครัวหนึ่ง เป็นธุรกิจครอบครัวที่มีสมาชิก 3 รุ่น อายุกว่า 50 ปี เป็นธุรกิจส่งออกขนาดเล็ก-กลาง โดยมีสมาชิกครอบครัวรุ่นที่ 2 ทุกคนเป็นผู้บริหาร ดำเนินธุรกิจเดิมเพิ่มเติมจากอุตสาหกรรมเดิมมานานกว่า 50 ปี จนถึงรุ่นที่ 3 ที่ความท้าทายภายนอก และภายในเปลี่ยนไป รุ่นที่ 3 ที่อายุเกือบจะ 30 มีสัญญาณความเป็นผู้ประกอบการ นักคิดนักทดลองในความสนใจของแต่ละคน รุ่นที่ 2 ในฐานะผู้ตัดสินใจ เลยจัดทำธรรมนูญครอบครัวเพื่อวางกฎระเบียบการเข้ามาทำงานในธุรกิจเดิม และสื่อสาร ปรับเปลี่ยนทำให้ธุรกิจครอบครัว “กงสี” จากการเป็นกงสีแบบผู้ประกอบการ กลายมาเป็นกงสีแบบนักลงทุน มากขึ้น ตั้งกฎระเบียบการสนับสนุนการเปิดธุรกิจใหม่ ๆ ภายใต้ “กลุ่มธุรกิจครอบครัว”
อีกหนึ่งกรณีศึกษาจากอีกครอบครัว เป็นธุรกิจครอบครัวที่มีสมาชิก 3 รุ่น อายุกว่า40 เป็นธุรกิจผลิต และจัดจำหน่ายสินค้าทำความสะอาดภายในครัวเรือน ขนาดกลาง-ใหญ่ ที่หลาย ๆ คนรู้จัก โดยมีสมาชิกครอบครัวรุ่นที่ 1 เป็นคนคุมนโยบาย และสมาชิกครอบครัวรุ่นที่ 2 เป็นผู้บริหาร ครอบครัวได้มีกฎเหล็กจากรุ่นที่ 1 ห้ามไม่ให้เขยสะใภ้เข้าทำงานในธุรกิจครอบครัว เหตุเพราะ “กลัวครอบครัวแตกแยก” จากแผลกงสีเดิมที่รุ่นที่ 1 เจอมา เมื่อยุคสมัยผ่าน กฎเหล็กจากรุ่นที่ 1 ก็เริ่มถูกตั้งข้อสงสัย เขยสะใภ้ในยุคปัจจุบัน มีความรู้ความสามารถเปรียบได้กับมืออาชีพ และในบางกรณีก็สูงกว่าสมาชิกครอบครัวจากการพิสูจน์มาจากการเป็นหัวหน้า ผู้บริหารจากบริษัทยักษ์ใหญ่ชั้นนำในไทย ครอบครัวจึงมีสัญญาณจากรุ่นที่ 2 ที่อยากเปิดโอกาสให้เขย สะใภ้เข้ามามีบทบาท เข้ามาทำงานในธุรกิจครอบครัว ด้วยเหตุนี้ครอบครัวจึงตัดสินใจจัดทำธรรมนูญครอบครัวเพื่อเป็นการวางกฎระเบียบกลางให้กับสมาชิกครอบครัว เขย สะใภ้ทุกคนให้รับทราบถึงการเปิดโอกาสเข้ามาทำงานในธุรกิจครอบครัวซึ่งจะต้องมีกฎเกณฑ์ และข้อจำกัดตามที่ครอบครัวทุกคนได้กำหนดไว้ตั้งแต่แรก
จากที่ทุกท่านได้อ่านจากกรณีศึกษา ทั้ง 2 ครอบครัวที่เป็นธุรกิจครอบครัวระดับเล็ก-กลาง-ใหญ่ ได้นำธรรมนูญครอบครัวเข้าไปเป็นเครื่องมือในการหาข้อสรุป และสร้างโอกาสจากการเปลี่ยนแปลงในยุคสมัยได้อย่างเหมาะสม ซึ่งการนำธรรมนูญครอบครัวมาใช้ของทั้ง 2 ครอบครัวไม่ได้ใช้เมื่อครอบครัวเกิดปัญหาทะเลาะกัน แต่เป็นการนำมาใช้เมื่อครอบครัวเห็นสัญญาณ เห็นการเปลี่ยนแปลงในอนาคต และอยากที่จะพลิกวิกฤต (เมื่อไม่ได้ทำ) ให้เป็นโอกาส (จากการได้ตกลงกัน) ซึ่งแน่นอนว่าการจัดทำธรรมนูญครอบครัวของทุกครอบครัวจะต้องมาพร้อมกับการนำไปปฏิบัติจริง และมีเอกสารทางกฎหมายเข้ามาเกี่ยวข้องในเรื่องที่ครอบครัวตัดสินใจ และปรับปรุงธรรมนูญครอบครัวให้ทันสมัยเพื่อให้กฎระเบียบต่าง ๆ ยังสามารถปรับใช้ได้ในแต่ละยุคสมัย
ดังนั้น “ธรรมนูญครอบครัวไม่ใช่เครื่องมือสำหรับเจ้าสัว” เสมอไป แต่ธรรมนูญครอบครัวคือเครื่องมือสำหรับธุรกิจครอบครัวทุกขนาด ทุกประเภท หน้าที่ของสมาชิกครอบครัวคือการจับสัญญาณ มองความเป็นไปได้ ความเสี่ยงในครอบครัว ภายในธุรกิจ และนำเรื่องต่าง ๆ มาคุยกันภายในครอบครัว ทำให้ธรรมนูญครอบครัวเป็นเครื่องมือ “ป้องกัน” ไม่ใช่เครื่องมือ “วัวหายล้อมคอก” เพราะถ้าวัวหายไปแล้ว การล้อมกรอบ การสร้างกฎระเบียบจะไม่เกิดประโยชน์
ครอบครัวสามารถเริ่มทำกฎครอบครัว เริ่มทำธรรมนูญครอบครัวขึ้นมาได้ด้วยตัวเอง พูดคุยกันในเรื่องครอบครัว และธุรกิจครอบครัว ย้อนดูอดีต ประเมินปัจจุบัน และกำหนดอนาคต และวางกฎเกณฑ์เพื่อสนับสนุนการเติบโตของธุรกิจครอบครัว และครอบครัวอย่างครอบคลุม หรือในหลายกรณี หลายธุรกิจครอบครัวก็ได้ใช้ที่ปรึกษาธุรกิจครอบครัวเข้าไปเพื่อให้แนวทาง กรณีศึกษา และตัวอย่างจากธุรกิจครอบครัวอื่นเพื่อประกอบการตัดสินใจ และตั้งกฏระเบียบภายในธรรมนูญครอบครัว ซึ่งครอบครัวเราแม้ไม่ใช่เจ้าสัวก็ควรที่จะเริ่มจับสัญญาณ ประเมินสถานการณ์ และวางรากฐานสำคัญให้กับธุรกิจครอบครัวต่อไปในอนาคต