ทำไม Family Holding Company ช่วยคงความเป็นธุรกิจครอบครัว
คุณเคยสงสัยหรือไม่? ว่าทำไมหลายธุรกิจครอบครัวจึงเริ่มหันมาตั้งบริษัทโฮลดิ้งครอบครัว (Family Holding Company) มาเป็นตัวแทนเพื่อถือหุ้นแทนสมาชิกครอบครัว? ทำไมครอบครัวเจ้าสัวหลายๆ คนถึงเลือกให้ Family Holding มาเป็นตัวแทนถือหุ้นกิจการแทนบุคคลธรรมดา? ทำไมเขาถึงไม่ถือหุ้นกันเอง?
เมื่อกิจการกงสีเติบโตได้มาจนถึงระยะเวลาหนึ่งสิ่งหนึ่งที่จะต้องย้อนกลับมาวางแผนใหม่นอกเหนือจากกลยุทธ์การขายการบริหารแล้วนั้นก็คือโครงสร้างของกลุ่มกิจการ (Group Structure) บางครอบครัวมีหลายธุรกิจในกลุ่มครอบครัว อีกกรณีคือมีแค่หนึ่งธุรกิจแต่เริ่มมีหลายสายครอบครัวเกิดขึ้น อันเนื่องมาจากลูกหลานแต่งงานมีลูกและแยกย้ายกันออกไป หรือรูปแบบที่พบกันได้มากที่สุดจากการให้คำปรึกษาคือทั้งธุรกิจและครอบครัวเติบโตขยายด้วยกัน อย่างไรก็ตาม เพราะเหตุจากกิจการแตกขยายออกไปและ/หรือสายครอบครัว (จำนวนสมาชิก) มากขึ้นนั้น ก็กลายเป็นเหตุที่ทำให้หลายกงสีต้องแตกแยก เพราะไม่ได้มีโครงสร้างรองรับการเติบโตในปัจจุบัน และสาเหตุหนึ่งในนั้นก็เป็นเนื่องจากมาจาก จำนวนหุ้นที่กระจัดกระจายไปในคนในครอบครัว หรือแม้ในทางกลับกันคือกระจุกอยู่ที่ใครคนใดคนหนึ่ง ลองตั้งคำถามดูว่าทำไมกลุ่มธุรกิจครอบครัวของเราจะต้องมาพึ่งพิง “ตัวบุคคล” ที่มีอายุขัยแสนสั้น แทนที่จะเป็น “เครื่องมือ” ที่แข็งแรงส่งต่อได้จากรุ่นสู่รุ่น (Perpetual Transition)
การที่หุ้นถูกกระจายไว้หลายคน มองแล้วดูเหมือนเป็นเรื่องที่ดีเพราะดูแล้วแต่ละคนก็กลายเป็นผู้ถือหุ้นแต่ละบริษัทที่ครอบครัวเป็นเจ้าของ แต่หากมองในเชิงการถูกฮุบกิจการ (Hostile Takeover) จากคนใดคนหนึ่งกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง (ทั้งคนในครอบครัว หรือนอกครอบครัว) ถือว่ามีความเสี่ยงที่สูงมาก หากวิเคราะห์อย่างละเอียด ในมิติกฎหมายแล้วการที่แต่ละคนถือหุ้นนั้นคือการให้สิทธิในการตัดสินใจแก่ผู้ถือหุ้น (ผู้ทรงสิทธิ) แต่เพียงผู้เดียว แม้ว่าในมิติของครอบครัวเคยพูดคุยว่าห้ามขายแก่คนนอกและอยากให้ทั้งกลุ่มบริษัทเป็นของกงสีแต่กระนั้นแล้ว เมื่อครอบครัวไม่ได้สร้างกรอบข้อตกลงร่วมกัน และสร้างความปรองดองกงสี ไม่ได้มีแผนการจัดการข้อพิพาท และเกิดทะเลาะกัน ครอบครัวบางคนก็ยินดีที่จะออกจากกิจการโดยการขายหุ้นให้กับบุคคลภายนอกที่ไม่ใช่คนในครอบครัว (ไม่สามารถขายให้คนในครอบครัวได้เพราะไม่สามารถหาข้อตกลงราคาได้) สุดท้ายกลายเป็นคนนอกเข้ามาเป็นผู้ถือหุ้นร่วมในกงสี เราคงไม่ได้อยากให้เกิดเหตุการณ์เช่นนั้น
ในทางกลับกัน การที่หุ้นกระจุกไว้ที่คนคนเดียว เช่นอากง หรือคุณพ่ออาจดูเหมือนปลอดภัยเพราะหุ้นอยู่กับคนที่เป็นศูนย์กลางคนในครอบครัว แต่กรณีศึกษาบางครอบครัวที่เจอคือเมื่อคนคนนั้นเสียชีวิตหุ้นก็จะถูกกระจายสู่ทายาทโดยธรรมตามกฎหมาย นั้นก็คือ บุตรที่ชอบด้วยกฎหมาย (บุตรทางสายเลือด และบุตรบุญธรรม) คู่สมรส และหากบิดา มารดายังมีชีวิตอยู่ ก็จะถูกรวมเข้าไปในทายาทโดยธรรมชั้นที่ 1 เช่นกัน หากมองให้เห็นภาพง่ายๆ หุ้นก็จะถูกกระจายสู่คู่สมรส และลูกๆ คนบางคนอาจทำงานหนัก บางคนก็ไม่ทำเลย หรือเป็นคนที่ครอบครัวไม่ได้ประสงค์ที่จะจัดสรรหุ้นให้อย่างลูกบุญธรรมหรือลูกที่ออกจากกงสีไปแล้ว และการไปตัดสิทธิดังกล่าวก็ไม่อาจทำได้เพราะเค้าคือทายาทโดยธรรม
อีกหนึ่งกรณียอดฮิตคือการที่หุ้นอยู่กับพี่ชายคนโตจำนวนมากจากการที่พ่อโอนหุ้นให้เนื่องจากไม่ได้ติดใจอะไร และคิดว่าพี่คนโตก็ต้องดูแลน้องๆ พี่ชายมีหุ้นเยอะจนมีเสียงที่สามารถบริหารธุรกิจได้ (เกินกว่า 50%) เมื่อก่อนครอบครัวไม่ได้โต้แย้งอะไรเนื่องจากทุกคนยังเด็ก ยังช่วยเหลือพ่อแม่ กงสีด้วยกัน และที่สำคัญคือยังไม่ได้แต่งงาน ยังไม่ต้องคิดเรื่อง Financial Need ส่วนตัว แต่การที่เวลาผ่านไป บางคนแต่งงาน แยกย้ายบ้านออกไปตามทิศทางตนเอง ประกอบกับทุกคนเริ่มมีอายุมากขึ้น เริ่มมั่นใจและอยากลองคุมหางเสือธุรกิจดู พี่ชายคนโตที่มีอำนาจสูงสุดในบริษัทได้บริหารกิจการด้วยความมั่นใจด้วยตนเองทำให้เกิดความไม่พอใจในครอบครัวเหตุเพราะไม่ได้พูดคุยปรึกษากันภายในครอบครัว เหตุการณ์บานปลายทำให้ทะเลาะกัน สุดท้ายครอบครัวไม่อาจทำอะไรได้เพราะหุ้นอยู่กับพี่ชายคนโต และสุดท้ายทำให้กิจการของที่บ้านกลายเป็นกิจการของสายพี่ชายคนโตไปเสียเอง
ด้วยเหตุการณ์ดังกล่าว การที่ครอบครัวมี Family Holding เป็นบริษัทกงสี จะสามารถจัดสรรหุ้นให้หุ้นที่เป็นหุ้นกงสีอยู่ใน Family Holding สามารถกำหนดการถือหุ้นให้เป็นไปตามนโยบายครอบครัวว่าอยาก Family Holding มีอำนาจขนาดไหนอยากให้มีมากก็ถือหุ้นมาก อยากให้มีเพียงสิทธิประโยชน์ทางภาษีและ Block Vote สำคัญ และกันการถูก Hostile Takeover ก็จัดสรรให้ถือหุ้นตามที่กฎหมายกำหนด (ไม่น้อยกว่า 25%) การถือหุ้นส่วนที่เหลือก็สามารถจัดสรรให้แก่เจ้าภาพ คนในครอบครัวที่ทำงานในธุรกิจครอบครัว ผู้ร่วมทุน หรือแม้กระทั้งมืออาชีพได้ทั้งสิ้นโดยไม่สูญเสียความเป็นธุรกิจครอบครัวเพราะความเป็นกงสีถูกยกขึ้นให้ปลอดภัย และพักไว้ที่ Family Holding เป็นที่เรียบร้อย โดยจะต้องจัดทำ สัญญาผู้ถือหุ้น ข้อบังคับบริษัทใน Family Holding ให้ล้อกับนโยบายครอบครัวที่อยากคงกิจการให้เป็นของครอบครัว รวมถึงเอกสารทางกฎหมายเช่น พินัยกรรม สัญญาก่อน/ระหว่างสมรส ต่างๆ เพื่อสร้างเกราะป้องกันในครอบครัว และเร่งสร้างความรักใคร่ปรองดองในสายครอบครัวเพื่อคงเจตนารมณ์กงสี ไม่ให้กระจัดกระจายบริหารแบบบ้านใครบ้านมัน
หากจะกล่าวโดยสรุป
จากที่ได้อ่าน ก็จะสามารถสรุปได้ว่า Family Holding Company คือบริษัทกงสีใหม่ที่สามารถคงความเป็นธุรกิจครอบครัวไว้ได้อย่างเป็นมืออาชีพ ซึ่งหลายธุรกิจครอบครัวในยุคกงสีใหม่ ที่มีจำนวนธุรกิจ และสมาชิกครอบครัวเยอะขึ้นก็จัดตั้ง Family Holding เพื่อคงความเป็นกงสี และสร้างธุรกิจครอบครัวที่เป็นมืออาชีพยิ่งขึ้นประกอบกับนำเครื่องมือ กระบวนการอื่นๆ มาปรับใช้ควบคู่กันเพื่อสร้างกลุ่มธุรกิจที่ปลอดภัย มีความปรองดองภายในครอบครัว และส่งต่อความเป็นธุรกิจครอบครัวจากรุ่นสู่รุ่น