วิธีบริหารจัดการกงสีเมื่อสมาชิกครอบครัวเสียชีวิต
เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป l เกิด แก่ เจ็บ ตาย
หรือคำกล่าวอื่นๆ ที่พูดถึงการจากลาของสมาชิกครอบครัวอันเป็นที่รักเมื่อถึงวัยอันสมควร การเสียชีวิตของบุคคลภายในครอบครัวนั้นไม่อาจหลีกหนีได้ เพราะนั้นคือหนึ่งใน 4 วัฏจักรที่เกิดขึ้นภายในระบบครอบครัว (Family System) ที่ทุกครอบครัวต้องเผชิญ ประกอบไปด้วย
1. สมาชิกเพิ่มขึ้น Increased Family Member (เกิด แต่งงาน บุตรบุญธรรม การยอมรับ)
2. สมาชิกลดลง Decreased Family Member (เสียชีวิต หย่าร้าง พิพาท)
3. สมาชิกเจ็บป่วย Illness Family Member (โรคภัย อุบัติเหตุ ชราภาพ)
4. สมาชิกรู้สึก Feeling Family Member (ไม่แฟร์ ด้อยค่า โกรธ โกหก)
การเสียชีวิตของสมาชิกครอบครัว ไม่ว่าจะมาจากวัยชรา โรคภัย หรืออุบัติเหตุ นั้นหมายถึงสมาชิกครอบครัวลดลง ซึ่งจะมีผลกระทบต่อระบบธุรกิจ และระบบครอบครัวอย่างในระดับที่แตกต่างกันขึ้นอยู่กับบุคคลนั้นมีอิทธิพลต่อแต่ละระบบอย่างไร การเสียชีวิตของคนในครอบครัวนั้นอาจสร้างกระทบต่อการตัดสินใจของคนในครอบครัวได้อย่างคาดไม่ถึง สมาชิกครอบครัวหลายคนจะอยู่ในอาการเศร้าโศกเสียใจ และอาจจะทำใจไม่ได้กับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจนตัดสินใจผิดๆ ภายในกิจการอันก่อให้เกิดผลเสียของภาพใหญ่ของธุรกิจในท้ายที่สุด เพื่อป้องกันเหตุการณ์อันไม่คาดฝัน การที่ธุรกิจครอบครัวเราทราบแล้วว่าการเสียชีวิตเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ เราจะสามารถวางแผนอย่างไรเพื่อให้ธุรกิจครอบครัวสามารถดำเนินต่อไปได้โดยได้รับผลกระทบน้อยที่สุด รวมไปถึงสร้างผลกระทบต่อระบบครอบครัวให้น้อยที่สุดเมื่อสมาชิกครอบครัวได้จากไป บทความนี้ จะมาบอกแนวทางปฏิบัติเพื่อให้ทุกธุรกิจครอบครัวได้นำไปปฏิบัติอย่างถูกต้อง
การวางแผนล่วงหน้าเหตุการณ์ (Pre-Planning)
1. ทำความเข้าใจกับสมาชิกครอบครัวทุกคน ทุกคนไม่ได้อยู่ค้ำฟ้า
การจัดประชุมเพื่อทำความเข้าใจเกี่ยวกับพลวัตรของครอบครัวนั้นจะทำให้สมาชิกครอบครัวแต่ละคนเข้าใจ และยอมรับในสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคตได้ การจัดประชุมเกี่ยวกับวาระนี้ยังเป็นการสื่อสารภายในครอบครัวว่าพวกเราในฐานะคนในครอบครัวเปิดกว้างที่จะมีการพูดคุยเรื่องดังกล่าวและสมาชิกครอบครัวทุกคนไม่จำเป็นที่จะต้องเก็บความกังวลหรือข้อสงสัยไว้กับตนเอง โดยสามารถสอบถามมายังที่ประชุมหรือสมาชิกครอบครัวคนอื่นๆ ได้หากต้องการ เป็นการสร้างความเข้าใจใหม่ให้กับทุกคนในครอบครัวเพื่อให้เตรียมพร้อมรับกับสถานการณ์ที่ต้องเกิดขึ้นซักวันในอนาคต
สิ่งที่จะต้องทำความเข้าใจกับสมาชิกครอบครัวถัดมาคือเรื่องของการวางแผนสืบทอดกิจการ เพราะหากมีสมาชิกครอบครัวเสียชีวิตการก้าวเข้ามาสานต่อกิจการจากรุ่นถัดไปจำเป็นจะต้องเกิดขึ้นอย่างทันที และสมาชิกรุ่นใหม่จะต้องมีความพร้อมที่จะสร้างอิทธิพลนำธุรกิจครอบครัวได้เฉกเช่นกับที่รุ่นก่อนได้ทำไว้ โดยไม่จำเป็นต้องทำแบบเดียวกัน ดังนั้นการให้ความรู้เกี่ยวกับพลวัตรของครอบครัวควบคู่กับแนวทางการวางแผนสืบทอดกิจการทั้งในมิติของความเป็นเจ้าของ และการบริหารจึงเป็นเรื่องสำคัญที่ควรแจ้งให้กับสมาชิกครอบครัวทุกคนได้ทราบล่วงหน้า เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับสิ่งที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ในธุรกิจครอบครัว
อย่างไรก็ตามสิ่งสำคัญที่สุดคือการสื่อสารให้แก่ทุกคนได้เข้าใจกระบวนการตรงกันเพื่อให้พร้อมสำหรับเหตุการณ์ในอนาคต
2. จัดการล่วงหน้า
การเข้าใจถึงสถานการณ์แต่ไม่ตัดสินใจก็คือการตัดสินใจอย่างหนึ่ง ดังนั้นเมื่อครอบครัวเห็นถึงสัญญานที่อาจเกิดขึ้น ครอบครัวจึงจำเป็นที่จะต้องบริหารจัดการล่วงหน้าเพื่อให้เป็นตามแนวทางที่เหมาะสมที่สุด การจัดการล่วงหน้าเป็นการลดผลกระทบเชิงลบให้เกิดขึ้นน้อยที่สุดอย่างเป็นรูปธรรมที่สุดเนื่องจากสมาชิกครอบครัวยังสามารถร่วมกำหนดทิศทางการบริหารจัดการการจัดสรรได้อย่างถูกต้อง อีกทั้งยังสามารถสื่อสารทำความเข้าใจกับสมาชิกครอบครัวทุกๆ คนได้อย่างชัดเจนลดความขัดแย้งหลังจากที่สมาชิกครอบครัวคนดังกล่าวเสียชีวิตลงไป โดยจะสามารถวางแผนจัดการล่วงหน้าได้ตามแนวทางดังต่อไปนี้
จัดการโครงสร้าง และการสืบทอด
เมื่อเห็นสัญญานภายในสมาชิกครอบครัวที่มีอิทธิพลต่อธุรกิจครอบครัว (เป็นผู้ถือหุ้น และ/หรือเป็นผู้บริหาร) และมีลูกหลานในครอบครัวที่มีศักยภาพเพียงพอในการเติบโต ผู้ใหญ่สามารถจัดการวางโครงสร้างธุรกิจครอบครัวให้เหมาะสมกับโครงสร้างครอบครัวปัจจุบันและอนาคต ไม่ว่าจะเป็นการจัดบทบาทหน้าที่ภายในองค์กร หรือขยายธุรกิจครอบครัวเป็นหลายบริษัท เพื่อให้สมาชิกครอบครัวรุ่นใหม่มีพื้นที่ในการเติบโตเป็นของตนเอง โดยวางโครงสร้างให้มีบริษัทโฮลดิ้งครอบครัวเป็นธุรกิจกงสีกลางเป็นของครอบครัว (กงสีใหม่) เพื่อคงความเป็นธุรกิจครอบครัว โดยมีพื้นที่ให้แต่ละคนได้เป็นเจ้าภาพ สร้างการสืบทอดกิจการโดยไม่ทำให้แต่ละคนต้องมา “เหยียบเท้า” ในที่เดียวกัน
จัดการกฎระเบียบ
สร้างความโปร่งใสภายในกงสี จัดสรรกฎระเบียบครอบครัวผ่านข้อตกลงร่วมของครอบครัวโดยใช้เครื่องมือที่เรียกว่า ธรรมนูญครอบครัว เข้ามากำกับดูแล วางพื้นฐานการตัดสินใจภายในกงสีเกี่ยวกับหลักการการตัดสินใจของครอบครัวที่มีต่อธุรกิจ ความมั่งคั่ง ความเป็นเจ้าของ และความเป็นครอบครัวขึ้น เพื่อให้ทุกคนเข้าใจกฎระเบียบของที่บ้าน ซึ่งผู้ใหญ่ยังสามารถช่วยบรรเทาไกล่เกลี่ยรวมถึงมีกระบวนการสร้างกฎระเบียบให้สำเร็จขึ้นได้ โดยไม่ได้คาดหวังปรากฎการณ์ที่ไม่อาจเกิดขึ้น โดยคาดหวังให้รุ่นลูกหันมาพูดคุยกันภายหลัง ซึ่งหลายเหตุการณ์ส่วนใหญ่จากการให้คำปรึกษาธุรกิจครอบครัวคือ “ส่วนน้อย” ที่รุ่นผู้ใหญ่ไม่ได้จัดการล่วงหน้า และรุ่นลูกจะสามารถพูดคุยกันได้อย่างไม่มีข้อพิพาทที่เป็นนัยยะสำคัญอันกระทบต่อความเป็นไปของธุรกิจครอบครัว
จัดการการให้
หากมองในมุมกฎหมายแล้ว การให้คือการยกทรัพย์สินจากผู้ให้ สู่ผู้รับ ซึ่งการให้สามารถกระทำได้ก็ต่อเมื่อผู้ให้ และผู้รับยังมีชีวิตอยู่ ดังนั้น เมื่อย้อนกลับมามองในมุมของกงสี ธุรกิจครอบครัวการสามารถจัดการให้ล่วงหน้าระหว่างสมาชิกครอบครัวได้ โดยผู้ให้สามารถยกทรัพย์สินให้ได้หลากหลายรูปแบบคือการให้แบบทั้งหมด หรือเป็นการทยอยให้ ซึ่งแต่ละแนวทางมีผลกระทบทางความรู้สึก และเรื่องภาษีอากรที่แตกต่างกันไป การให้ทรัพย์สินแบบทั้งหมดความรู้สึกถึงความเป็นเจ้าของทรัพย์สินดังกล่าว (หุ้น ความมั่งคั่ง) ก็จะเพิ่มพูนขึ้นเป็นอย่างมาก หากผู้รับเป็นคนที่มีวุฒิภาวะและสามารถบริหารจัดการทรัพย์สินได้อย่างชาญฉลาดผู้ให้ก็สามารถพิจารณาใช้วิธีนี้ได้ แต่ในทางกฎหมายแล้ว หากผู้รับเป็นบุพการี ผู้สืบสันดาน หรือคู่สมรส การให้นั้นก็สามารถทำได้ในมูลค่าไม่เกิน 20 ล้านต่อปี / ผู้รับ ซึ่งหากมูลส่วนเกินจากนั้นก็จะได้เสียภาษีการให้ในอัตรา 5% จากมูลค่าส่วนเกินตรงนั้นไป ผู้ใหญ่ในบางครอบครัวอาจยอมรับได้ในเงื่อนไขทางกฎหมายภาษีอากรเพียงเพราะอยากวางมือ ซึ่งทางผู้รับก็จะต้องมีภาระหน้าที่ไปชำระภาษีการให้อีกครั้งหนึ่ง แต่หากให้แบบทยอยให้ก็จะเป็นการชะลอความมั่งคั่ง ทยอยการเปลี่ยนผ่านความเป็นเจ้าของ อาจมีความรู้สึกไม่รวดเร็วในสายตาของผู้ให้และผู้รับ แต่ก็สามารถบริหารจัดการภาษีอากรให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด
3. จัดทำเอกสารเตรียมพร้อมเมื่อจากไป ปรับปรุงเป็นระยะ
เมื่อชีวิตของแต่ละคนไม่แน่นอน และเป็นวัฏจักรที่ต้องเป็นไป สมาชิกครอบครัวก็สามารถวางแผนประกันชีวิตของตนเองเพื่อสร้างสิทธิประโยชน์พร้อมความมั่งคั่งต่างๆ แก่ผู้ได้รับประโยชน์ (Beneficiary) ของแต่ละกรมธรรม์ประกัน ในหลายครอบครัวที่ได้มีโอกาสให้คำปรึกษา ครอบครัวก็อาจรวมประกันชีวิตเป็นหนึ่งในสวัสดิการครอบครัวตามธรรมนูญครอบครัวซึ่งจะต้องมีการจัดทำภายในครอบครัวเมื่อสมาชิกครอบครัวถึงช่วงอายุหนึ่งเพื่อสร้างหลักประกันในเรื่องความมั่งคั่ง การลงทุน และสิทธิประโยชน์ที่ผู้ให้จะมอบให้แก่ลูกหลานในอนาคต หากการลงทุนภายในประกันภัยนั้นสามารถปรับเปลี่ยนรู้แบบการลงทุน ผู้จัดทำประกันก็ควรปรับปรุงการลงทุนอย่างเป็นระยะเพื่อสร้างผลกำไร ผลตอบแทนให้มากที่สุดเพื่อความมั่งคั่งของรุ่นถัดไป
อีกกรณีหนึ่งที่สามารถเตรียมตัวไว้ล่วงหน้าคือการจัดทำพินัยกรรม (Personal Will) เพื่อกำหนดการจัดสรรทรัพย์สินหลังจากเสียชีวิตลงไป โดยผู้ใหญ่สามารถเตรียมการนำเอาทรัพย์สินส่วนตัวมาจัดสรรให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของเจ้าพินัยกรรม ทั้งนี้ การจัดสรรพินัยกรรมจะต้องคำนึงถึงหลังภาษีอากรที่เกี่ยวข้องกับภาษีมรดก โดยภาษีมรดกจะคำนวณจาก 4 ทรัพย์สินดังต่อไปนี้ 1. อสังหาริมทรัพย์ (ที่ดิน อาคาร เป็นต้น) 2. หลักทรัพย์ต่างๆ กับสถาบันหลักทรัพย์ (หุ้น กองทุน เป็นต้น) 3. เงินฝากจากสถาบันการเงิน และ 4. ทรัพย์สินที่มีทะเบียนอื่นใด (ยานพาหนะ เพรช ทอง เป็นต้น) โดยทรัพย์สินดังกล่าวจะถูกรวมคำนวนเป็นมูลค่าของกองมรดกแบบจัดสรรให้กับทายาททางพินัยกรรมโดยมูลค่าของมรดก 100 ล้านบาท จะถูกยกเว้น แต่ส่วนเกินของมูลค่าจะต้องมีภาระภาษีในอัตรา 5% จากมูลค่าส่วนเกินตรงนั้น โดยหลายธุรกิจครอบครัวส่วนใหญ่จะใช้กระบวนการการให้ผสมผสานกับการจัดทำพินัยกรรมเพื่อสร้างประโยชน์สูงสุดทางภาษี ทั้งนี้ หากผู้ทำมรดกจะต้องทำการประเมินบริบทธุรกิจครอบครัวเป็นระยะ โดยจะต้องนำเอามรดกตนเองมาปรับปรุงให้เหมาะสมกับสถานะปัจจุบันของกงสีเพื่อให้มรดกของตนเองนั้นเป็นไปตามเจตนารมณ์มากที่สุด
การปฏิบัติตนภายหลังเหตุการณ์ (Post-Execution)
1. เรียกประชุมครอบครัว
หลังจากที่มีสมาชิกครอบครัวได้จากไปแล้ว ครอบครัวควรเรียกประชุมครอบครัวเพื่อแจ้งทุกคนให้ทราบถึงสถานการณ์ รวมถึงสื่อสารแนวทางที่ครอบครัวจะดำเนินการต่อ พร้อมทั้งสนับสนุนเป็นกำลังใจให้กับครอบครัวผู้ล่วงลับไปซึ่งจะแสดงถึงความเป็นอนึ่งอันเดียวกันภายในครอบครัว สร้างขวัญกำลังใจให้กับครอบครัวที่ได้รับผลกระทบโดยตรง และเป็นการสื่อสารให้กับทุกคนในครอบครัวทราบว่ากงสีพร้อมจะสนับสนุนในด้านต่างๆ หากต้องการ
โดยในด้านธุรกิจก็ให้จัดการในด้านการปรับเปลี่ยนสัดส่วนผู้ถือหุ้น (ตามพินัยกรรม หรือตามข้อตกลงของทายาทโดยธรรม) และให้ผู้สืบทอดกิจการก้าวขึ้นมารับช่วงต่อเพื่อไม่ให้ธุรกิจครอบครัวได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ดังกล่าว
2. จัดการตามพินัยกรรม และประกัน
ผู้จัดการมรดกดำเนินการจัดการตามเจตนารมณ์ของพินัยกรรมโดยจะต้องจัดสรรทรัพย์มรดกให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของพินัยกรรมอย่างชัดเจน ทั้งนี้ หากมีทรัพย์สินอื่นใดที่ไม่ได้ระบุไว้ในพินัยกรรม ก็ให้ทายาทโดยธรรมพูดคุยจัดสรรอย่างเหมาะสมอีกครั้งหนึ่ง หรืออาจใช้ที่ปรึกษาเข้ามาช่วยสนับสนุนด้านความคิดเพื่อให้ได้ข้อสรุปและจัดสรรทรัพย์มรดกต่อไป
เช่นเดียวกันกับพินัยกรรมผู้รับผิดชอบ (ผู้รับประโยชน์) ในการรับเงินประกันจะต้องไปดำเนินการขอสินไหม (เรียกว่าเอกสารเรียกร้องสินไหม) เพื่อรับประโยชน์ในประกันต่างๆ ที่ผู้ทำประกันได้จัดทำไว้
หากกล่าวโดยสรุป
การวางแผนบริหารจัดการภายในกงสี เมื่อสมาชิกครอบครัวเสียชีวิตไม่ใช่เป็นการแช่งให้ใครมีอันเป็นไป แต่เพื่อประโยชน์สูงสุดของกงสี สมาชิกครอบครัวทุกคนควรพิจารณาว่าทรัพย์สินที่ตนเองได้รับมานั้นส่วนหนึ่งล้วนแล้วมาจากต้นทุนของธุรกิจครอบครัวที่สร้างไว้ให้ และหน้าที่ของสมาชิกครอบครัวที่เกี่ยวข้องทุกคนก็คือการสานต่อมรดกตกทอดจากรุ่นสู่รุ่น เพราะแม้เหตุการณ์ดังกล่าว (การเสียชีวิต) อาจไม่เป็นปรากฎการณ์ที่ทุกคนอยากให้เกิด แต่มันคือสิ่งที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ ดังนั้น ครอบครัวควรพูดคุยกันอย่างเปิดเผย วางแผนอย่างถูกต้อง ชัดเจนโปร่งใส และสื่อสารกับทุกคนให้เข้าใจถึงแผนการรวมถึงกฎระเบียนที่ครอบครัววางไว้เพื่อให้ทุกคนพร้อมสำหรับสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นไม่ช้าก็เร็วภายในธุรกิจครอบครัวของเรา