แนวทางการดูแลลูกหม้อกงสี ในวันที่ธุรกิจครอบครัวต้องเติบโต

ธุรกิจครอบครัว (กงสี) ที่อยู่มานาน มักมีพนักงานที่อยู่คู่ธุรกิจ ช่วยเหลือธุรกิจยามลำบาก ช่วยธุรกิจครอบครัวมาได้ถึงวันนี้ ซึ่งเรียกได้ว่าเค้าเป็น “ลูกหม้อ” ของธุรกิจครอบครัว

เมื่อเวลาเปลี่ยนแปลง กงสีเราก็ต้องเปลี่ยนตาม ความรู้ความสามารถรวมถึง “พนักงาน” ที่เหมาะสมกับการพัฒนาธุรกิจครอบครัวก็ย่อมเปลี่ยนไป ซึ่งเกินความสามารถของลูกหม้อไป

เมื่ออนาคตสร้างจากพื้นฐานของอดีตการบริหารจัดการลูกหม้อ จึงเป็นเรื่องลำบากใจให้กับหลายครอบครัวเสมอมา...

และด้วยเหตุนี้ ธุรกิจครอบครัวของเราจะมี “วิธีดูแลลูกหม้อกงสีอย่างไร ในวันที่ธุรกิจต้องเติบโต” อย่างเหมาะสม?

วิธีที่ 1: การขึ้นตำแหน่ง

การขึ้นตำแหน่งลูกหม้อกงสีคือสิ่งที่หลายธุรกิจครอบครัว (“ธุรกิจฯ”) มักทำ เนื่องจาก “วัยวุฒิ” ที่เหมาะสม มีประสบการณ์พร้อมในการเป็นหัวหน้า

เพียงแต่ การเป็นหัวหน้าที่มีแค่วัยวุฒิในวันที่ต้องเติบโตคงไม่เพียงพอ คุณวุฒิที่เกี่ยวข้องทั้งองค์ความรู้ ทันต่อตลาด การรับฟัง ฯลฯ เป็นสิ่งสำคัญไม่แพ้กัน

ด้วยเหตุนี้ การขึ้นตำแหน่งลูกหม้อกงสีแม้คุณวุฒิไม่เอื้อเพียงเพราะ “เกรงใจ”เพราะเป็นคนเก่าแก่ในธุรกิจฯ ก็ไม่ใช่การจัดโครงสร้างที่เอื้อต่อการเติบโต และไม่ได้สร้างความเป็นมืออาชีพ และไม่ได้สร้างแรงจูงใจภายในครอบครัว

ดังนั้น หากลูกหม้อกงสีมีคุณวุฒิ และวัยวุฒิที่เหมาะในการเติบโตของธุรกิจ การขึ้นตำแหน่งก็เป็นทางออกที่ใช่สำหรับกงสีของเรา


วิธีที่ 2: การเพิ่มบทบาท หน้าที่

การเพิ่มบทบาท หน้าที่ให้กับลูกหม้อกงสีเป็นวิธีในการขยายขีดความสามารถให้ลูกหม้อต่าง ๆ สามารถทันต่อการเติบโตและมีศักยภาพในการผลักดันธุรกิจฯ ได้

เพียงแต่ หน้าที่ที่เพิ่มขึ้นจะต้องเกี่ยวข้องในเนื้องานที่ลูกหม้อเชี่ยวชาญ หรือมีศักยภาพในการเติบโตต่อไปได้ ไม่ใช่เป็นการ “อัดงาน” เพิ่มขึ้นโดยไม่ได้วางแผน

ด้วยเหตุนี้ เมื่อธุรกิจต้องเติบโต การมอบหมายหน้าที่ใหม่กับลูกหม้อกงสี (Contribution) การกำหนดค่าตอบแทน (Compensation) ใหม่ก็ควรที่จะพิจารณาด้วยเช่นเดียวกัน


วิธีที่ 3: คงตำแหน่ง คงหน้าที่

การคงตำแหน่ง คงบทบาท หน้าที่แก่ลูกหม้อกงสีเป็นวิธีที่ทำได้ หากลูกหม้อคนนั้นมีทักษะเฉพาะทาง หรือมีคุณค่าทางจิตใจแก่ธุรกิจฯ หรือในครอบครัว

เพียงแต่ การคงตำแหน่ง หน้าที่มักเป็นวิธีที่ใช้อย่างผิด ๆ เพียงเพราะครอบครัว “เกรงใจ” ไม่กล้าตัดสินใจอย่างเด็ดขาดเมื่อธุรกิจต้องเติบโต จึงใช้วิธีนี้ในการจัดการลูกหม้อกงสี ซึ่งทำให้เกิดผลเสียทั้งมุมครอบครัว และธุรกิจฯ

ด้วยเหตุนี้ การคงตำแหน่ง คงหน้าที่ให้กับลูกหม้อกงสี จะต้องไม่ขัดต่อการเติบโตของธุรกิจฯ ไม่ขัดการเติบโตของพนักงาน ไม่ได้สร้างวัฒนธรรมที่ไม่ดี และไม่ได้ลดหน้าที่ โดยมีผลตอบแทนเดิม

ดังนั้น ครอบครัวต้องคิดอย่างละเอียดก่อนจะใช้วิธีนี้ในการดูแลลูกหม้อกงสี


วิธีที่ 4: Unskill Reskill Upskill

การลบสิ่งที่รู้เดิม เพื่อนำสิ่งใหม่มาแทน (ปรับทักษะ) ถือว่าเป็นเรื่องที่ยากที่สุด โดยเฉพาะลูกหม้อกงสีที่เห็นความสำเร็จเดิมมาอย่างยาวนาน (Status Quo) ไม่ต่างจากสมาชิกครอบครัวเช่นเดียวกัน

เพียงแต่ การปรับทักษะที่เพื่อผนวกกับประสบการณ์ ความซื่อสัตย์ที่เป็นเหมือนจุดเด่นของลูกหม้อกงสีจะเป็นการสร้างกำลังสำคัญสำหรับธุรกิจฯ ที่กำลังเติบโต

ด้วยเหตุนี้ ลูกหม้อแต่ละคนจึงต้องมีการปรับทักษะที่แตกต่างกันออกไป หรือหากมีลูกหม้อคนไหนไม่พร้อมที่จะปรับทักษะ การใช้วิธีอื่นจึงเป็นทางออกที่ดีกว่า

ดังนั้น หากลูกหม้อกงสีคนไหนควรค่า และพร้อมแก่การปรับทักษะ นั้นก็ควรค่าแก่การลงทุน และใช้วิธีนี้ นั้นก็เหมือนกับการได้พนักงานที่เก่ง และซื่อสัตย์มาในธุรกิจฯ ซึ่งไม่ใช่เรื่องที่จะหากันได้ง่าย ๆ


วิธีที่ 5: ปรับเปลี่ยนตำแหน่ง

ธุรกิจครอบครัวสามารถปรับเปลี่ยนตำแหน่ง เปลี่ยนบทบาท หน้าที่ที่ลูกหม้อกงสีได้ทำงานอยู่เพื่อมอบหมายหน้าที่ให้ตรงตามประสบการณ์ ความสามารถ หรือนำจุดเด่นของแต่ละคนมาใช้ในมุมที่แตกต่างออกไป

การปรับเปลี่ยนตำแหน่ง “ไม่ใช่การลดคุณค่า” ของลูกหม้อกงสี เพียงแต่ต้องดำเนินตามขั้นตอนกฎหมาย และสื่อสารอย่างถูกต้อง เพราะหากไม่ได้ทำตามขั้นตอนที่ถูกต้องการปรับเปลี่ยนตำแหน่งก็อาจทำให้ผิดใจกัน ผลกระทบต่อความสัมพันธ์ที่มีมาอย่างยาวนาน และ/หรือ ฟ้องร้องกันในอนาคต

ด้วยเหตุนี้ การปรับเปลี่ยนตำแหน่งก็จะเป็นเครื่องมือที่ทรงพลังในการดูแลลูกหม้อกงสี สร้างคุณค่าในวันที่ธุรกิจต้องเติบโต และสร้างให้ธุรกิจครอบครัวมืออาชีพในอนาคต


วิธีที่ 6: ปรับเปลี่ยนบริษัท

ธุรกิจครอบครัวสามารถมีได้หลายบริษัท ขึ้นอยู่กับทิศทาง และโมเดลธุรกิจที่ครอบครัวได้วางไว้ และการปรับเปลี่ยนบริษัทให้กับลูกหม้อกงสีก็เป็นอีกวิธีในการดูแลลูกหม้อกงสีเช่นกัน

เพียงแต่ การปรับเปลี่ยนบริษัทให้กับลูกหม้อกงสีจะต้องมีจุดประสงค์ว่าลูกหม้อจะสามารถให้คุณค่า หรือผลักดันอะไรจากบริษัทใหม่ได้?

ครอบครัวหนึ่ง นำลูกหม้อกงสีมาช่วยงานบริษัทใหม่ ในการตรวจสอบระบบเครื่องจักรให้กับธุรกิจเดิมที่เป็นโรงงานซึ่งลูกหม้อคนนี้รู้ถึงระบบการทำงาน และเครื่องจักรเป็นอย่างดี จึงสามารถทำงานนี้ได้ดีกว่าคนอื่น ๆ

ดังนั้น การปรับเปลี่ยนบริษัทอาจเป็นการสร้างคุณค่า และบทบาทใหม่ให้กับลูกหม้อกงสีในวันที่ธุรกิจต้องเติบโตได้อย่างคาดไม่ถึง


วิธีที่ 7: เป็นที่ปรึกษา

ในวันที่ธุรกิจต้องเติบโต ในลักษณะที่เกินกว่าความสามารถของลูกหม้อกงสี แต่เมื่อประสบการณ์นั้นเป็นคำสอนที่สำคัญ ลูกหม้อกงสีสามารถปรับตัว และเป็นที่ปรึกษา แก่คนรุ่นใหม่ได้อย่างดี

การปรับตัวเป็นที่ปรึกษาให้กับลูกหม้อกงสียังเป็นอีกหนึ่งวิธีในการปรับโครงสร้างธุรกิจครอบครัวให้เป็นมืออาชีพ โดยยังนำคุณค่าของลูกหม้อกงสีมาสนับสนุนการเติบโต การวางแผนการสืบทอดของธุรกิจครอบครัวอย่างมีประสิทธิภาพ

ด้วยเหตุนี้ การวางหมากใหม่ในวันที่ธุรกิจต้องเติบโต ให้ลูกหม้อกงสีเปลี่ยนจากคนลงมือกลายมาเป็นที่ปรึกษา เป็นพี่เลี้ยงใหม่กับลูกหลาน คนรุ่นใหม่

ก็เป็นวิธีผสมผสานคุณค่าของลูกหม้อ และศักยภาพของคนรุ่นใหม่ได้อย่างลงตัว


วิธีที่ 8: Early Retire

เมื่อธุรกิจกำลังเติบโต การ “ถ่ายเลือด” ย่อมเกิดขึ้น พนักงานใหม่เข้ามาแทนที่พนักงานเดิม ลูกหม้อกงสีที่เคยทำงานก็อาจกระทบได้ตามแผนปรับโครงสร้าง

เพียงแต่ การใช้วิธี Early Retire จะต้องพิจารณาจากครอบครัวอย่างรอบคอบ เนื่องจากลูกหม้อกงสีมีคุณค่า และศักยภาพในเรื่องที่พนักงานใหม่อาจไม่มี นั้นก็คือความซื่อสัตย์ และประสบการณ์

ทั้งนี้ หากครอบครัว และผู้บริหารเห็นตรงกันว่า Early Retire เป็นวิธีในการดูแลลูกหม้อกงสี การสื่อสารภายในครอบครัว และธุรกิจจะต้องเข้มข้นเพื่อสร้างความชัดเจนในการตัดสินใจ

ดังนั้น การ Early Retire เป็นอีกวิธีที่จะดูแลลูกหม้อกงสี หากธุรกิจต้องการที่จะถ่ายเลือดสู่คนรุ่นใหม่ แต่ต้องได้รับการพิจารณาอย่างถี่ถ้วนโดยครอบครัว


วิธีที่ 9: Early Retire และดูแลต่อ

การที่ลูกหม้อกงสีได้ Early Retire ไม่ได้แปลว่าสวามสัมพันธ์จะถูกตัดขาด ครอบครัวสามารถตกลงได้ว่าครอบครัวจะดูแลเค้า หรือให้เค้าดูแลต่อได้

ในกรณีแรก ครอบครัวก็สามารถดูแลลูกหม้อกงสีด้วยเงินครอบครัวเป็นการตอบแทนสำหรับการทำงานที่ผ่านมา ทั้งนี้ ต้องกำหนดระยะเวลา และเงื่อนไขอย่างชัดเจนเพื่อไม่ให้เข้าใจผิดในอนาคต

ในกรณีที่สอง ครอบครัวสามารถให้ลูกหม้อกงสีเปลี่ยนมาเป็นคนดูแลฝั่งครอบครัวหรือเรียกว่า Family Office ได้เนื่องจากความเชื่อใจ และความซื่อสัตย์ที่ลูกหม้อได้มอบให้กับครอบครัว

ดังนั้น การ Early Retire และดูแลต่อถือเป็นอีกวิธีที่สามารถดูแลลูกหม้อกงสีอย่างมีกลยุทธ์ และสร้างคุณค่าระหว่างกันได้ในอนาคต


ด้วยกงสีของเราเป็นการทำงานระหว่าง “ธุรกิจ” และ “ครอบครัว” จึงมีการผสมระหว่าง “การเติบโต” และ “ความสัมพันธ์” ดังนั้น ความสัมพันธ์นี้จะต้องตั้งอยู่ และไม่ดับไปตามกาลเวลา เช่นเดียวกันกับการดูแลลูกหม้อกงสี ที่เคยช่วยเหลือธุรกิจครอบครัวของเรามาตั้งแต่แรก ผ่านร้อนผ่านหนาว ผ่านช่วงรุ่งโรจน์ และช่วงอิ่มตัว จนปัจจุบันถึงเวลาในช่วง “เปลี่ยนผ่าน” ที่เป็นวัฐจักรของทุกธุรกิจ

ครอบครัวเราจึงจะต้องเลือกวิธีดูแลลูกหม้อกงสีใหม่เหมาะสมตามความสามารถ ประสบการณ์ และมุมมองที่เขามีเพื่อสร้างคุณค่า คงความสัมพันธ์ และดูแลลูกหม้อกงสีตามสมดุลที่ธุรกิจครอบครัวควรจะมีเพื่อการเติบโตที่ยั่งยืน และการส่งต่อธุรกิจครอบครัวจากรุ่นสู่รุ่นในอนาคต

Previous
Previous

EP3. 8 สัญญาณอันตรายภายในธุรกิจครอบครัว

Next
Next

เรื่องภายในครอบครัวอะไรที่กระทบต่อธุรกิจครอบครัว?