Owner Strategy กลยุทธ์เจ้าของอาวุธลับที่หลายกงสีมองข้าม

   คำถามท้าทายแต่ชวนธุรกิจครอบครัวคิด Challenging Question เมื่อต้องคำนึงถึงความอยู่รอด การต่อยอดของธุรกิจครอบครัว ซึ่งไม่ใช่เรื่องกลยุทธ์การสร้างยอดขาย (Sales Strategy) ไม่ใช่กลยุทธ์ชูสินค้า (Marketing Strategy) ไม่ใช่กลยุทธ์ลดต้นทุนปรับปรุงระบบภายใน (Financial & Operation Strategy) ซึ่งล้วนแล้วเป็นหน้าที่ของผู้บริหารที่ครอบครัวมีบทบาทหน้าที่ดังกล่าว (Management Role) ต้องดูแล แต่ครอบครัวยังมีหมวกอีกใบคือหมวกของความเป็นเจ้าของ (Owner Role) ซึ่งคือผู้ถือหุ้น ผู้กำหนดนโยบายความเป็นไปของกิจการผ่านการขยายทุน มีผู้ร่วมทุน เข้าตลาดหลักทรัพย์ เพิ่มลดกรรมการ หรือแม้กระทั่งออกจากธุรกิจไป (Exit Plan) ทั้งหมดล้วนแล้วผ่านการวิเคราะห์และตัดสินใจจากความเป็นเจ้าของ ไม่ใช่การบริหารแต่อย่างใด แม้หมวกนี้จะสำคัญขนาดไหนแต่หลายธุรกิจครอบครัวกลับไม่ได้ให้ความสำคัญในการกำหนดแผนภายในเจ้าของด้วยกัน

   การละเลยไม่กำหนดกลยุทธ์เจ้าของ (Owner Strategy) ดูเผินๆ เหมือนไม่จำเป็นและไม่เกิดผลอะไรต่อการดำเนินกิจการของกลุ่ม แต่ธุรกิจครอบครัวไม่ได้มีเพียงการดำเนินกลยุทธ์เพียงระยะสั้น แต่ต้องวางแผนระยะยาว ทั้งเรื่องการทำงาน การคงความมั่งคั่ง รวมถึงส่งต่อความมั่งคั่งแก่รุ่นถัดไป นั้นหมายถึง กลยุทธ์จากรุ่นสู่รุ่น (Generational Strategy)

   เมื่อธุรกิจครอบครัวกำลังกำหนดกลยุทธ์เจ้าของ ผู้ถือหุ้นทุกคนที่เป็นครอบครัวจะต้องเข้ามาร่วมวางแผนโดนหนึ่งในคำถามที่ต้องตอบให้ได้ก็คือ “ธุรกิจครอบครัวแบบไหนที่ลูกหลานอยากเข้ามาสานต่อ มีส่วนร่วม?” คำถามปลายเปิดที่มีนัยยะแฝงอยากมากมายเพื่อสร้างตัวตนของกิจการเราให้ชัดเจนยิ่งขึ้น ซึ่งจะได้คำตอบที่หลากหลายในแต่ละธุรกิจ บางครอบครัวอาจบอกได้ว่าอยากให้ธุรกิจเป็นมืออาชีพมากขึ้น บ้างก็อยากให้ธุรกิจเป็นที่สำหรับสมาชิกครอบครัวทุกคน หรือแม้กระทั้งเป็นที่สร้างความมั่งคั่งให้กับครอบครัว จุดมุ่งหมายที่แตกต่างย่อมต้องวางกลยุทธ์การบริหารที่แตกต่างกัน ด้วยเหตุนี้เอง การกำหนด Ownership Strategy จึงมีความสำคัญเป็นอย่างมากเพราะมันคือนโยบายกลาง เป็นการกำหนดทิศให้กิจการของเรารู้ว่าควรจะดำเนินไปในทิศทางไหนต่อ

   หากอยากเป็นมืออาชีพ กงสีจะต้องสลัดคราบของผู้บริหารครอบครัวออกเหลือไว้ซึ่งความเป็นผู้บริหารในองค์กรที่ทำงานร่วมกัน ขจัดความรู้สึกทับซ้อนระหว่างครอบครัวทิ้ง เปิดกว้างในการรับมืออาชีพ พนักงานที่มีความสามารถเข้ามาบริหารและให้ความเห็น กำหนดกลยุทธ์เชิงการบริหารมากขึ้น รวมไปถึงด้านการเงินและบัญชีที่จะต้องลดการพึ่งพาระบบสองบัญชีเพื่อสะท้อนมูลค่าที่แท้จริงของกิจการรองรับการเติบโตอย่างเป็นมืออาชีพ หรือในทางกลับกันถ้ากลยุทธ์ของเจ้าของนั้นอยากสร้างธุรกิจให้มีความมั่งคั่งแก่ครอบครัวการบริหารกำไรสะสมในบัญชีจะต้องมีสูงขึ้น ซึ่งจะต้องทำการปันผลสู่ผู้ถือหุ้นอย่างเป็นประจำเพื่อสร้างความมั่งคั่งที่ถูกต้องภายในกงสี

   การกำหนด Owner Strategy ยังมีความสำคัญในฝั่งของครอบครัวนั้นก็คือการกำหนดค่านิยมครอบครัว หลายธุรกิจครอบครัวที่ประสบความสำเร็จได้กำหนดแนวทางการอยู่ร่วมกันของครอบครัว หรือกล่าวได้คือค่านิยมครอบครัวเพื่อใช้เป็นสารตั้งต้นการพูดคุย และบริหารครอบครัวในอนาคต หากความเป็นมืออาชีพคือคำตอบของ Owner Strategy รูปแบบการประชุมครอบครัวก็จะต้องสอดคล้องตามไปกับกลยุทธ์นั้น การประชุมครอบครัวจะต้องถูกจัดขึ้นโดยมีกระบวนการที่แบ่งแยกเรื่องประชุมที่ชัดเจน (สามารถดูวิธีการสร้างกระบวนการประชุมได้ที่ https://www.aunyanuphap-consulting.com/article/fbrightcommunicationchannel) หรือการพัฒนาสมาชิกครอบครัวให้เข้าใจถึงบทบาท หน้าที่ที่แตกต่างระหว่างผู้ถือหุ้น กรรมการ และผู้บริหาร การบริหารครอบครัว รวมไปถึงให้สมาชิกครอบครัวเข้าใจถึงประวัติความเป็นมาของกงสี วิสัยทัศน์ที่ต้องการจะเดินหน้าต่อ และกฎเกณฑ์ต่างๆ ที่ครอบครัวมีเพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจที่เหมาะสม


Owner Strategy เป็นจิ๊กซอว์ที่ขาดหายของหลายธุรกิจครอบครัวที่กำลังหลงทางเพียงเพราะวางกลยุทธ์เพื่อบริหารธุรกิจเท่านั้น แต่ในธุรกิจครอบครัวที่ต้องวางกลยุทธ์แบบ Generation Strategy แล้วนั้น กลยุทธ์เจ้าของเป็นสิ่งที่ต้องพูดคุยกัน หาข้อตกลงว่าครอบครัวในฐานะเจ้าของ “ธุรกิจครอบครัวแบบไหนที่ลูกหลานอยากเข้ามาสานต่อ มีส่วนร่วม?” หากมีกลยุทธ์ร่วมกันแล้วนั้นการดำเนินกลยุทธ์ทางธุรกิจ และกลยุทธ์ครอบครัวเพื่อสนับสนุน Owner Strategy ก็จะสามารถดำเนินการได้โดยไร้การทะเลาะพิพาทภายในครอบครัว มีการสื่อสารที่มีจุดมุ่งหมายเดียวกัน สร้างความปรองดอง และทำให้ลูกหลานอยากเข้ามาสานต่อมีส่วนร่วมจากผลพวงของการช่วยเหลือกันภายในครอบครัวและสร้างความมั่งคั่งสืบต่อไปได้จากรุ่นสู่รุ่น

Previous
Previous

4 เหตุผล ประชุมล่มเมื่อต้องประชุมกับคนในครอบครัว

Next
Next

Success Factor ธุรกิจครอบครัวคืออะไร? GST#5