มีธรรมนูญครอบครัว…แต่จะใช้งานอย่างไร? สำหรับครอบครัวมือใหม่

การจัดทำธรรมนูญครอบครัวภายในครอบครัวเพื่อวางกฎเกณฑ์ในการบริหารธุรกิจครอบครัว และดูแลครอบครัวด้วยกันเป็นสิ่งที่หลายครอบครัวที่มองเห็นถึงการสื่อสารภายในครอบครัวเพื่อวางแผนพัฒนาธุรกิจครอบครัว และสืบทอดธุรกิจครอบครัวไปสู่รุ่นลูก รุ่นหลานเริ่มที่จะให้ความสำคัญ และจัดทำมากขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญ

การจัดทำธรรมนูญครอบครัวมักมาควบคู่กับการมีกลุ่มคนในครอบครัวถูกแต่งตั้งมาเพื่อกำกับดูแลเรื่องต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นภายใน “กงสี” ซึ่งกลุ่มคนดังกล่าว หากใช้เป็นคำพูดติดหูก็มักถูกเรียกว่าเป็น “สภาครอบครัว” ซึ่งส่วนใหญ่แล้วจะเป็นผู้ใหญ่ ผู้อาวุโส หรือผู้ที่ได้รับการยอมรับในครอบครัวในการร่วมตัดสินใจเพื่อประโยชน์สูงสุดของกงสี


แต่การที่ครอบครัวพึ่งจัดทำธรรมนูญครอบครัวขึ้น แต่งตั้งสภาครอบครัวเป็นคนดำเนินกิจต่าง ๆ ในกงสีมักเจอกับปัญหา “ใช้งานไม่เป็น” ไม่รู้ว่าหลังจากที่มีธรรมนูญครอบครัว มีสภาครอบครัวแล้ว จะต้องทำอย่างไรต่อ แม้ในธรรมนูญครอบครัวอาจเขียนถึงบทบาท หน้าที่ของสภาครอบครัว แต่ในการเริ่มจัดการเรื่องต่าง ๆ ในธรรมนูญครอบครัวเป็นสิ่งที่หลายครอบครัวได้ตั้งคำถามถึงแนวทางที่ควรจะเป็น และไม่รู้ว่าจะต้องมีการนับ 1 หลังมีธรรมนูญครอบครัวอย่างไร…

ปัญหาที่เกิดขึ้นมักจะชัดเจนเป็นอย่างมากกับครอบครัวที่จำนวนสมาชิกไม่ใหญ่มาก จำนวนธุรกิจในกลุ่มธุรกิจครอบครัวมีไม่เยอะ หรือหากเป็นครอบครัวที่ขนาดใหญ่ หรือจำนวนธุรกิจเยอะก็ใช่ว่าจะรอดพ้นจากปัญหานี้ไปซะทีเดียว ความรู้สึกสับสนจากความซ้ำซ้อนในการประชุม ความยุ่งยากในการจัดการ การไม่รู้ถึงทางเลือกที่เหมาะสมในการตัดสินใจก็จะเกิดขึ้น และในท้ายที่สุดจากธรรมนูญครอบครัวที่ครอบครัวคาดหวังว่าจะเข้ามาช่วยสร้างความชัดเจน กลับกลายมาเป็นภาระเพิ่มเติมที่ครอบครัวรู้สึกว่ายุ่งยากจนหลายครอบครัวถอดใจ ตัดสินใจเก็บธรรมนูญครอบครัวเข้ากรุ พับแผนที่สร้างกันมา และกลับไปเป็นเหมือนเดิม...

จากประสบการณ์การให้คำปรึกษาหลายธุรกิจครอบครัวในช่วยบริหารธรรมนูญครอบครัวหลังจัดทำเสร็จ ประเด็นติดขัดที่หลายครอบครัวเผชิญไม่ใช่เรื่องของการรู้ว่าต้องแก้ไขเรื่องไหนแต่เป็น “ควรเริ่มต้นเรื่องไหน” และ “ควรเริ่มต้นอย่างไรให้แตกต่าง” เนื่องจากการเริ่มต้นธรรมนูญครอบครัวต่าง ๆ คือการประชุมสภาครอบครัวเพื่อจัดแจงรายละเอียดในการดำเนินการต่อ แต่หลายครอบครัวมักเกิดความสับสนว่าการประชุมสภาครอบครัว “จะแตกต่างอย่างไรกับการประชุมเดิม ๆ ที่ครอบครัวเคยมีมา” เพราะปกติครอบครัวก็ประชุมในเรื่องต่าง ๆ เป็นประจำอยู่แล้ว?


ด้วยหลากหลายความสงสัย และความสับสนจากความพยายามผลักดันธรรมาภิบาลจากธรรมนูญครอบครัวที่เกิดขึ้น จากประสบการณ์ที่ผ่านมา แนวทางที่เหมาะสมในการบริหารธรรมาภิบาลคือการบริหารความเป็นครอบครัว ความมั่งคั่ง และความมั่นคงตามแนวทางของ “หน่วยบริหารครอบครัว” (Family Management Unit (“FaMU”)) อย่างไรก็ดี ครอบครัวสามารถเริ่มต้นจากแนวทางการบริหารครอบครัวได้ดังนี้

1.ธรรมนูญครอบครัว ความเป็นครอบครัวคือกุญแจสำคัญ

หัวใจของการจัดทำธรรมนูญครอบครัวคือการคงความเป็นธุรกิจครอบครัวไว้โดยยังสามารถคงความปรองดอง ความไว้เนื้อเชื่อใจในครอบครัวได้อย่างดี หลายธุรกิจครอบครัวมักมุ่งเน้นไปที่ความสำเร็จของธุรกิจมากเกินจนลืมนึกถึงความเป็นครอบครัวซึ่งเป็นปัจจัยในการสร้างสมดุล และการสร้างความรู้สึกเป็นเจ้าของ และอยากสานต่อธุรกิจครอบครัวต่อไปไปในอนาคต การสร้างความเป็นครอบครัวไม่ใช่แค่การจัดสวัสดิการครอบครัวอย่างที่หลายคนเข้าใจ แต่การสร้างความเป็นครอบครัวคือการสร้างความรู้สึกถึงการเป็นเจ้าของร่วมที่สนับสนุนการเติบโตของธุรกิจครอบครัว สร้างค่านิยมครอบครัว การตั้งกฎเกณฑ์ในการทำงาน และมีส่วนร่วมในฐานะเจ้าของหรือพนักงานในธุรกิจครอบครัว ซึ่งอาจรวมไปถึงบทลงโทษภายในครอบครัวหากสมาชิกครอบครัวมีความผิดใด ๆ ที่เกิดขึ้นจากการออกแบบกฎระเบียบภายในครอบครัว

หลายครอบครัวมักเข้าใจผิดว่าการมุ่งเน้นแค่การทำงานในธุรกิจครอบครัว ไม่จัดการเรื่องทรัพย์สินครอบครัว และปล่อยให้ความเป็นครอบครัวเป็นเรื่องของ “ธรรมชาติ” และเก็งข้อสอบว่าสุดท้ายลูกหลานก็จะเข้ามารับช่วงต่อในธุรกิจครอบครัวในที่สุดเฉกเช่นเดียวกันกับอดีตที่เคยเป็น แนวทางดังกล่าวก็คงไม่เป็นเช่นนั้นกับยุคสมัยปัจจุบัน การสร้างความเป็นครอบครัวคือการสร้างจิตผู้ประกอบการที่มีค่านิยมร่วมกัน ที่อยากร่วมเข้ามาพัฒนาธุรกิจครอบครัวที่เติบโตยิ่งขึ้น สร้างโอกาสในธุรกิจครอบครัวให้กับลูกหลานอย่างเหมาะสมให้ได้สานต่อในที่ ๆ อาจไม่ใช่แค่ธุรกิจเดิมของครอบครัว ซึ่งหากสภาครอบครัวเริ่มจากแนวทางนี้ การวางแผนต่าง ๆ ภายในครอบครัวก็จะชัดเจนมากขึ้น และการประชุมของสภาครอบครัวก็จะมีความแตกต่าง และไม่ซ้ำซ้อนกับการประชุมในธุรกิจอย่างชัดเจน

2. ธรรมนูญครอบครัว จะตัดสินใจ สร้างความชัดเจน โปร่งใสได้อย่างไร

จุดสำคัญในการมีธรรมนูญครอบครัวคือการตัดสินใจที่โปร่งใส มีการสื่อสาร และ/หรือการชี้แจงข้อมูลที่ชัดเจน เท่าเทียมต่อสมาชิกครอบครัวทุกคนอย่างเหมาะสม เพราะหากเราจัดทำธรรมนูญครอบครัวขึ้นมาแล้วแต่ไม่สร้างวิธีการสื่อสารรูปแบบใหม่ การสร้างการเปลี่ยนแปลงให้แตกต่างจะเกิดขึ้นได้อย่างไร?

ดังนั้น หลังจากครอบครัวได้จัดทำธรรมนูญครอบครัวแล้วเสร็จ สภาครอบครัวควรที่จะออกแบบรูปแบบการสื่อสารให้เหมาะสมกับครอบครัวโดยยึดแนวทางว่าเรื่องต่าง ๆ ที่สำคัญของครอบครัวต้องได้รับการตัดสินใจจากสภาครอบครัว (หรือถ้าสภาครอบครัวยังไม่ได้กำหนดรูปแบบการออกเสียงของสภาครอบครัว (Voting Mechanism) สิ่งนั้นก็ควรเป็นสิ่งที่ควรเริ่มพิจารณากันก่อนหน้า) และสื่อสารทำความเข้าใจให้กับสมาชิกครอบครัวทุกคนอย่างเหมาะสม โดยที่แต่ละครอบครัวอาจมีวิธีการสื่อสารการตัดสินใจของสภาครอบครัวที่แตกต่างกันออกไป อาทิเช่น ให้หัวหน้าสมาชิกครอบครัวแต่ละสายไปสื่อสาร สื่อสารผ่านช่องทางการสื่อสารกลุ่ม หรือหากครอบครัวไหนที่สมาชิกครอบครัวเยอะขึ้นมาก็สามารถสื่อสารผ่านเว็บไซต์ครอบครัวได้เช่นเดียวกัน

3. สิ่งที่ผ่านมาแล้ว ไม่ควรย้อนกลับมา

หลายครอบครัวมักเดินเกมส์ผิดเมื่อจัดทำธรรมนูญครอบครัวเสร็จสิ้น นั้นก็คือการ “ทวงของเก่า” การรื้อสิ่งเก่า ๆ แม้อาจจะเป็นสิ่งที่เป็นไปได้แต่ก็มักจะเกิดคำถามขึ้นภายในครอบครัวว่า “เมื่อไหร่ถึงจะเรียกว่านานเกิดไป” และหากมีสมาชิกครอบครัวคนใด ทวงสิ่งเก่า ๆ ค่าใช้จ่ายเก่า ๆ ที่เกิดขึ้น สมาชิกครอบครัวคนอื่น ๆ ก็อาจมีสิทธิเรียกร้องค่าใช้จ่ายหรือสิ่งที่เกิดขึ้นก่อนธรรมนูญครอบครัวได้เช่นเดียวกัน ซึ่งจะกลายเป็นวงจรที่ตัดจบยาก และสร้างข้อพิพาทภายในครอบครัวได้ในท้ายที่สุด

การบริหารธรรมาภิบาลคือการมอง และก้าวไปข้างหน้า ดังนั้น สิ่งต่าง ๆ ในครอบครัวที่เกิดขึ้นแล้วไม่ว่าจะเป็นเรื่องของค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นภายในครอบครัว การซื้อขายหุ้นของครอบครัว หรือแม้กระทั่งค่าใช้จ่ายส่วนตัวที่ครอบครัวพึ่งพิจารณาว่าเป็นสวัสดิการครอบครัว ก็ล้วนแล้วแนะนำให้เริ่มต้นใหม่โดยพิจารณาจากค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นหลังจากมีการตัดสินใจจากสภาครอบครัว ด้วยเหตุนี้ เพื่อสร้างหลักธรรมาภิบาลที่ดี สภาครอบครัวสามารถพิจารณาให้การกระทำ หรือค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นหลังการตัดสินใจของสภาครอบครัวมีผลตามกฎระเบียบในธรรมนูญครอบครัวได้ต่อไป

ในท้ายที่สุดนี้ สิ่งสำคัญของครอบครัวไม่ใช่การมีธรรมนูญครอบครัว แต่เป็นการกำกับดูแล บริหารครอบครัวให้เป็นไปตามกฎระเบียบที่ครอบครัวได้ตกลงกันไว้ และมีตัวแทนครอบครัว (สภาครอบครัว) คอยช่วยตัดสินใจในเรื่องที่สำคัญภายในธุรกิจ และครอบครัว ทั้งนี้ ธุรกิจครอบครัวจะต้องไม่ลืมว่า การสร้างธุรกิจครอบครัวให้เติบโตอย่างมั่งคั่งยั่งยืนคือการสร้างรากฐานในการส่งต่อธุรกิจ และครอบครัวไปได้จากรุ่นสู่รุ่น

หลายธุรกิจครอบครัวที่พึ่งเริ่มต้นในการจัดทำธรรมนูญครอบครัว และเริ่มต้นการบริหารครอบครัวก็มักจะใช้ที่ปรึกษาธุรกิจครอบครัวเข้าไปช่วยสนับสนุนการบริหารธรรมาภิบาลธุรกิจครอบครัวเพื่อให้การกำกับดูแล การดำเนินธรรมาภิบาลธุรกิจครอบครัวสามารถบริหารจัดการไปได้ตามแนวทางที่เหมาะสม และครอบครัวก็จะได้มีแนวทางในการกำกับดูแลจากที่ปรึกษาธุรกิจครอบครัวต่อไปอย่างถูกต้อง และมีประสิทธิภาพตามที่สมาชิกครอบครัวทุกคนได้หวังไว้

Previous
Previous

Family Harmony: พูดง่าย ทำยาก…สร้างได้อย่างไร?

Next
Next

ทำธรรมนูญครอบครัวฉบับไม่ใช่เจ้าสัว…เป็นไปได้หรือ?