Family Harmony: พูดง่าย ทำยาก…สร้างได้อย่างไร?

ธุรกิจครอบครัวมักมีเจตจำนงในการพัฒนา สานต่อธุรกิจครอบครัวเพื่อสานต่อมรดกครอบครัว และสร้างความมั่งคั่งภายในครอบครัว การสร้างให้ครอบครัวกลมเกลียว (Family Unity) ให้คนในครอบครัวรักกัน ผลักดันให้คนในครอบครัวมีความปรองดอง (Harmony) “ยอม” คนในครอบครัว และหลีกหนีการกระทบกระทั่ง มักเป็นกลยุทธ์ที่หลายครอบครัวใช้ หลายธุรกิจครอบครัวจึงได้ผลักดันหลักการดังกล่าวภายในครอบครัว เพื่อหวังว่าสมาชิกครอบครัวจะช่วยกันพัฒนาธุรกิจครอบครัว สร้างความมั่งคั่ง เห็นแก่พี่น้อง และสืบทอดธุรกิจครอบครัวต่อไป

แต่จากหลายธุรกิจครอบครัวที่คงเคยรับรู้กันมา หลายครั้งที่เราเห็นว่าแค่คำว่ารักกันในธุรกิจครอบครัวไม่อาจทำให้สมาชิกครอบครัวเห็นตรงกันได้ ไม่อาจรักกันได้จริง และไม่อาจคงธุรกิจครอบครัวต่อไปได้ จากข่าวที่ได้นำเสนอหลายสิบธุรกิจครอบครัวที่ทะเลาะกันภายในครอบครัวเพื่อแย่งทรัพย์สินก็ดี เปิดธุรกิจค้าแข่งกันก็ดี หรือแม้แต่ฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายหรือเรียกสิทธิความเป็นเจ้าของก็ดี หากย้อนกลับไปดูข่าวก่อนหน้าเมื่อหลายปีที่แล้วของแต่ละธุรกิจครอบครัว ส่วนใหญ่ก็ล้วนแล้วมีการนำเสนอข่าวว่าปลูกฝังให้ลูกหลานในครอบครัว “รักกัน” ทั้งสิ้น จากข้อมูลข่าวสาร และประสบการณ์ที่ปรึกษาคงได้อาจสรุปเป็นนัยได้ว่า แม้หลายครอบครัวอาจประสบความสำเร็จในการพัฒนาธุรกิจครอบครัว แต่การบอกให้ทุกคน “รักกัน” แต่ไม่ได้ทำอะไรเพิ่มเติม ก็ไม่อาจรับประกันความยั่งยืนในธุรกิจครอบครัวได้

Family Harmony: ความปรองดองครอบครัว และการได้รับทั้ง 5 ประการ

จากการช่วยเหลือหลายธุรกิจครอบครัวสร้างความยั่งยืนให้เกิดขึ้นจริง หนึ่งปัจจัยที่สร้างความสำเร็จในการพัฒนา สร้างการสืบทอดความมั่งคั่ง และสืบทอดธุรกิจครอบครัวจากรุ่นสู่รุ่นนั้นคือการสร้างความปรองดอง (Family Harmony) ภายในครอบครัว Family Harmony เป็นเรื่องนามธรรมที่หลายครอบครัวพยายามผลักดัน แต่ไม่ประสบความสำเร็จเนื่องจาก การสร้าง Family Harmony ไม่ได้เกิดจากการเรียกร้องจากคนในครอบครัว แต่ เกิดจากความรู้สึก “ได้รับ” 5 ประการ (ตามรูปภาพที่ปรากฏ) จากภายในครอบครัว ดังนั้นครอบครัวจึงจะต้องสร้างความรู้สึก “ได้รับอย่างเหมาะสม” แก่สมาชิกครอบครัวเพื่อสร้าง Family Harmony ให้เกิดขึ้น ซึ่งการได้รับเรื่องอะไรบ้างที่ธุรกิจครอบครัวจะต้องพิจารณาเมื่อต้องการที่จะสร้าง Family Harmony ภายในครอบครัว


1. ได้รับบทบาท หน้าที่ ความรับผิดชอบ

   การเป็นคนในครอบครัวต้องมีหน้าที่ที่ต้องรับผิดชอบ ไม่เว้นแม้แต่คนที่ไม่ได้ทำงานในธุรกิจครอบครัว การกำหนดหน้าที่ของสมาชิกครอบครัวไม่ได้ยึดติดกับบทบาทภายใต้ธุรกิจครอบครัวเพียงอย่างเดียว หลายธุรกิจครอบครัวที่ประสบความสำเร็จในการสร้าง Family Harmony ได้แจกแจงบทบาท หน้าที่ให้กับสมาชิกครอบครัวทุกคนตามกรอบที่กำหนดไว้ ทั้งในบทบาทภายในธุรกิจครอบครัว และ/หรือบทบาทภายนอกธุรกิจครอบครัว

   ครอบครัวที่กำหนดบทบาท หน้าที่ภายในธุรกิจครอบครัวจะเป็นการกำหนดกรอบการมีส่วนเกี่ยวข้องในการทำงานภายใต้ธุรกิจครอบครัว ซึ่งสามารถเป็นได้ทั้งอำนาจสั่งการ (ผู้ถือหุ้น) ตำแหน่ง (กรรมการ ผู้บริหาร หรือพนักงาน) หรือผู้สนับสนุน (ที่ปรึกษา) โดยปกติแล้วสภาครอบครัว หรือครอบครัวจะต้องมีการกำหนดกรอบการทำงานข้างต้นภายในกฎครอบครัว (ธรรมนูญครอบครัว) อย่างชัดเจนว่าสมาชิกครอบครัวรูปแบบไหนที่สามารถมีส่วนเกี่ยวข้องภายในธุรกิจครอบครัว และสามารถมีส่วนเกี่ยวข้องในบทบาท หน้าที่รูปแบบใดเป็นพิเศษเพื่อสร้างความชัดเจนภายในครอบครัว และไม่ให้เกิดข้อพิพาทจากกรณีที่มีสมาชิกครอบครัวหาความได้เปรียบจากการไม่มีกฎระเบียบที่ชัดเจนของครอบครัว

   บทบาท หน้าที่ภายในธุรกิจครอบครัวอาจเป็นเรื่องทั่วไปที่หลายธุรกิจครอบครัวคุ้นเคย แต่การกำหนดบทบาท หน้าที่นอกธุรกิจครอบครัวเป็นอีกกุญแจสำคัญที่จะสร้าง Family Harmony และสร้างความรู้สึกผูกพันธ์ รู้สึกมีความเกี่ยวข้อง และอยากที่จะช่วยเหลือธุรกิจครอบครัวอีกแรงหนึ่ง การกำหนดหน้าที่นอกธุรกิจครอบครัวสามารถทำได้จากการสร้างความรับผิดชอบต่อสังคมภายในครอบครัว เพื่อส่งเสริมให้สมาชิกครอบครัวบางคนที่มีแรงจูงใจในการพัฒนาสังคมเข้ามาสนับสนุนในการทำงานดังกล่าว ในหลายกรณีศึกษาของธุรกิจครอบครัวที่สร้างบทบาทหน้าที่ให้กับสมาชิกครอบครัวนอกธุรกิจที่เห็นได้อย่างชัดเจนคือการจัดตั้งมูลนิธิ หรือองค์กรไม่แสวงผลประโยชน์ของครอบครัวเพื่อสร้างผลกระทบ และการมีส่วนร่วมต่อสังคมในทิศทางใด ทิศทางหนึ่ง หรือหากไม่ได้มีองค์กรดังกล่าวเกิดขึ้น หลายธุรกิจครอบครัวก็ได้เริ่มเข้ามามีส่วนในการสร้างผลกระทบทางสังคมโดยได้มีสมาชิกครอบครัวไม่ว่าจะทำงานในธุรกิจครอบครัวหรือไม่ ก็ได้มามีส่วนร่วมในการพัฒนาสังคม สิ่งแวดล้อมตามค่านิยมของครอบครัว และแรงผลักดันที่ครอบครัวมี

   การกำหนดบทบาท หน้าที่ทั้ง 2 มิติควบคู่กันภายในธุรกิจ และครอบครัวเป็นการสร้างแรงสนับสนุนระหว่างกันเพื่อให้คนในครอบครัวทุกคนสามารถเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาธุรกิจครอบครัว และใช้ประโยชน์จากต้นทุนครอบครัว (Family Capital) ในเรื่องของนามสกุลครอบครัวเพื่อสร้างผลประโยชน์สูงสุดในธุรกิจครอบครัว และทางการสร้างการเปลี่ยนแปลงในสังคมตามค่านิยมครอบครัวที่มี


2. ได้รับความมั่งคั่ง

   การได้รับความมั่งคั่ง (Wealth) มักเป็นเครื่องมือหลักที่หลายครอบครัวใช้ในการสร้างความปรองดองในครอบครัว แต่ Wealth ก็กลับกลายเป็นตัวแปรที่ทำให้เกิดข้อพิพาทภายในครอบครัว และทำให้ไม่เกิด Family Harmony มากที่สุด หากใช้อย่างไม่รู้จุดประสงค์ในการให้ และได้รับ Wealth

   Wealth สามารถสะท้อนถึงหลายปัจจัยในธุรกิจ และครอบครัว สะท้อนความเป็นเจ้าของ (ผ่านการถือหุ้น) ความร่ำรวย (ทรัพย์สิน เงินทอง) ความมีชื่อเสียง และการยอมรับ (ชื่อเสียงครอบครัว และการนำเสนอต่อสาธารณะ) การที่สมาชิกครอบครัวรู้สึกถึงการได้รับความมั่งคั่งสามารถทำได้จากการจัดแจง Wealth ผ่านสิ่งที่คนในครอบครัวนั้นได้รับผิดชอบ (ในฝั่งธุรกิจครอบครัว และนอกธุรกิจครอบครัว) ประกอบกับการมีส่วนร่วมในฐานะสมาชิกครอบครัว การที่สมาชิกครอบครัวได้รับ Wealth ที่เป็นของทางครอบครัว สภาครอบครัว หรือตัวแทนครอบครัวจะต้องสื่อสารถึงจุดประสงค์ในการได้รับ Wealth ดังกล่าว และอธิบายถึงเงื่อนไขต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นอย่างชัดเจน

   กรณีตัวอย่างของหนึ่งครอบครัวที่สภาครอบครัวได้ตัดสินใจโอนที่ดินครอบครัวให้กับน้องสาวคนกลางเนื่องจากไม่มีลูก ไม่มีผู้สืบทอด ดังนั้น สภาครอบครัวจะต้องสื่อสารให้กับสมาชิกครอบครัวคนอื่น ๆ ได้รับทราบว่าทำไมที่ดินดังกล่าวถึงมีชื่อน้องสาวคนกลางเพียงคนเดียว ไม่ใช่เพราะที่ดินนั้นเป็นของคนเดียว แต่เป็นการถือกรรมสิทธิ์แทนสมาชิกครอบครัวทุก ๆ คน และเป็นการบริหารความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต

   อีกหนึ่งครอบครัวหนึ่งที่สภาครอบครัวได้ตัดสินใจว่าการถือหุ้นในธุรกิจครอบครัวจะเป็นการถือเท่ากัน 5 สายครอบครัวโดยมีตัวแทนทางสายเลือดจากครอบครัวเป็นผู้เข้ามาถือหุ้นภายในธุรกิจครอบครัว ทั้งนี้ ทั้ง 5 สายครอบครัวต่างทราบกันโดยเอกฉันท์ว่าลูกชายคนที่สาม เป็นผู้สืบทอด และเป็น CEO ของธุรกิจครอบครัวดังกล่าวเนื่องจากได้พิสูจน์กับทางครอบครัวแล้วว่าสามารถช่วยเหลือธุรกิจครอบครัวให้กลับมามีกำไรได้จากวิกฤตครอบครัวที่ผ่านมา เพียงแต่การถือหุ้นที่เท่ากันเป็นเพียงการส่งเสริมความเป็นเจ้าของภายในธุรกิจครอบครัวของสมาชิกครอบครัวทุกสาย ผู้ที่ทำมาก ทำเยอะก็จะได้ค่าตอบแทนเป็นเงินเดือน และโบนัสของบริษัทที่สูงตามตำแหน่งที่ได้วางโครงสร้างไว้

   Wealth คือเครื่องมือที่เปราะบางที่จะต้องบริหารจัดการอย่างเฉียบคม และสื่อสารอย่างชัดเจนเป็นประจำ เพื่อลดความเข้าใจผิดระหว่างสมาชิกครอบครัว Wealth ไม่ใช่เครื่องมือเพื่อสร้าง หมาล่าเนื้อในครอบครัว ไม่ใช่เครื่องมือในการสร้าง Carrot and Stick แต่เราต้องเข้าใจจุดประสงค์ของ Wealth ภายในครอบครัว และใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด การนำ Wealth มาเป็นเครื่องมือในการสร้าง Family Wealth ก็จะสร้างแรงผลักดัน สร้าง Family Wealth ได้อย่างมีประสิทธิภาพ


3. ได้รับการดูแลอย่างเท่าเทียม

การดูแลสมาชิกครอบครัวเป็นสิ่งที่หลายธุรกิจครอบครัวได้ทำกันอย่างสม่ำเสมอ ไม่ว่าจะเป็นการดูแลญาติพี่น้อง ลูกหลานภายในครอบครัวเพื่อให้ทุกคนได้อยู่อย่างสะดวกสบาย อย่างไรก็ดีการดูแลสมาชิกครอบครัวก็สามารถสร้างผลกระทบกับการสร้าง Family Harmony ได้อย่างที่หลายคนคาดไม่ถึง

การดูแลสมาชิกครอบครัวสามารถมีได้หลากหลาย หนึ่งในการสร้างแนวทางการดูแลที่เหมาะสม และเป็นธรรมต่อทุกฝ่ายคือการกำหนดสวัสดิการครอบครัวขึ้นมาผ่านการจัดตั้งธรรมนูญครอบครัว เพื่อให้สมาชิกครอบครัวได้มีโอกาสออกแบบ และรับรู้ถึงรูปแบบการดูแลสมาชิกครอบครัวที่ทุกคนยอมรับ

อย่างไรก็ดี การดูแลสมาชิกครอบครัวอาจไม่ใช่เพียงเรื่องเงินทอง หรือการอำนวยความสะดวกสบายเสมอไป การดูแลคนในครอบครัวคือการสร้างให้ทุกคนรู้สึกว่ามีความเท่าเทียมที่เกิดขึ้นในธุรกิจครอบครัว ไม่ได้มีปรากฎการณ์ลูกคนโปรด การเมืองกงสีเกิดขึ้น ดังนั้น การเข้าไปทำงานในธุรกิจครอบครัว Career Path ต่าง ๆ ที่สมาชิกครอบครัวจะเติบโตในธุรกิจครอบครัว (หากมีความสามารถที่เหมาะสม) ก็จะถูกพิจารณาอย่างเป็นธรรมเฉกเช่นธุรกิจอื่น ๆ ที่เป็นมืออาชีพ ธุรกิจครอบครัวที่สร้าง Family Harmony ได้อย่างเข้มแข็งมักจะออกแบบกลไกการพิจารณาตักเตือน และลงโทษ Penalty Mechanism ภายในครอบครัว และพร้อมที่จะพิจารณาลงโทษสมาชิกครอบครัวที่ทำผิดกฎระเบียบครอบครัว โดยไม่มีคำว่าลูกคนโปรดแต่อย่างใด

ด้วยเหตุนี้ Family Harmony ที่หลายธุรกิจครอบครัวพยายามจะสร้างขึ้นจะต้องพิจารณาถึงการดูแลสมาชิกครอบครัวที่เหมาะสมกับที่ทุกคนในครอบครัวควรได้รับ และสร้างความรู้สึกเป็นธรรม เท่าเทียมแก่ทุกฝ่าย โดยไม่สร้างกลไกที่อาจเอื้อประโยชน์ต่อสมาชิกครอบครัวกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเป็นพิเศษ รวมไปถึงออกแบบการตักเตือน และลงโทษอย่างเหมาะสมเพื่อวางกรอบการอยู่ร่วมกันที่ไม่ได้มีแค่คุณ แต่มีโทษเมื่อมีสมาชิกครอบครัวผิดกฎระเบียบของครอบครัว


4. ได้รับความเป็นเจ้าของ “ร่วม”

ความรู้สึกถึงความเป็นเจ้าของในธุรกิจครอบครัวเป็นเรื่องที่สำคัญที่ให้สมาชิกครอบครัวควรจะได้รับ การรับรู้ถึงความเป็นเจ้าของ ประกอบกับการได้รับความมั่งคั่ง และการดูแลจากธุรกิจครอบครัว จะสร้างความรู้สึกหวงแหน อยากที่จะพัฒนาธุรกิจครอบครัวให้เติบโตขึ้น ซึ่งการสร้างความเป็นเจ้าร่วมไม่จำเป็นที่จะต้องให้สมาชิกครอบครัวทุกคนมาทำงานอยู่ในธุรกิจครอบครัวอย่างที่ใครหลายคนเข้าใจ และการสร้างความเป็นเจ้าของร่วมของธุรกิจครอบครัวก็สามารถสร้างได้ทุกรุ่น แม้กระทั่งรุ่นเด็กที่อายุยังน้อยอยู่เช่นเดียวกัน โดยการสร้างความรู้สึกถึงความเป็นเจ้าของสามารถทำได้สองวิธีดังนี้

วิธีแรกคือการผลักดันให้สมาชิกครอบครัวมาเป็นผู้ถือหุ้น และเข้าทำงานในธุรกิจครอบครัวถือว่าเป็นแนวทางที่หลายครอบครัวเลือกใช้เพื่อสร้างความรู้สึกเป็นเจ้าของในธุรกิจครอบครัว การเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องภายในธุรกิจครอบครัวเพื่อรับรูปการทำงานภายในองค์กร ได้มีประสบการณ์ในการทำงาน และการบริหารในธุรกิจครอบครัวก็จะสร้างความรู้สึกถึงความเป็นเจ้าของ และอยากที่จะพัฒนาธุรกิจครอบครัวให้เติบโต และยิ่งสมาชิกครอบครัวทราบแล้วด้วยว่าธุรกิจดังกล่าวเป็นของครอบครัว และเป็นแหล่งการสร้างความมั่งคั่งในครอบครัว ความต้องการที่จะพัฒนาให้ยั่งยืนก็ย่อมเป็นสิ่งที่สมาชิกครอบครัวหลาย ๆ คนจะรู้สึก อย่างไรก็ดี

อีกหนึ่งวิธีของการสร้างความเป็นเจ้าของร่วมที่หลายคนอาจไม่ได้คิดถึงก็คือการสื่อสารภายในครอบครัว ซึ่งจะพูดคุยแจ้งข่าวสาร ความน่าสนใจ และผลกระทบต่าง ๆ ต่อครอบครัว และสังคมภายนอก ธุรกิจครอบครัวหนึ่งที่มีสมาชิกครอบครัวเป็นจำนวนมาก แต่มีเพียงสมาชิกครอบครัวไม่กี่คนที่ทำงานในธุรกิจครอบครัว ก็สามารถสร้างความเป็นเจ้าของกับสมาชิกครอบครัวทุกคนได้ ผ่านเครื่องมือธรรมนูญครอบครัว และสภาครอบครัวเข้ามาช่วยในการสื่อสาร สถานะความเป็นไปของธุรกิจครอบครัว อนาคตที่ธุรกิจครอบครัวจะเติบโต และการที่ธุรกิจครอบครัวได้สร้างผ่านผลิตภัณฑ์ มูลนิธิครอบครัว และกิจกรรมที่ไม่แสวงหากำไร การสร้างหลักธรรมาภิบาลของครอบครัวนี้ได้ทำให้สมาชิกครอบครัว รวมไปถึงลูกหลานในครอบครัวรู้สึกรัก และหวงแหนธุรกิจครอบครัว พร้อมทั้งอยากที่จะเข้าไปทำงานในธุรกิจครอบครัว (การวางแผนสืบทอดกิจการ) เพื่อขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงให้เกิดผลกระทบอย่างต่อเนื่อง


5. ได้รับโอกาส

องค์ประกอบของการสร้างความปรองดองในครอบครัวที่สำคัญอีกเรื่องหนึ่งคือการได้รับโอกาสภายในครอบครัว หลายครั้งที่ธุรกิจครอบครัวชอบมอบหมายให้คนใดคนหนึ่งเป็นคนที่ได้รับโอกาส ทั้งในเรื่องธุรกิจ และครอบครัว จนทำให้สมาชิกครอบครัวหลายท่านน้อยใจ และสงสัยว่าเพราะเหตุใด? ตนถึงไม่ได้รับโอกาสบ้าง แม้เป็นคนในครอบครัวเช่นเดียวกันแต่ทำไมโอกาสที่ได้รับถึงไม่เท่าเทียม? การสร้างโอกาสที่ไม่เท่าเทียมในธุรกิจครอบครัวมักเป็นบ่อเกิดของความน้อยเนื้อต่ำใจ และขาดการมีส่วนร่วมในธุรกิจครอบครัว เป็นเรื่องปกติที่เราอาจจะเห็นสมาชิกครอบครัวบางท่าน ไม่สนใจ ประชดประชัน เสียดสี หรือในกรณีที่ร้ายแรงที่สุดคือขัดขวางการดำเนินงานให้สำเร็จ และหลาย ๆ ครั้งเมื่อครอบครัว เห็นคนในครอบครัวเป็นเช่นนั้นก็ยิ่งไม่มอบโอกาส กลายเป็นวงจรที่บ่อนทำลายความปรองดองภายในครอบครัวอย่างไม่จบไม่สิ้น

การสร้าง Family Harmony คือการจัดสรรการได้รับโอกาสในธุรกิจ และครอบครัวอย่างเท่าเทียม เหมาะสม การมองหาแนวทางในการพัฒนาสมาชิกครอบครัวในรูปแบบที่แตกต่างกันออกไปเพื่อพัฒนาความสามารถให้หลากหลายพร้อมกับมอบโอกาสในการพิสูจน์ความสามารถเพื่อเพิ่มความรู้สึกได้รับการดูแลเท่าเทียม

ธุรกิจครอบครัวหนึ่งได้มอบโอกาสในการต่อยอดธุรกิจครอบครัวแก่สมาชิกครอบครัวที่มีความสามารถ โดยมีแนวคิดว่าสมาชิกครอบครัวไม่จำเป็นที่จะต้องมาทำงานในธุรกิจเดียว เพราะเสียดายโอกาส เสียดายความรู้ ศักยภาพ ประสบการณ์ที่สมาชิกครอบครัวแต่ละคนมี จึงได้ขยายธุรกิจครอบครัวจากหนึ่งเป็นหลายธุรกิจ วางโครงสร้างธุรกิจให้ทุกบริษัทยังเป็นของครอบครัว และให้สมาชิกครอบครัวแต่ละคนขึ้นไปเป็นผู้บริหารของแต่ละธุรกิจเพื่อให้สมาชิกครอบครัวแต่ละคนสร้างสรรค์ผลงาน และเติบโตตามแนวทางที่แต่ละคนได้วางแผนไว้

การได้รับโอกาสในธุรกิจ และครอบครัว สามารถออกแบบได้หลากหลาย แต่จะต้องพิจารณาถึงความสามารถ และความพอเหมาะในการให้โอกาสกับสมาชิกครอบครัวการได้รับโอกาสโดยยังไม่มีความสามารถอาจจะทำให้ความรับผิดชอบดังกล่าวไม่ประสบผลสำเร็จ หรือการได้รับโอกาสที่มากจนเกินไปก็อาจทำให้เกิดข้อสงสัยกับการได้รับโอกาสของสมาชิกครอบครัวอีกคนนึง ดังนั้นความสามารถ และการได้รับโอกาสจึงเป็นสิ่งที่ควรที่จะสอดคล้อง และสื่อสารกับสมาชิกครอบครัวทุกคนอย่างเป็นประจำ


จากที่ได้นำเสนอในเรื่องขององค์ประกอบการได้รับ ในการสร้าง Family Harmony จะเห็นได้ชัดเจนว่า Family Harmony ไม่ได้เกิดจากการบอกกล่าวให้เกิดความรู้สึกรัก รู้สึกกลมเกลียว และปรองดองกัน แต่ Family Harmony เป็นกระบวนการที่ต้องผสมผสานระหว่างธุรกิจ และครอบครัว เป็นกระบวนการที่ต้องให้เวลาในการวางแผน และสื่อสารอย่างสม่ำเสมอ และทั้ง 5 การได้รับเป็นสิ่งที่เชื่อมโยงกัน และไม่อาจขาดองค์ประกอบไหนไปได้ เพราะทุกองค์ประกอบมีความสำคัญ และมีอิทธิพลต่ออีกการได้รับอย่างมีนัยยะสำคัญ

ธุรกิจครอบครัวเราอยู่ระหว่างข้อต่อของการเปลี่ยนแปลง เปลี่ยนแปลงรูปแบบการทำงาน เปลี่ยนแปลงรูปแบบของการสื่อสาร และที่สำคัญคือเปลี่ยนแปลงรูปแบบของการรักใคร่ปรองดองกัน เพราะธุรกิจ และครอบครัวย่อมต้องเติบโต รูปแบบการบริหารจัดการทั้งสองระบบย่อมต้องมีวิวัฒนาการที่สอดคล้องกันไป ดังนั้น ธุรกิจครอบครัวของเราหล่ะ พร้อมหรือไม่? ที่จะเปลี่ยนแปลง และสร้าง Family Harmony ที่ใช้ได้จริง สร้างแนวทางที่สามารถพัฒนาธุรกิจครอบครัวของเราไปพร้อมกับสร้างความปรองดองครอบครัวตามที่ทุกคนหวังไว้

Previous
Previous

ธรรมนูญครอบครัว…สารตั้งต้นธุรกิจครอบครัวที่ยั่งยืน

Next
Next

มีธรรมนูญครอบครัว…แต่จะใช้งานอย่างไร? สำหรับครอบครัวมือใหม่