ธรรมนูญครอบครัว…สารตั้งต้นธุรกิจครอบครัวที่ยั่งยืน
เมื่อธุรกิจครอบครัวก้าวเข้าสู่ยุคสมัยที่มีการเปลี่ยนแปลงทั้งในเรื่องของธุรกิจ และครอบครัวอย่างรวดเร็ว ปัจจัยภายนอกที่มีนโยบายภาครัฐที่รัดกุม ความเข้มงวดในข้อกำหนดด้านสิ่งแวดล้อม ปัจจัยภายนอกทางสังคมที่มีผลต่อการตัดสินใจซื้อสินค้าหรือบริการ การเปลี่ยนแปลงของยุคสมัย (Disruption) ทั้งในเรื่องของเทคโนโลยี และการบริหารที่ต้องทันท่วงที และการแข่งขันของธุรกิจที่มีอย่างดุเดือดมากขึ้น ได้มีอิทธิพลให้ธุรกิจครอบครัวต้องปรับตัวให้สอดคล้องกับบริบทปัจจุบัน ครอบครัวในฐานะเจ้าของธุรกิจต้องวางแผนอนาคตให้สามารถอยู่รอด และต่อยอดธุรกิจให้สามารถสร้างความมั่งคั่งในธุรกิจ และในครอบครัวได้
ปัจจัยภายในครอบครัวก็มีเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมาก เกิดพลวัตภายในครอบครัวไม่ว่าสมาชิกครอบครัวจะมีเพิ่ม (จากการแต่งงาน รับสมาชิกเพิ่ม หรือมีลูก หลานมากขึ้น) มีคนจากไป (จากการเสียชีวิต หรือออกจากครอบครัว) มีคนเจ็บป่วย และแรงผลักดันทางความรู้สึกที่เกิดขึ้นในครอบครัว ทั้งหมดล้วนแล้วแต่สร้างอิทธิพลให้ธุรกิจครอบครัวต้องปรับเปลี่ยนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ มากไปกว่านั้น สมาชิกครอบครัวรุ่นใหม่ ที่มีการศึกษาที่ดี มีไฟในการทำงาน ก็เริ่มร้องขอความชัดเจนในการบริหาร จากบทบาทที่ได้รับมากขึ้นในการบริหารธุรกิจ ซึ่งเชื่อมโยงไปสู่การนำเสนอไอเดียเพื่อต่อยอดธุรกิจ และทรัพย์สินครอบครัวของคนรุ่นใหม่ให้ความมั่งคั่งนั้นเติบโตมากกว่าที่เป็นอยู่ ณ ปัจจุบัน
ธุรกิจครอบครัวถูกผลักดันให้เปลี่ยนแปลงจากแรงกดดันทุกมิติ การวางแผนให้ธุรกิจครอบครัวสามารถต่อยอด และส่งต่อธุรกิจสู่รุ่นลูกหลานได้ “อย่างยั่งยืน” ก็เป็นจุดประสงค์สำคัญของแผนธุรกิจที่หลาย ๆ ครอบครัวได้หวังไว้ คำถามที่สำคัญคือธุรกิจครอบครัวจะออกแบบธุรกิจครอบครัวอย่างไรให้ครอบคลุมเพื่อให้ความยั่งยืนเกิดขึ้นได้ทั้งในธุรกิจ และครอบครัว? หลายธุรกิจครอบครัวที่รู้จัก พยายามผลักดันให้ธุรกิจเติบโตโดยไม่ได้มองถึงความเป็นครอบครัว หรือในทางกลับกัน บางธุรกิจครอบครัวก็มองถึงความสัมพันธ์มากเกินไปจนไม่ได้ก้าวออกไปจาก Comfort Zone เพื่อคว้าโอกาสในอนาคต ไม่ว่าทางใดที่ธุรกิจครอบครัวเหล่านี้เลือกใช้ ผลลัพธ์สุดท้ายคือการดำเนินธุรกิจครอบครัวที่เป็นบ่อเกิดของปัญหาภายหลัง
อย่างไรก็ตาม มีหนึ่งเครื่องมือที่ธุรกิจครอบครัวได้ใช้ และประสบความสำเร็จในการผสานการเติบโตของธุรกิจ ตอบโจทย์ความเป็นครอบครัว สร้างความชัดเจนโปร่งใสในการบริหาร และสร้างความมั่งคั่งให้เกิดขึ้นในธุรกิจครอบครัวได้...เครื่องมือนั้นก็คือ “ธรรมนูญครอบครัว”
“ธรรมนูญครอบ” เป็นเครื่องมือในการอยู่ร่วมกันของครอบครัวเพื่อพัฒนาองค์ประกอบสำคัญของธุรกิจครอบครัวซึ่งคือความเป็นเจ้าของ ความมั่งคั่ง (ในธุรกิจ และครอบครัว) และความเป็นครอบครัวให้ต่อยอดธุรกิจครอบครัว และความมั่งคั่งจากรุ่นสู่รุ่น การจัดทำธรรมนูญครอบครัวคือการสร้างความชัดเจนภายในธุรกิจครอบครัว และวางโครงสร้างภายในธุรกิจครอบครัวให้เกิดความโปร่งใสจากการตัดสินใจในเรื่องต่าง ๆ การมีธรรมนูญครอบครัวจะเป็นการสร้างมาตรฐานในการบริหารธุรกิจครอบครัวภายใต้ข้อตกลงร่วมกันของสมาชิกครอบครัว (ที่ร่วมจัดทำธรรมนูญครอบครัว) และยังลดความขัดแย้งภายในครอบครัวที่เกิดขึ้นจากการตัดสินใจของคนในครอบครัวเนื่องจากเป็นข้อตกลงที่ครอบครัวได้จัดทำร่วมกันมา
ดังนั้น การจัดทำธรรมนูญครอบครัวเป็นดั่งรากฐานสำคัญในการวางโครงสร้างธุรกิจครอบครัวให้เติบโต และสามารถสืบทอดธุรกิจครอบครัวจากรุ่นสู่รุ่น หลายธุรกิจครอบครัวที่ได้ให้คำปรึกษาก็ได้จัดทำธรรมนูญครอบครัวเพื่อสร้างหลักเกณฑ์ในการบริหาร และสร้างกฎในการอยู่ร่วมกัน ได้รับ “ผลประโยชน์เท่าเทียม” ตรงไปตรงมา ไม่มีหมกเม็ด ไม่สร้างข้อสงสัยภายใต้การตัดสินใจของคนในครอบครัว
แล้วการจัดทำธรรมนูญครอบครัวต้องเริ่มต้นจากตรงไหน?...
ธรรมนูญครอบครัวเป็นเครื่องมือที่ผลักดันการเปลี่ยนแปลงภายในธุรกิจครอบครัว และต้องอาศัยความร่วมมือกันของคนในครอบครัว “ทุกคน” ด้วยเหตุนี้ หากจะถามว่าควรเริ่มต้นที่ตรงไหน คำตอบที่ตอบได้ดีที่สุดคือ “เริ่มต้นที่ความพร้อมของคนในครอบครัว” เป็นส่วนใหญ่ หากคนในครอบครัวมีความพร้อมในการสร้างเปลี่ยนแปลงในธุรกิจครอบครัว โดยประการถัดมา การจัดทำธรรมนูญครอบครัวจะต้องไปมีแนวทางที่ชัดเจนกับทุกคนในครอบครัว นั้นหมายถึงจะตอบจุดประสงค์ของการสร้างธรรมนูญครอบครัว ซึ่งประกอบไปด้วย ความน่าเชื่อถือ (Trustworthy) การเติบโต และการสืบทอดต่อเนื่อง (Growth & Succession) ความโปร่งใส (Transparency) กรอบกำหนดชัดเจน (Common Ground) การมองส่วนรวม “กงสี” (Inclusive Spacing) การออกแบบตามบริบท (Contextualize)
ดังนั้น การสร้างธรรมนูญครอบครัวต้องมองไปถึง 6 หลักการที่กล่าวมาข้างต้น จึงจะสามารถสร้างธรรมาภิบาลที่เข้มแข็ง และธุรกิจครอบครัวที่ยั่งยืนได้ ครอบครัวสามารถเริ่มต้นจัดทำธรรมนูญครอบครัวได้โดยการปรับใช้ “แผนภาพธรรมนูญครอบครัว” (Family Charter Canvas) เป็นเครื่องมือในการจัดทำธรรมนูญครอบครัว
Family Charter Canvas คือเครื่องมือการจัดทำธรรมนูญครอบครัวอย่างครอบคลุมที่ใช้สำหรับนำเสนอองค์ประกอบสำคัญในการพูดคุย และหาข้อตกลงภายในครอบครัว หลายธุรกิจครอบครัวที่ได้ใช้ Family Charter Canvas ในการจัดทำธรรมนูญครอบครัวนั้นมีภาษากลางที่ช่วยทำความเข้าใจให้กับสมาชิกครอบครัว “ไม่มึนงง” “ไม่หลงทาง” ระหว่างจัดทำ และสามารถผลักดันกฎของครอบครัวได้อย่างครอบคลุม และเชื่อมโยงระหว่างกัน ซึ่ง Family Charter Canvas จะเป็นเครื่องมือที่พาครอบครัวพูดคุยในหัวข้อที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ในธุรกิจครอบครัว ประกอบไปด้วย 9 องค์ประกอบสำคัญ ดังนี้
1. ค่านิยมครอบครัว - Family Values
2. อนาคตธุรกิจครอบครัว - Family Business Future
3. โครงสร้าง (ธุรกิจ และครอบครัว) – Business & Family Structure
4. สิทธิ หน้าที่ – Right & Responsibility
5. สวัสดิการ & เงินครอบครัว - Family Welfare & Family Fund
6. การบริหารธุรกิจครอบครัว - Family Business Management
7. การสืบทอดธุรกิจครอบครัว - Succession Planning
8. ทรัพย์สิน & ความมั่งคั่ง - Asset & Wealth
9. กฎบ้าน – House Rules
การสร้างธุรกิจครอบครัวให้ยั่งยืนคือการวางโครงสร้างเพื่อส่งต่อรากฐานธุรกิจ และครอบครัวจากรุ่นสู่รุ่น นั้นหมายความว่าการมีโครงสร้างที่มีหลักธรรมาภิบาล มีความชัดเจนโปร่งใส มีกฎระเบียบที่แน่ชัด และมีอนาคตที่จะเติบโตต่ออย่างที่ทุกคนเห็นพ้องต้องกันก็จะเป็นการสร้างธุรกิจครอบครัวที่ยั่งยืน ด้วยเหตุนี้ธรรมนูญครอบครัวจึงเป็นเครื่องมือที่หลายธุรกิจครอบครัวเลือกใช้ในการเริ่มต้น (Kick-Off) การสร้างธรรมาภิบาลครอบครัวที่ทุกคนคาดหวังไว้
การปรับใช้ Family Charter Canvas เป็นเครื่องมือ How-To เพื่อวางแนวทางการจัดทำธรรมนูญครอบครัวได้อย่างครอบคลุม และหลังจากธุรกิจครอบครัวได้จัดทำธรรมนูญเสร็จสิ้นแล้วการ Kick-Off ถัดมาคือการจัดโครงสร้างธุรกิจครอบครัว (Business Restructuring) วางแผนการสืบทอดกิจการที่มั่นคง โดยมีการสนับสนุนด้านกฎหมาย และภาษีอากรให้ตอบโจทย์การส่งต่อธุรกิจครอบครัวอย่างยั่งยืน
ธุรกิจครอบครัวเป็นศาสตร์ และศิลป์ที่จะต้องใช้หลากหลายแขนงประกอบกันเพื่อได้สูตรผสมที่ลงตัวในแต่ละธุรกิจครอบครัว การได้มาซึ่งธุรกิจครอบครัวที่ยั่งยืน แกนกลางสำคัญคือ “การสื่อสาร” ภายในครอบครัวอย่างต่อเนื่อง ครอบครัวจำเป็นอย่างมากที่จะต้องโอบรับการขัดแย้งอย่างสร้างสรรค์ (Constructive Conflict) เพื่อให้ได้ซึ่งการต่อยอดสิ่งใหม่ ๆ ไม่ใช่ย่ำอยู่ที่เดิม และสร้างเวทีในการสื่อสารให้กับสมาชิกครอบครัวเพื่อส่งเสริมการทำให้ธุรกิจครอบครัวอยู่ยั้งยืนยงในอนาคตจากมือสมาชิกครอบครัวทุกคน