เมื่อธุรกิจครอบครัวต้องเริ่มคิดแบบเจ้าของ

   คำสอนผู้ใหญ่หลายท่านที่ชอบบอกให้คนในครอบครัวคิดแบบเถ้าแก่ คิดแบบผู้บริหาร หรือว่าง่ายๆ คือ “คิดแบบผู้ประกอบการ” (Entrepreneurial Mindset) ไม่ว่าจะเป็นการสื่อสารระหว่างพ่อไปลูก หรือผู้ใหญ่สู่เด็ก การมีแนวคิดดังกล่าวคงไม่อาจปฏิเสธได้ว่านั้นคือการผลักดันให้คนในครอบครัวหันมามีแนวคิดพัฒนา ต่อยอดธุรกิจครอบครัว แต่ด้วยยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงไป การคิดแบบผู้ประกอบการนั้นเพียงพอหรือไม่ที่จะทำให้ธุรกิจครอบครัวของเรานั้นสามารถอยู่รอดในยุคสมัยที่ต้องเปลี่ยนแปลงทั้งบริบทธุรกิจ และตอบรับความต้องการของสมาชิกครอบครัว?

ต้องทำความเข้าใจก่อนว่าการมี Entrepreneurial Mindset ไม่ใช่เรื่องผิดแปลกอะไร Mindset กล่าวเกิดขึ้นจากการพัฒนาของระบบความคิดของธุรกิจครอบครัวโดยปรับเปลี่ยนตามช่วงเวลา ดังนี้


กรอบแนวคิดช่วงแรก Survivalist Mindset: แนวคิดเพื่อการอยู่รอด ส่วนใหญ่แล้วจะกล่าวถึงรุ่นก่อตั้งที่ยังไม่มีธุรกิจ ยังเป็นลูกจ้าง หรือพึ่งตั้งร้านตนเองเล็กๆ อยู่ในช่วงอพยพจากถิ่นที่อยู่เดิมมาอยู่ในไทย (อาทิ คนจีนโพ้นทะเล เป็นต้น) จึงต้องหาทางอยู่รอดด้วยความยากลำบาก กลุ่มคนดังกล่าวมีมุมมองในการเก็บเงินสด เพื่อสำรองไว้เผื่อกรณีฉุกเฉินต่าง ๆ กลยุทธ์ของธุรกิจส่วนใหญ่จะเน้นหลักไปในเรื่องของยอดขาย และสภาพคล่องของธุรกิจ ยังไม่สนใจในการลงทุนอื่นเนื่องจากยังไม่มีความมั่นคงในกิจการที่มี และยังต้องบริหารทุกแผนกในธุรกิจ เนื่องจากต้องการประหยัด และคิดว่ายังไม่จำเป็น

กรอบแนวคิดช่วงที่สอง Entrepreneurial Mindset: แนวคิดเพื่อการทำงานบริหารธุรกิจ จะกล่าวถึงรุ่นก่อตั้ง และรุ่นที่ 2 ที่เริ่มสร้างกิจการมาได้ถึงระดับหนึ่ง มีความมั่นคงด้านการเงินของธุรกิจ และครอบครัวในระดับที่น่าพึงพอใจซึ่ง Mindset ดังกล่าวสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 กลุ่มย่อย นั้นก็คือ แนวคิดนักปฏิบัติ (Operations Mindset) และแนวคิดผู้ประกอบการ (Entrepreneurial Mindset)

Operations Mindset มีมุมมองที่จะทำงานอย่างหนักเพื่อคงธุรกิจที่ได้สร้าง หรือสืบทอดให้อยู่คงเดิม ทั้งผลกำไรและการทำงาน มีความกล้าที่จะนำเครื่องจักร หรือเครื่องมือที่จะทำให้เกิดผลกำไรทั้งนี้ จะยังไม่กล้าที่จะลงทุนในระบบ หรือลงทุนนอกธุรกิจเดิม เนื่องจากยังคงเชื่อการบริหารแบบการเอาตัวรอดที่ทำให้ผ่านวิกฤตมาได้ และยังไม่ไว้ใจมืออาชีพในการบริหารงานแทน

Entrepreneurial Mindset มีมุมมองที่จะวางกลยุทธ์เพื่อสร้างธุรกิจให้เป็นมืออาชีพมากขึ้น กล้าลงทุนในเครื่องจักร เครื่องมือ ระบบ คน และอื่น ๆ เพื่อส่งเสริมผลกำไร และการทำงานให้มีประสิทธิภาพในธุรกิจ กระจายการบริหารสู่สมาชิกครอบครัวคนอื่น หรือมืออาชีพตามความสามารถ และเริ่มหาโอกาส เพื่อที่จะลงทุนในธุรกิจเดิม หรือสร้างธุรกิจใหม่ในอนาคต


ทั้ง 2 Mindset ถูกพัฒนาขึ้นตามการเติบโตของธุรกิจครอบครัว แต่ในการเปลี่ยนแปลงของครอบครัวที่มากขึ้นทำให้แนวคิดที่พัฒนามาจากธุรกิจครอบครัวอย่างเดียว “คงไม่พอ” เพราะเวลาผ่านไป สมาชิกครอบครัวของเรายิ่งมากขึ้น รายจ่าย ความมั่งคั่ง ความแตกต่างในการตัดสินใจยิ่งมากขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ดังนั้น ความคิดแบบผู้ประกอบการที่เป็นอยู่ปัจจุบันคงไม่พอหากจะทำให้ธุรกิจครอบครัวของเราเติบโต ขยับขยายเพื่อรองรับการอยู่รอดของกงสี ด้วยเหตุนี้ ธุรกิจครอบครัวจึงต้องปรับเปลี่ยนจากแนวคิดผู้ประกอบการ และเริ่มสร้างแนวคิดฉบับเจ้าของ (Ownership Mindset)

แนวคิดของความเป็นเจ้าของคือแนวคิดที่มีมุมมองในการสร้างกลุ่มธุรกิจครอบครัวให้เข้มแข็งโดยไม่ยึดติดที่ครอบครัวอีกต่อไป มีกลยุทธ์ในการนำเครื่องมือทางการเงิน เพื่อซื้อขาย หรือควบรวมกิจการเพื่อความสะดวก และมีประสิทธิภาพในการสร้างผลกำไร โดยวางโครงสร้างธุรกิจ และการถือหุ้น รวมถึงการสร้างธรรมาภิบาลครอบครัวให้เข้มแข็งเพื่อส่งต่อธุรกิจอย่างราบรื่น

หากมองให้กว้างขึ้น แนวคิดนี้ก็อาจสื่อได้ถึงแนวคิดของนักลงทุน (Investor) ที่มองถึงความยั่งยืนของกิจการโดยไม่ได้ลงมาเป็นผู้บริหาร เป็นเถ้าแก่ แต่ให้คนที่มีความรู้ความสามารถมีความเชี่ยวชาญ เป็นมืออาชีพ (Professional) เข้ามาบริหารผลักดันกลยุทธ์ให้เกิดขึ้นได้จริงตามนโยบายที่ “เจ้าของ” ได้กำหนด แต่ความเป็นเจ้าของในธุรกิจครอบครัวไม่ได้มองในเรื่องของอนาคตธุรกิจเพียงเท่านั้น หากแต่จะต้องมองไปถึงอนาคตระยะยาวที่ครอบครัวจะสานต่อในกิจการดังกล่าวอีกด้วย ซึ่งการจะมี Ownership Mindset จะต้องประกอบไปด้วยแนวคิดที่สนับสนุนการเติบโตของกงสี ดังต่อไปนี้

1. แยกตัวเองจากการบริหาร เว้นไว้แต่ตำแหน่งที่จำเป็น: ไม่ใช่ทุกคนควรจะต้องมาทำงานในกิจการครอบครัว เนื่องจากสมาชิกครอบครัวอาจไม่ได้เป็นตัวเลือกที่แข็งแกร่งที่สุดในตำแหน่งดังกล่าวของโครงสร้างการทำงาน (เว้นแต่มีคนในครอบครัวที่เหมาะสมที่สามารถพิสูจน์ได้อย่างโปร่งใส) และสร้างความเข้าใจหากมีตำแหน่งบางตำแหน่งที่จำเป็นที่จะต้องเป็นของสมาชิกครอบครัวเท่านั้น (ไม่ควรเกินกึ่งหนึ่งของทีมกรรมการ และ/หรือผู้บริหาร) เพื่อส่งเสริมความเป็นมืออาชีพในองค์กร

2. ลงทุนขยายกิจการ ตอบโจทย์ความต้องการที่หลากหลายภายในกงสี: กิจการครอบครัวในปัจจุบันอาจไม่ใช่ความฝัน และจุดมุ่งหมายของสมาชิกครอบครัว โดยกงสีเราจะต้องขยายกิจการ “สร้างโอกาส” จากความชอบ ความสามารถ ความเชี่ยวชาญของสมาชิกครอบครัว “สนับสนุนทุนทรัพย์” จนก่อให้เกิดกิจการที่ยังเป็นของกงสี สร้าง Family Business Portfolio ให้เข้มแข็ง และน่าดึงดูด

3. คงความเป็นกงสี สร้างความเป็นเจ้าของร่วม: แม้กลุ่มธุรกิจครอบครัวจะขยายฐานออกไปหลากหลายกิจการ แต่ความเป็นเจ้าของจะต้องมีร่วมกัน โดยใช้ประโยชน์จากโครงสร้างธุรกิจ (Business Structure) โดยสามารถสร้าง บริษัทโฮลดิ้งครอบครัว Family Holding Company เพื่อสร้างเป็นกงสีใหม่ให้กับทุกคนในครอบครัว (อ่านบทความ Family Holding Company เพิ่มเติม)

4. วางค่านิยม สร้างรากฐานความเป็นกงสี: ค่านิยมครอบครัว (Family Value) คือสิ่งสำคัญที่สุดในการดำเนินธุรกิจครอบครัว แม้คำว่า Family Value อาจเป็นเหมือนนามธรรมที่จับจุดไม่ได้ แต่จากประสบการณ์ที่ปรึกษาธุรกิจครอบครัว การจับ Family Value ให้เกิดเป็นรูปมากขึ้นคือการสร้างความเข้าใจร่วมกันว่า “ครอบครัวเราทำธุรกิจครอบครัวไปเพื่ออะไร” และ “หลักการคิดอะไรในครอบครัวจะถูกนำมาพิจารณาเมื่อต้องตัดสินใจภายในกงสี” เมื่อคนในครอบครัวมี Family Value ที่เหมือนกันการตัดสินใจในกิจธุระของธุรกิจ และครอบครัวก็จะมีความราบรื่น เกิดความชัดเจนโปร่งใส ซึ่งจะก่อให้เกิดความเชื่อใจในการตัดสินใจระหว่างกัน

5. วางแผนการสืบทอด สร้างกระบวนการเสริมความยืดหยุ่น: ธุรกิจครอบครัวคือการวางแผนระยะยาวเพื่อส่งต่อความมั่งคั่งจากรุ่นสู่รุ่น การมีมุมองแนวคิดในการวางกระบวนการสืบทอดกิจการทั้งในด้านความเป็นเจ้าของ และในด้านการบริหาร (ตามความจำเป็นของข้อที่ 1.) นั้นถือว่าเป็นแนวคิดที่ “เจ้าสัว” หลายธุรกิจได้ประยุกต์ใช้เพื่อส่งต่อธุรกิจครอบครัวของตนทั้งนี้สมาชิกครอบครัวจะต้องถูกปลูกฝัง Family Value ทุกคน และจะต้องสร้างกระบวนการในการคัดเลือกรวมถึงส่งมอบอย่างชัดเจนโปร่งใสเพื่อทำให้การส่งมอบกิจการเป็นไปอย่างถูกยืดหยุ่นลดความเสี่ยงมากที่สุด


หากกล่าวโดยสรุป

เมื่อธุรกิจครอบครัวเริ่มคิดแบบเจ้าของ (Ownership Mindset) ธุรกิจครอบครัวก็จะเริ่มขยับตัวออกจากกรอบความเป็นระบบ “เถ้าแก่” ระบบ “ครอบครัว” และก้าวเข้าสู่ความเป็นมืออาชีพมากขึ้น สมาชิกครอบครัวจะถูกกระตุ้น และผลักดันในก้าวเข้ามาในธุรกิจครอบครัวโดยไม่ใช่รูปแบบเพียงแค่การทำงาน แต่เป็นการพัฒนาต่อยอดกลุ่มธุรกิจครอบครัวให้เติบใหญ่ โดยมีความเป็นเจ้าของร่วมกัน และกระจายความมั่งคั่งสู่ทุกคนอย่างเหมาะสม แนวคิดความเป็นเจ้าของจะ “ลดแรงกาย” ของคนในครอบครัว แต่ “เพิ่มการใช้หัวคิด” หาวิธีต่อยอด ผนวกเครื่องมือมืออาชีพที่มีความสามารถเพื่อเป็นกำลังให้แก่ธุรกิจครอบครัวฟันฝ่าความท้าทายที่เกิดขึ้น โดยมีค่านิยมครอบครัวเป็นรากฐานในการค้ำจุนครอบครัวอยู่ และมีการวางกระบวนการส่งต่อธุรกิจอย่างชัดเจน โปร่งใสเพื่อให้ทุกคนในครอบครัวสบายใจว่าธุรกิจครอบครัวของเราจะอยู่รอดปลอดภัย ไม่ใช่ภาระ แต่เป็นโอกาส เป็นความมั่งคั่งแก่คนรุ่นหลังเพื่อทำการต่อยอดต่อไป

Previous
Previous

มองธุรกิจครอบครัวผ่านโมเดลการดำเนินธุรกิจครอบครัวเพื่อรุ่นถัดไป GST#1

Next
Next

กงสีลอกคราบสละธุรกิจครอบครัวเดิม ผิดหรือไม่?