ธรรมนูญครอบครัวไม่ใช่สัญญาทางกฎหมาย!?

ธุรกิจครอบครัวเป็นกิจการรูปแบบหนึ่งที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว เนื่องจากต้องผสมผสานความสัมพันธ์ส่วนตัวเข้ากับความรับผิดชอบทางธุรกิจ ซึ่งความสมดุลที่ละเอียดอ่อนนี้มักจะต้องการการวางแผนอย่างรอบคอบและการกำกับดูแลเพื่อให้ทั้งครอบครัวอยู่ร่วมกันอย่างราบรื่นและธุรกิจประสบความสำเร็จ และด้วยเอกลักษณ์เฉพาะตัวนั้น ทำให้หลายกงสีที่เมื่อก่อนไม่ได้มีการทะเลาะพิพาทกันกลับกลายมาเป็นทะเลาะกันเพราะการไม่ได้วางแผนอย่างครอบคลุม

ดังนั้นแล้ว หนึ่งในเครื่องมือที่ได้รับความนิยมมากขึ้นในบริบทนี้คือ ธรรมนูญครอบครัว ซึ่งจากประสบการณ์ที่ปรึกษาธุรกิจครอบครัวนั้นสามารถกล่าวได้เลยว่าธรรมนูญครอบครัวเป็นเครื่องมือที่ช่วยผสานความเข้าใจระหว่างสมาชิกครอบครัว และวางแผนการพัฒนาต่อยอด ปรับโครงสร้างที่เหมาะสม วางแผนการสืบทอดกิจการอย่างมีระบบ และสร้างการสื่อสารอย่างชัดเจนโปร่งใส ถึงกระนั้นแล้ว ก็มีหลายธุรกิจครอบครัวที่คิดว่า ธรรมนูญครอบครัวคือสัญญาที่ผลทางกฎหมาย ทั้งที่ความเป็นจริงแล้ว “ธรรมนูญครอบครัวไม่ใช่เอกสารทางกฎหมาย”

แม้ว่าหลายคนอาจคิดว่าธรรมนูญครอบครัวเป็นเอกสารทางกฎหมาย แต่จริงๆ แล้วมันเหมือนกับแผนที่นำทางที่ช่วยชี้นำครอบครัวตามข้อตกลงที่ครอบครัวไว้พูดคุยหารือกัน เป็นกรอบการทำงานเพื่อให้เข้าใจถึงคุณค่าร่วมกัน กำหนดเป้าหมาย และสร้างโครงสร้างการกำกับดูแล อย่างไรก็ตาม สิ่งสำคัญที่จะต้องเน้นย้ำอีกครั้งหนึ่งนั้นก็คือ “ธรรมนูญครอบครัวนั้นไม่ใช่เอกสารที่มีผลผูกพันทางกฎหมาย” แต่จะต้องปฏิบัติใช้และนำไปปรับใช้ให้เกิดผลตามกฎหมายอย่างครอบคลุม


ธรรมนูญครอบครัวคืออะไร?

“ธรรมนูญครอบ” เป็นเครื่องมือในการอยู่ร่วมกันของครอบครัวเพื่อพัฒนาองค์ประกอบสำคัญของธุรกิจครอบครัวซึ่งคือความเป็นเจ้าของ ความมั่งคั่ง (ในธุรกิจ และครอบครัว) และความเป็นครอบครัวให้ต่อยอดธุรกิจครอบครัว และความมั่งคั่งจากรุ่นสู่รุ่น การจัดทำธรรมนูญครอบครัวเป็นดั่งรากฐานสำคัญในการวางโครงสร้างธุรกิจครอบครัวให้เติบโต และสามารถสืบทอดธุรกิจครอบครัวจากรุ่นสู่รุ่น หลายธุรกิจครอบครัวที่ได้ให้คำปรึกษาก็ได้จัดทำธรรมนูญครอบครัวเพื่อสร้างหลักเกณฑ์ในการบริหาร และสร้างกฎในการอยู่ร่วมกัน ได้รับ “ผลประโยชน์เท่าเทียม” ตรงไปตรงมา ไม่มีหมกเม็ด ไม่สร้างข้อสงสัยภายใต้การตัดสินใจของคนในครอบครัว

โดยธรรมนูญครอบครัวจะแบ่งออกเป็น 9 องค์ประกอบสำคัญที่สมาชิกครอบครัวจะต้องพูดคุย พิจารณาอย่างเจาะลึกเพื่อตกผลึกมาได้เป็นข้อตกลงของครอบครัว ดังนี้

  1. ค่านิยมครอบครัว - Family Values

  2. อนาคตธุรกิจครอบครัว - Family Business Future

  3. โครงสร้าง (ธุรกิจ และครอบครัว) – Business & Family Structure

  4. สิทธิ หน้าที่ – Right & Responsibility

  5. สวัสดิการ & เงินครอบครัว - Family Welfare & Family Fund

  6. การบริหารธุรกิจครอบครัว - Family Business Management

  7. การสืบทอดธุรกิจครอบครัว - Succession Planning

  8. ทรัพย์สิน & ความมั่งคั่ง - Asset & Wealth

  9. กฎบ้าน – House Rules


พื้นฐานของธรรมนูญครอบครัว คือข้อตกลงไม่ใช่สัญญาทางกฎหมาย

แม้ว่า ธรรมนูญครอบครัวจะเป็นกรอบการทำงานที่เกิดจากข้อตกลงของครอบครัว แต่สิ่งสำคัญคือต้องเข้าใจว่าธรรมครอบครัวนั้น “ไม่ใช่สัญญาที่มีผลผูกพันทางกฎหมาย” แต่จะเป็นเครื่องมือที่ใช้ในการทำความเข้าใจของสมาชิกครอบครัวโดยที่ทุกคนมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ และชี้แนวทางการปฏิบัติตัว แต่ไม่มีผลทางกฎหมายดั่งสัญญาซื้อ/ขาย หรือเอกสารกฎหมายอื่นใดที่ทุกคนเข้าใจกัน

ความเข้าใจผิดนี้ก่อเกิดขึ้นจากการที่ธรรมนูญครอบครัวมักถูกจัดทำขึ้นด้วยความรอบคอบ และบางครั้งก็ดูเป็นทางการมากกว่าธรรมชาติครอบครัว ธรรมนูญครอบครัวมักมีความช่วยเหลือจากที่ปรึกษาธุรกิจครอบครัวที่มีองค์ความรู้ด้านกฎหมาย และภาษีอากร ด้วยเหตุนี้ทำให้ครอบครัวเข้าใจว่าสิ่งที่ตนเองกำลังทำอยู่นั้นคือเอกสารที่มีผลผูกพันทางกฎหมาย อย่างไรก็ตาม จุดประสงค์หลักของธรรมนูญครอบครัวคือเพื่อสร้างความเข้าใจร่วมกัน ไม่ใช่เพื่อสร้างพันธะที่สามารถบังคับใช้ทางกฎหมายดั่งที่หลายคนเข้าใจผิด


จะทำให้กฎธรรมนูญครอบครัวที่ตกลงกันมีผลทางกฎหมายได้อย่างไร?

หลังจากที่ครอบครัวได้จัดทำธรรมนูญครอบครัวเสร็จเรียบร้อยแล้ว ครอบครัวก็ควรที่จะเริ่มดำเนินการปฏิบัติใช้ธรรมนูญครอบครัว (Family Charter Implementation) โดยสามารถให้ที่ปรึกษาธุรกิจครอบครัวเข้ามาสนับสนุนแนวทางดังกล่าวเพื่อให้การปรับใช้อย่างมีประสิทธิภาพ และครอบคลุมมากที่สุด โดยจะมี 2 องค์ประกอบที่กงสีควรจะพิจารณานั้นก็คือการปรับใช้ในด้านครอบครัว และการปรับใช้ในด้านธุรกิจ

ในมิติด้านครอบครัว หลังจากที่รับทราบกฎระเบียบเป็นที่เรียบร้อยก็ควรที่จะจัดทำเอกสารทางกฎหมายที่สนับสนุนกฎระเบียบของบ้านที่เกี่ยวข้อง อาทิเช่น หากครอบครัวระบุกฎระเบียบในธรรมนูญครอบครัวว่าหุ้นจะต้องตกไปสู่บุตร หลานทางสายเลือกเท่านั้น ดังนั้นแล้ว ในเชิงบุคคลก็ควรที่จะมีการจัดทำพินัยกรรมของผู้ถือหุ้นคนปัจจุบันเพื่อระบุให้หุ้นนั้นตกทอดตามเจตนารมณ์ และข้อตกลงของธรรมนูญครอบครัว หรือมากไปกว่านั้นครอบครัวก็สามารถจัดทำสัญญาก่อนสมรส หรือสัญญาระหว่างสมรส เพื่อวางกรอบการถือครองทรัพย์สินหากต้องมีการแยกทางระหว่างคู่สมรสคนใดก็ตามในครอบครัว เป็นต้น หรือหากครอบครัวระบุกฎระเบียบในธรรมนูญครอบครัวว่าทรัพย์กงสี (ตามข้อที่ 8. โครงสร้างทรัพย์สิน) จะต้องแยกกันถือครองแบบ 1 โฉนด / 1 ครอบครัว ตามที่ตกลงกันไว้ ครอบครัวก็ควรที่จะเริ่มมีการจัดสรรโอนทรัพย์กงสีให้เป็นไปตามนโยบายกงสี และสามารถทำเอกสารการถือครองทรัพย์สินแทนกันเพื่อแสดงถึงสิทธิที่แท้จริงของการถือครองที่ดินแต่ละแปลงไว้นั้นเอง

ในมิติด้านธุรกิจ เมื่อกงสีได้ตกลงไว้ว่าการถือครองหุ้น (ตามข้อที่ 3. โครงสร้างธุรกิจที่ต้องตกลงกันเรื่องหุ้น) จะเป็นเช่นไร ผู้ถือหุ้นของกิจการก็ควรที่จะจัดทำสัญญาผู้ถือหุ้น (Share Holder Agreement) ให้อ้างอิงตามธรรมนูญครอบครัว บางครอบครัวก็กำหนดในหุ้นจะต้องห้ามโอน หรือมีภาระผูกพันธ์กับบุคคลภายนอก หรือหากครอบครัวเราเห็นเป็นอื่นก็จะต้องระบุไว้ให้ตรงตามสิ่งที่ครอบครัวตกลงกัน รวมไปถึงนำเอาข้อตกลงการบริหารธุรกิจ (ตามข้อที่ 6. และ 7. เกี่ยวกับการบริหารธุรกิจ และการสืบทอดกิจการ) มาประยุกต์ใช้ต่อกับข้อบังคับบริษัท (Article of Association) เพื่อสนับสนุนการทำงานของผู้บริหารและกรรมการ รวมไปถึงแก้ไขกฎระเบียบพนักงานตามข้อตกลงการบริหารธุรกิจ และปรับปรุงสวัสดิการธุรกิจ (ตามข้อที่ 5. สวัสดิการครอบครัว) ให้ตรงกับที่ครอบครัวกำหนดไว้ในธรรมนูญครอบครัวเพื่อคนที่ทำงานในกิจการกงสี มากไปกว่านั้นธุรกิจครอบครัวของเราก็จะต้องมีการปรับโครงสร้างการถือหุ้น หรือขยายกิจการให้เป็นไปตาม แผนอนาคตธุรกิจครอบครัว (ตามข้อที่ 2. อนาคตธุรกิจครอบครัว) ที่เป็นนโยบายที่ครอบครัวตกลงกันเพื่อให้สิ่งที่เป็นสัญญาใจของทุกคนในบ้านได้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม


หากจะกล่าวโดยสรุป

แม้ว่าธรรมนูญครอบครัวจะไม่ใช่สัญญาที่มีผลทางกฎหมาย แต่ว่าเอกสารฉบับนี้ก็ถือว่าเป็นสัญญาใจ เป็นข้อตกลงตรงกลางที่ทุกคนในบ้านได้ตั้งเป้าหมายร่วมกันไว้ และก็คงเป็นที่น่าเสียดายหากข้อตกลงดังกล่าวนั้นจะไม่สามารถนำไปใช้ต่อได้หากไม่ได้เกิดการปฏิบัติใช้อย่างถูกวิธี นอกเหนือไปกว่านั้นธรรมนูญครอบครัวจะต้องถูกนำไปปฏิบัติใช้นอกเหนือจากมิติทางกฎหมายอีกหลากหลายแง่มุม ทั้งในเรื่องของการจัดสรรการดูแลอย่างเท่าเทียม การจัดประชุมครอบครัว การจัดกิจกรรมครอบครัว Family Trip การสร้างความสัมพันธ์ที่ดีภายในกงสี การพัฒนาสมาชิกครอบครัวให้พร้อมและรู้สึกถึงความเป็นเจ้าของกิจการ การส่งต่อความมั่งคั่งจากรุ่นสู่รุ่น การสร้างและบริหารชื่อเสียงกงสี และอื่นๆ อีกมากมาย

ดังนั้นแล้ว หลายครอบครัวจึงเลือกใช้ที่ปรึกษาธุรกิจครอบครัวเข้ามาเป็นตัวแปรความสำเร็จให้ธรรมนูญครอบครัวที่บ้านเราสร้างขึ้นมานั้นสามารถนำมาใช้ได้จริงอย่างเป็นรูปธรรม และสร้างธุรกิจครอบครัวตามที่ทุกคนได้ตกลงกัน

Previous
Previous

วางแผนการสืบทอดเมื่อไหร่ ได้ผลลัพธ์ดีที่สุด EP.1

Next
Next

ธรรมนูญครอบครัวควรเริ่มทำเมื่อไหร่ l GongsiTalk#8