วางแผนการสืบทอดเมื่อไหร่ ได้ผลลัพธ์ดีที่สุด EP.1

เมื่อไหร่ควรวางแผนสืบทอดกิจการ? คำถามนี้มักเกิดขึ้นเสมอเมื่อทุกคนทำงานอยู่ในธุรกิจครอบครัว ผู้ใหญ่หลายๆ ท่าน หรือแม้กระทั้งเด็กรุ่นใหม่หลายๆ คน ก็ได้สอบถามมาอย่างตลอดว่า ว่าการสืบทอดกิจการควรที่จะต้องส่งไม่ต่อช่วงไหน บ้างก็บอกว่าเป็นห่วงที่กิจการยังไม่มีคนที่ใช่ หรืออีกมุมคือกังวลว่าผู้ใหญ่จะอาวุโสเกินไปจนทำให้ธุรกิจไม่สดใหม่ไม่น่าสนใจและจะทำให้คนรุ่นใหม่ “รอไม่ไหว” ออกจากกงสีโดยไม่อยากสานต่อกิจการ

คำถามที่ว่าเมื่อไหร่ควรวางแผนสืบทอดกิจการนั้นสามารถตอบได้ว่า “ยิ่งเร็วเท่าไหร่ยิ่งดี” แต่คำถามที่น่าสนใจ และน่าตั้งถามกับทุกธุรกิจครอบครัวนั้นคือ วางแผนสืบทอดกิจการเมื่อไหร่? ถึงจะได้ผลลัพธ์ที่ดีที่สุด…ซึ่งคำตอบนั้นคงตอบได้ว่า “เริ่มลงมือส่งมอบเมื่อรุ่นผู้ใหญ่ยังสามารถช่วยเหลือ ดูแลรุ่นรับมอบ (รุ่นเด็ก) ได้อยู่” เมื่อนั้นแล้วการส่งมอบนั้นจะเป็นการส่งมอบที่สามารถคาดหวังผลลัพธ์ได้ดีที่สุด

โดยเหตุผลของคำตอบนี้ สามารถแบ่งออกมาได้เป็น 4 เหตุผลสำคัญ ประกอบไปด้วย 1) ประเมิน & สร้างความเชื่อมั่น 2) วางรากฐานการดำเนินธุรกิจที่ถูกต้อง 3) การช่วยเหลือถ่ายโอนการบริหารได้อย่างครอบคลุม และ 4) ลดแรงกดดันจากความอยากเจ้าของ & บริหารธุรกิจ ซึ่งมีรายละเอียด ดังต่อไปนี้


1. ประเมิน & สร้างความเชื่อมั่น “Trust”

“ความเชื่อมั่น (Trust) ไม่ได้มาจากคำพูด แต่มาจากการกระทำ” “Trust is not asked but earned”

คำพูดนี้เป็นคำพูดที่แจ้งให้กับธุรกิจครอบครัวรับทราบทุกครั้งเมื่อไปให้คำปรึกษาธุรกิจครอบครัวในการจัดทำธรรมนูญครอบครัว และ/หรือวางแผนสืบทอดธุรกิจ หลายครั้งที่สมาชิกรุ่นใหม่มักใจร้อนและอยากที่จะให้ผู้ใหญ่เชื่อมั่น หรือยอมรับในตัวตนซึ่งส่วนใหญ่ก็มาจากคำพูดให้ “เชื่อในพวกเขา” และ “ปล่อยให้เขาทำ” แต่ในความเป็นจริงแล้วการที่สมาชิกอาวุโสจะเชื่อมั่นสมาชิกรุ่นใหม่นั้นมันมาจากการกระทำ ไม่ใช่คำพูดที่ขอความเชื่อมั่น ดังนั้นแล้ว การสืบทอดกิจการที่ดีนั้น ผู้อาวุโสก็ควรที่จะไม่ได้วางแผนเพื่อที่จะสืบทอดการบริหารเพียงเท่านั้น แต่ต้องวางกระบวนการเพื่อประเมินและสร้างความเชื่อมั่นในคนรุ่นใหม่ด้วยเช่นเดียวกัน

เมื่อผู้ใหญ่เป็นฝ่ายเริ่มต้นเตรียมความพร้อมให้กับรุ่นถัดไป พวกเขาจะเริ่มสื่อสาร และแสดงให้เห็นถึงความคาดหวังว่าหากพวกเขาจะมีความเชื่อมั่นในความสามารถของคนรุ่นใหม่บทพิสูจน์อะไรที่คนรุ่นใหม่จะต้องพิชิตเพื่อสร้างความมั่นใจได้ แต่ถึงกระนั้น แม้ผู้ใหญ่จะสร้างกรอบหรือกฎเกณฑ์เพื่อประเมิน รุ่นผู้ใหญ่ก็ควรที่จะมีส่วนในการให้คำปรึกษา การให้คำแนะนำ และการมอบหมายงานที่มีความรับผิดชอบมากขึ้น เพื่อแสดงถึงการสนับสนุนคนในครอบครัวรุ่นใหม่ๆ อย่างเต็มที่ เพราะเมื่อถึงเวลาที่สมาชิกครอบครัวรุ่นใหม่พร้อมที่จะรับตำแหน่งผู้สืบทอด พวกเขาก็จะมีประสบการณ์และความมั่นใจที่จำเป็นต่อความสำเร็จ

มากไปกว่านั้น การสร้าง Trust ให้กับสมาชิกครอบครัวรุ่นใหม่ที่เข้ามาสานต่อกิจการนั้นไม่ได้มีผลเฉพาะการยอมรับทางฝั่งของครอบครัวเท่านั้น แต่ก็จะมีผลในเชิงธุรกิจอย่างมีนัยยสำคัญเช่นเดียวกัน เนื่องจากคนรุ่นใหม่ที่พิสูจน์ตนเองจนสามารถสร้าง Trust ให้กับตนเองได้แล้วนั้น ผู้มีส่วนได้เสีย (Stakeholders) อาทิ พนักงาน หุ้นส่วน และคู่ค้าต่างๆ ก็จะมองเห็นว่าสมาชิกครอบครัวเหล่านี้สมควรได้รับตำแหน่ง ซึ่งจะยอมรับในการทำงานภายในบริษัทอย่างไร้ข้อกังขา หรือในทางกลับกัน หากสมาชิกครอบครัวไม่ได้มี Trust มาตั้งแต่ต้น แต่ได้รับตำแหน่งเพียงเพราะเป็นลูกทางสายเลือดในครอบครัว ความเคารพหรือความไว้วางใจในการทำงานร่วมกันกับ Stakeholders ก็อาจเกิดขึ้นได้ลำบากและจะเกิดผลกระทบต่อการทำงานอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้


2. วางรากฐานการดำเนินธุรกิจที่ถูกต้อง

การวางแผนสืบทอดไม่เพียงแต่เกี่ยวกับการส่งต่อความเป็นเจ้าของ (Ownership) และตำแหน่งบริหาร (Management) เพียงอย่างเดียว แต่การสืบทอดธุรกิจครอบครัวที่ครอบคลุม ยังต้องรวมถึงการส่งต่อหลักการและแนวทางการดำเนินธุรกิจ กล่าวคือหลักธรรมาภิบาลของครอบครัว (Governance) อีกด้วย ธุรกิจครอบครัวที่ได้ให้คำปรึกษาซึ่งเรียกได้ว่าเป็นธุรกิจที่ประสบความสำเร็จนั้น ได้ดำเนินกิจการภายใต้หลักธรรมาภิบาลครอบครัวซึ่งประกอบไปด้วยเรื่องของค่านิยม (Value) กฎระเบียบครอบครัว (Rules) สิทธิและหน้าที่ (Right and Responsibility) รวมไปถึงกลยุทธ์ที่สะท้อนถึงวิสัยทัศน์ของกลุ่มครอบครัว ธรรมาภิบาลการเหล่านี้มักไม่ได้เป็นเพียงแค่เป้าหมายทางการเงินเท่านั้น แต่ยังรวมถึงวัฒนธรรมของบริษัท เป็นเข็มทิศที่ผู้นำอาวุโสส่วนใหญ่ที่มักจะเป็นผู้ที่สร้างหรือดูแลธุรกิจมายาวนาน จึงเป็นธรรดาที่รุ่นใหญ่จะเป็นคนที่สามารถสื่อสาร และส่งต่อค่านิยมและแนวทางปฏิบัติเหล่านี้สู่รุ่นถัดไปได้

การเริ่มต้นวางแผนสืบทอดกิจการโดยที่ผู้ใหญ่ยังช่วยเหลือ และสนับสนุนได้อยู่ทำให้พวกเขาสามารถมีเวลาที่จะสื่อสารแนวทางเหล่านี้ไปสู่รุ่นถัดไปได้อย่างชัดเจน พวกเขาสามารถอธิบายเหตุผลของการวางธรรมาภิบาลเหล่านี้ รวมไปถึงสามารถบอกถึงเบื้องหลังการตัดสินใจที่ได้มาซึ่งค่านิยมของครอบครัวที่สำคัญต่างๆ

กรณีศึกษาหนึ่งที่ครอบครัวมีค่านิยม และธรรมเนียมปฏิบัติในการคงเงินสดไว้ในกิจการให้ธุรกิจยังสามารถดำเนินต่อไปได้ไม่น้อยกว่า 1 ปี สมาชิกครอบครัวรุ่นใหม่ที่เข้ามาทำงานในกงสีก็เกิดข้อสงสัยในวิถีดังกล่าวของผู้ใหญ่จึงได้ตั้งคำถามท้าทายถึงความจำเป็น และมองว่าเงินดังกล่าวหากเก็บไว้ก็ด้อยค่าจึงควรที่จะเอาไปลงทุนในทรัพย์สิน หรือขยายกิจการเพิ่มเติม โดยมองว่าควรที่จะสำรองเงินไว้ประมาน 3-4 เดือนเท่านั้น ทางผู้ใหญ่จึงบอกถึงเบื้องหลังว่าเมื่อครั้งธุรกิจครอบครัวเผชิญกับวิกฤตฟองสบู่แตกปี พ.ศ. 2540 ครอบครัวไม่ได้สำรองเงิน ไว้เยอะและคิดแบบที่ลูกหลานคิด (สำรองเงินไว้เพียง 1 ไตรมาส) แต่เมื่อเจอวิกฤตจึงทำให้ทั้งธุรกิจและครอบครัวถึงขั้นเกือบถังแตกและต้องปิดกิจการ โชคที่ดีอากงสามารถกู้ยืมเงินจากเพื่อนคนหนึ่งมาได้ แต่ต้องแลกกับการขายหุ้นให้กับเพื่อนถึง 49% จึงสามารถพยุงตนเองผ่านวิกฤตมาได้ แต่ต้องแลกด้วยสัดส่วนการถือหุ้นของครอบครัวที่ลดลงอย่างน่าใจหาย ด้วยเหตุนี้แล้วครอบครัวเลยถือเป็นธรรมเนียมปฏิบัติว่า ไม่ว่าอย่างไรต้องกักเก็บเงินสด หรือกำไรสะสมที่สามารถใช้ได้ในกิจการไม่น้อยกว่า 1 ปี เพื่อหล่อเลี้ยงหากเกิดวิกฤตใดอีก ซึ่งแนวคิดดังกล่าวสามารถกลับมาได้ใช้อีกรอบในช่วง COVID-19 ที่ผ่านมา ทำให้ธุรกิจครอบครัวสามารถผ่านวิกฤตมาได้อีกครั้งโดยที่ครั้งนี้ไม่ต้องสูญเสียสิ่งใด

ในทางกลับกัน หากครอบครัวไม่มีแผนการสืบทอดตำแหน่งที่ชัดเจนและไม่มีการสื่อสารถึงค่านิยม หลักธรรมาภิบาลของครอบครัว ครอบครัวก็จะมีความเสี่ยงที่การดำเนินธุรกิจจะเกิดหลงทิศทางจากหลักการที่วางไว้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นอย่างรีบร้อนหรือไม่ได้รับการวางแผนอย่างรอบคอบ ดังนั้นแล้ว การวางแผนการสืบทอดโดยมีรากฐานเรื่องของธรรมาภิบาลครอบครัวจะช่วยให้ผู้นำอาวุโสสามารถให้คำปรึกษารุ่นถัดไป และรับประกันว่าธุรกิจจะยังคงอยู่ในทิศทางที่ถูกต้องตามค่านิยมเดิมต่อไป


โปรดติดตามเหตุผล 3. & 4. ต่อ ได้ในบทความที่ 2.

Previous
Previous

วางแผนการสืบทอดเมื่อไหร่ ได้ผลลัพธ์ดีที่สุด EP.2

Next
Next

ธรรมนูญครอบครัวไม่ใช่สัญญาทางกฎหมาย!?