วางแผนการสืบทอดเมื่อไหร่ ได้ผลลัพธ์ดีที่สุด EP.2
การสืบทอดธุรกิจครอบครัวคือกระบวนการ หาใช่ปรากฎการณ์
“วางกระบวนการ” ลดความเสี่ยง เน้นสื่อสาร เพิ่มประสิทธิภาพ
“รอปรากฎการณ์” เพิ่มเกมส์การเมืองกงสี มุ่งสู่การทะเลาะ แยกกงสี
เมื่อไหร่ควรวางแผนสืบทอดกิจการ? คำถามนี้มักเกิดขึ้นเสมอเมื่อทุกคนทำงานอยู่ในธุรกิจครอบครัว ผู้ใหญ่หลายๆ ท่าน หรือแม้กระทั้งเด็กรุ่นใหม่หลายๆ คน ก็ได้สอบถามมาอย่างตลอดว่า ว่าการสืบทอดกิจการควรที่จะต้องส่งไม่ต่อช่วงไหน บ้างก็บอกว่าเป็นห่วงที่กิจการยังไม่มีคนที่ใช่ หรืออีกมุมคือกังวลว่าผู้ใหญ่จะอาวุโสเกินไปจนทำให้ธุรกิจไม่สดใหม่ไม่น่าสนใจและจะทำให้คนรุ่นใหม่ “รอไม่ไหว” ออกจากกงสีโดยไม่อยากสานต่อกิจการ
คำถามที่ว่าเมื่อไหร่ควรวางแผนสืบทอดกิจการนั้นสามารถตอบได้ว่า “ยิ่งเร็วเท่าไหร่ยิ่งดี” แต่คำถามที่น่าสนใจ และน่าตั้งถามกับทุกธุรกิจครอบครัวนั้นคือ วางแผนสืบทอดกิจการเมื่อไหร่? ถึงจะได้ผลลัพธ์ที่ดีที่สุด…ซึ่งคำตอบนั้นคงตอบได้ว่า “เริ่มลงมือส่งมอบเมื่อรุ่นผู้ใหญ่ยังสามารถช่วยเหลือ ดูแลรุ่นรับมอบ (รุ่นเด็ก) ได้อยู่” เมื่อนั้นแล้วการส่งมอบนั้นจะเป็นการส่งมอบที่สามารถคาดหวังผลลัพธ์ได้ดีที่สุด
โดยเหตุผลของคำตอบนี้ สามารถแบ่งออกมาได้เป็น 4 เหตุผลสำคัญ ประกอบไปด้วย 1) ประเมิน & สร้างความเชื่อมั่น 2) วางรากฐานการดำเนินธุรกิจที่ถูกต้อง 3) การช่วยเหลือถ่ายโอนการบริหารได้อย่างครอบคลุม และ 4) ลดแรงกดดันจากความอยากเจ้าของ & บริหารธุรกิจ ซึ่งบทความ EP1. ได้บอกเหตุผลข้อที่ 1. และ 2. เป็นที่เรียบร้อย ในบทความนี้ขอมาอธิบายเหตุผล 3. และ 4. อย่างละเอียด ดังต่อไปนี้
3. การช่วยเหลือถ่ายโอนการบริหารได้อย่างครอบคลุม
ความท้าทายที่ยากที่สุดในการสืบทอดกิจการภายในธุรกิจครอบครัวคือการถ่ายโอนการบริหาร เนื่องจากผู้ใหญ่ได้อุทิศทั้งชีวิตเพื่อ “บริหารกิจการ” มามากกว่าครึ่งชีวิต หรือกล่าวได้ว่าทั้งชีวิตก็คงจะไม่ผิดแปลก ดังนั้นการให้ส่งต่อการบริหารก็เหมือนกับการให้ผู้ใหญ่เลิกทำสิ่งที่เป็นดั่งชีวิตตัวเอง และต้องส่งต่อให้คนรุ่นใหม่ ดังนั้นแล้วการเปลี่ยนแปลงด้านการโอนการบริหารจากรุ่นหนึ่งไปสู่อีกรุ่นหนึ่งจึงเป็นกระบวนการที่ละเอียดอ่อนอย่างมาก มักมีอารมณ์ ความรู้สึก และความยึดติดเข้ามาเกี่ยวข้องสูง ซึ่งหลายครั้งหากครอบครัวไม่ได้ค่อยๆ ส่งต่อการบริหาร และเกิดเหตุจำเป็นที่คนรุ่นใหม่จะต้องรับช่วงต่อ (อาทิเช่น ปัญหาสุขภาพ การเสียชีวิตระหว่างการส่งต่อการบริหาร คนรุ่นใหม่อาจทำอะไรผิดพลาดและทำให้รุ่นผู้ใหญ่ไม่พอใจ หรือการมีวิสัยทัศน์ที่แตกต่างกันเกี่ยวกับอนาคตของบริษัท ก็จะเป็นตัวแปรทำให้เกิดการกระทบกระทั้งจนมีผลต่อความสัมพันธ์ในครอบครัว ดังนั้นแล้ว การวางแผนสืบทอดตำแหน่งแต่เนิ่น ๆ ช่วยให้ผู้นำอาวุโสสามารถถ่ายโอนอำนาจอย่างค่อยเป็นค่อยไป ทำให้กระบวนการนี้ราบรื่นและเป็นระบบ
การเปลี่ยนอำนาจอย่างเป็นระบบทำให้ผู้นำอาวุโสสามารถลดบทบาทของตนลงทีละน้อย ในขณะที่ยังคงมีบทบาทในการให้คำแนะนำและสนับสนุน การมีช่วงเวลานี้จะเป็นประโยชน์อย่างมาก เพราะช่วยให้สมาชิกครอบครัวรุ่นใหม่สามารถเข้ามารับผิดชอบมากขึ้นภายใต้การเฝ้าดูของผู้นำที่มีประสบการณ์ และเมื่อเวลาผ่านไป รุ่นถัดไปจะรู้สึกมั่นใจในการตัดสินใจ ประกอบกับผู้อาสุโสก็จะรู้สึกเชื่อมั่น (ตามเหตุผลข้อที่ 1.) และยินดีที่จะส่งต่อให้แก่รุ่นถัดไปเป็นผู้นำและบริหารจัดการธุรกิจได้อย่างสบายใจมากขึ้น
นอกจากนี้ การถ่ายโอนอำนาจที่เป็นระบบและค่อยเป็นค่อยไป ยังช่วยเหลือคนรุ่นใหม่ในการบริหารจัดการกับ Stakeholders ของกงสีได้เป็นอย่างดี เพราะหากเกิดการเปลี่ยนแปลงการบริหารอย่างฉับพลัน รวดเร็วเกินไปนั้นก็จะสร้างสร้างความไม่แน่นอนและความไม่มั่นคงภายในครอบครัวที่จะตั้งคำถามเกี่ยวกับศักยภาพ คุณลักษณะ หรือแม้กระทั้งความเหมาะสมในการเป็นผู้นำกลุ่มธุรกิจ เหตุการนี้ของหลายครอบครัวได้กลายมาเป็นสงครามแย่งชิงอำนาจ แก่งแย่งอำนาจบริหารรวมไปถึงความเป็นเจ้าของ (หุ้น) และทำให้เกิดเกมส์การเมืองทะเลาะกันจนกงสีแตกในท้ายที่สุด มากไปกว่านั้นการส่งต่อที่ฉับพลันไม่ได้วางแผนยังก่อให้เกิดความไม่มั่นคงกับ Stakeholder ของธุรกิจ เช่น หุ้นส่วนคนนอก คู่ค้า พนักงาน ลูกค้า เป็นต้น ที่จะต้องตั้งคำถามกับผู้รับมอบเรื่องศักยภาพ และภาวะผู้นำที่เทียบเท่ากับคนก่อนเพื่อให้สามารถสานต่อได้โดยที่ไม่เกิดผลเสียในองค์กร และหากครอบครัวไม่ได้วางแผนการสืบทอดอย่างเป็นระบบ คงเป็นไปได้ยากที่จะทำให้คนรุ่นใหม่สามารถบริหารอย่างราบรื่นตั้งแต่วันแรกที่เข้ามาทำงาน ดังนั้นเอง หากไม่ได้วางแผน และสร้างกระบวนการ Stakeholder คนนอกก็จะไม่เชื่อมั่น “Trust” และพร้อมที่จะ Exit หรือไม่เลือกค้าขายกับกิจการเราและไปจับมือ ค้า/ขายกับคู่แข่ง ด้วยเหตุนี้แล้วการค่อยๆ วางแผนสืบทอดเมื่อผู้อาวุโสยังดูแลได้อยู่จะช่วยให้เกิดการเปลี่ยนผ่าน “Transition” ที่ทุกคนรับทราบ และสร้างความเชื่อมั่น “Trust” ที่ทุกคนยอมรับ มีรากฐานการทำงานตาม Value กงสี (ตามเหตุผลข้อที่ 2.) และสามารถส่งต่อการบริหารได้อย่างราบรื่นหากผู้อาวุโสพิจารณาแล้วว่าคนรุ่นใหม่สามารถทดแทนเขาได้โดยที่จะไม่กระทบต่อกิจการอย่างมีนัยยะสำคัญ
4. ลดแรงกดดันจากความอยากเจ้าของ & บริหารธุรกิจ
ผู้ใหญ่มักคาดหวังว่าสมาชิกครอบครัวรุ่นถัดไปจะเข้ามารับตำแหน่งเป็นผู้นำองค์กร มาบริหารกิจการ แต่ความคาดหวังนี้อาจนำไปสู่ความตึงเครียดได้ หากสมาชิกครอบครัวรุ่นใหม่รู้สึกว่าตนมีสิทธิ์ที่จะเริ่มบริหารธุรกิจโดยเร็วแม้ยังขาดประสบการณ์ เพราะช่วงวัยที่ที่เริ่มอยากสร้างผลงานอันเป็นรูปธรรม ความมุ่งมั่นไฟแรงและองค์ความรู้ที่พวกเขาได้ร่ำเรียนมาจากหลายๆ ที่ ทำให้เกิดความมั่นใจที่อยากจะเริ่มบริหารธุรกิจโดยเร็ว ในทางกลับกัน ผู้นำอาวุโสก็มีความกดดันที่จะต้องสละอำนาจการบบริหารให้แก่คนรุ่นใหม่แม้จะรู้สึกว่ายังไม่เหมาะสม หรือตนที่ยังยึกติดต่ออำนาจการบริหาร (ตามที่ได้กล่าวข้างต้น) และด้วยแรงกดดันตรงนี้เองจึงทำให้หลายครอบครัว “ไม่กล้า” ที่จะวางแผนการสืบทอดกิจการเพียงเพราะความกลัว และความไม่ทราบถึงกระบวนการส่งต่ออย่างถูกต้อง เนื่องจากการวางแผนสืบทอดกิจการสามารถทำได้ด้วยการวางกระบวนการทยอยการส่งมอบอำนาจบริหารจากเล็กไปมาก และสื่อสารอย่างเป็นระยะ ก็จะช่วยลดความขัดแย้งนี้ได้ด้วยการให้เส้นทางที่ชัดเจนในการเตรียมความพร้อมให้กับรุ่นถัดไป และความสบายใจ ความเชื่อมั่น “Trust” ที่จะส่งมอบกิจการแก่รุ่นถัดไป
การวางกระบวนการสืบทอดจะช่วยให้ผู้นำอาวุโสสามารถกำหนดความคาดหวังที่ชัดเจนว่าเมื่อไหร่และอย่างไรที่รุ่นถัดไปจะเข้ามารับตำแหน่งสืบทอดกิจการทั้งมิติของความเป็นเจ้าของ และตำแหน่งบริหาร เนื่องจากการสื่อสารในเรื่องของการส่งต่อระหว่างผู้ส่งมอบ และผู้รับมอบจะช่วยลดความคาดหวังของผู้รับมอบที่ทวีคูณขึ้นทุกวัน รวมไปถึงสื่อสารถึงความคาดหวังของผู้ส่งมอบเกี่ยวกับเกณฑ์ที่กงสีได้ตั้งเป้าหมายไว้ทั้งฝั่งของครอบครัว และธุรกิจ) ซึ่งอาจประกอบไปด้วยแผนการที่ชัดเจนที่ระบุถึงกรอบเวลา หลักเกณฑ์ และขั้นตอนการพัฒนา ที่จะช่วยให้พวกเขาเตรียมความพร้อมในการเป็นเจ้าของและผู้บริหารเมื่อถึงเวลาที่เหมาะสม ในกรณีศึกษาของหลายธุรกิจครอบครัว คนรุ่นใหม่ที่เป็นรุ่นรับมอบเริ่มมีความอยากบริหารกิจการเพราะมองว่าวิธีการบริหารของผู้ใหญ่ล้าหลัง และเชื่องช้าเกินไปจนทำให้ไม่ทันต่อการเปลี่ยนแปลงและพัฒนาตามโลกธุรกิจปัจจุบันจึงอยากที่จะก้าวเข้ามาสร้างการเปลี่ยนแปลงในองค์กร แต่ถึงกระนั้นแล้วพวกเขาก็ยังขาดประสบการณ์ และการเข้าใจการบริหารแบบองค์รวม ซึ่งแตกต่างจากรุ่นผู้ใหญ่ รุ่นส่งมอบ ที่มีทั้งประสบการณ์แและแนวทางการบริหาร “กงสี” แบบองค์รวมที่มากกว่าแต่ขาดแรงผลักดันที่แน่วแน่เนื่องจากการบริหารกิจการที่ยาวนาน เมื่อคนรุ่นใหม่ต้องการแต่ไม่มีการสื่อสารหรือการกระทำใดๆจากรุ่นผู้ใหญ่ จึงเกิดปรากฎการณ์ที่ทุกคนรับทราบดีอยู่แล้วนั้นก็คือ “เด็กรุ่นใหม่ไม่อยากเข้ามาทำงานในธุรกิจครอบครัว เพราะไม่อยากรอคำตอบที่ไม่รู้ว่าคือเมื่อไหร่” หรือในกรณีที่เลวร้ายที่สุดคือ “รวมหัวกันฮุบกิจการกงสี”
ดังนั้น จากการวิเคราะห์ทั้งหมดจะทราบได้ว่าการชะลอการวางแผนสืบทอดจะไม่ทำให้เกิดผลดีแก่กงสีทั้งในระยะสั้นและระยะยาว เพียงแต่จะทำให้รุ่นผู้ใหญ่รู้สึกสบายใจที่ไม่ต้องมาวางแผนที่ตนเองก็ยังไม่ทราบทางออกแต่ก็ไม่เสาะหาทางออกอย่างเป็นกระบวนการ มากไปกว่านั้น การส่งต่ออย่างเป็นระบบยังช่วยให้ผู้อาวุโสสามารถมีส่วนร่วมในธุรกิจได้ในขณะที่พวกเขายังสามารถทำได้ โดยไม่รู้สึกว่าเร่งรีบ กดดันจากสิ่งเร้าที่จะต้องสละอำนาจ ทำให้พวกเขายังคงสามารถควบคุมและมีบทบาทในช่วงเปลี่ยนผ่านได้ ช่วยให้สมดุลระหว่างความต้องการของทั้งสองรุ่น ลดความขัดแย้งที่อาจเกิดขึ้น และทำให้การเปลี่ยนแปลงราบรื่นยิ่งขึ้น หรือหากพวกเขาได้มอบตำแหน่งผู้บริหารสูงสุดแก่สมาชิกรุ่นใหม่ได้ พวกเขาก็ยังสามารถดูแลกิจการจากการเป็นผู้กำหนดตัดสินใจนโยบายขององค์กรผ่านโครงสร้างกรรมการ ที่สามารถออกแบบได้โดยไม่ไปยุ่งเกี่ยวด้านการบริหารของคนรุ่นใหม่
โดยสรุป
การสืบทอดธุรกิจครอบครัวที่ดีจะต้องเป็นการส่งต่อกิจการในมิติของการสานต่อความเป็นเจ้าของ และตำแหน่งการบริหารอย่างเป็นระบบและมีกระบวนการสื่อสารอย่างสม่ำเสมอ เพื่อขจัดความท้าทายอันรุนแรงที่ธุรกิจครอบครัวมักเผชิญหากไม่ได้วางแผนการส่งต่ออย่างถูกต้อง หรือไม่ได้อย่างสืบทอดอำนาจเพราะตนเองไม่พร้อม การสืบทอดธุรกิจครอบครัวเมื่อผู้อาวุโสยังมีความสามารถและช่วยดูแลสมาชิกคนรุ่นใหม่ได้นั้นจึงถือเป็นกลยุทธ์ที่มีประสิทธิภาพที่สุด และเป็นคำตอบแก่ทุกกงสีที่ถามว่าวางแผนส่งมอบเมื่อไหร่ ดีที่สุด เนื่องจากการส่งมอบในรูปแบบนี้จะสามารถประเมินและสร้างความเชื่อมั่นของคนรุ่นใหม่ ชี้นำกรอบการดำเนินธุรกิจครอบครัวอย่างถูกต้องตามค่านิยมกงสี ช่วยถ่ายโอนความสามารถและอำนาจการบริหารอย่างครอบคลุม และจะเป็นการลดความกดดันในการอยากเข้ามาบริหารของคนรุ่นใหม่อีกด้วย ดังนั้นแล้ว กงสีควรที่จะเริ่มส่งต่อกิจการอย่างเป็นกระบวนการเพื่อสื่อสาร และพัฒนาธุรกิจครอบครัวตามแบบฉบับที่ทุกท่านประสงค์ไว้เพื่อสร้างความมั่งคั่งมั่นคงแก่ทุกธุรกิจครอบครัวต่อไป