เมื่อ Trust ล้มเหลวในการสืบทอดธุรกิจครอบครัว
“การสืบทอดธุรกิจครอบครัวคือศาสตร์แห่งการส่งต่อ
ความเป็นเจ้าของ การบริหาร ความมั่งคั่ง และจิตสำนึกกงสี”
ไม่สามารถขาดอันใดอันหนึ่งได้
กองทรัสต์ (“Trust”) คือหลักการของความ “ไว้ใจ” “Trust” ที่อยู่ในรูปแบบของสัญญา (หรือกล่าวได้คือ นิติสัมพันธ์ “Legal Bonding”) ที่ไม่ใช่นิติบุคคล ไม่ใช่บริษัท Trust นั้นมีการดำเนินการเริ่มต้นจากการที่เจ้าของกรรมสิทธิ์ (เป็นบุคคลเดียว หรือหลายกลุ่มบุคคลก็ได้) (“Settlor / Policy Maker”) โอนทรัพย์สินตามที่กำหนดกลายเป็นกองทรัพย์สิน หรือที่รู้จักกันในนามกองทรัสต์ (“Trust Fund”) และสิทธิการบริหาร ไปให้แก่คนที่ไว้ใจ (“Trustee”) ถือครองและนำไปลงทุนหรือบริหารจัดการ (แต่ไม่มีสิทธิจำหน่าย จ่ายโอน หรือทำให้เกิดภาระผูกพันใดๆ) เพื่อทำให้เกิดผล “ดอกผล “ สำหรับการมาตอบแทน หรือแจกจ่ายผลประโยชน์อื่นไปยังผู้รับประโยชน์ (“Beneficiary”) ตามนโยบายที่ Settlor ได้กำหนดไว้ (“Trust Policy”) ซึ่งในบางกรณี Trustee ก็สามารถจัดจ้างผู้เชี่ยวชาญในการลงทุนและบริหารกองทรัพย์สิน (“Fund Manager”) ในการเพิ่มดอกผลดังกล่าวได้
ถึงแม้ทรัสต์จะมีหลากหลายประเภทตามความประสงค์ของ Policy Maker ว่าจะเป็นทรัสต์ที่ไว้สำหรับ
เพื่อการลงทุนในสินทรัพย์ (Active / Investment Trust) เช่นลงทุนในสถาบันการเงิน ลงทุนในสถาบันแลกเปลี่ยนเงินตรา หรือลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ที่หลายคนเรียกว่า REIT (Real Estate Investment Trust) เป็นต้น
เพื่อการลงทุนในธุรกิจ (Private Equity Trust) เช่นลงทุนในการเข้าซื้อและบริหารกิจการ หรือลงทุนและเข้าเป็นผู้ถือหุ้นในกิจการเพียงอย่างเดียว เป็นต้น
เพื่อการรับผลประโยชน์ (Passive / Bare Trust) เช่นการออกหุ้นกู้แก่พนักงาน การเสนอขายหุ้นแก่พนักงาน หรือคงเงินไว้สำหรับวัตถุประสงค์บางอย่าง เป็นต้น
แต่ Trust นั้นก็มีจุดประสงค์หลักนั้นก็คือเจตนารมณ์ (Intention) ในการนำทรัพย์สิน (Matter) มาสร้างสิทธิประโยชน์ สร้างดอกผลให้กับผู้รับประโยชน์ (Object) ที่ “ชัดเจน” นั้นเอง
Trust ในบริบทของธุรกิจครอบครัว
ธุรกิจครอบครัวในต่างประเทศได้นิยมใช้ Trust ในการส่งต่อกิจการมาอย่างยาวนาน หากย้อนประวัติศาสตร์กลับไปก็คงก็ย้อนกลับไปยุคลกลางของทวีปยุโรปที่ผู้ชายซึ่งเป็นเจ้าของธุรกิจต้องเดินทางไปค้าขายที่ต่างแดนซึ่งใช้เวลา จึงได้ฝากฝังทรัพย์สินและบริษัทให้แก่คนที่ไว้ใจ (Trust) ในการบริหารแทนและส่งต่อสินทรัพย์ของตนเองให้แก่ลูกๆ หากตนได้เสียชีวิตไปด้วยอุบัติเหตุ หากมองในประเทศไทยหลายธุรกิจครอบครัวในไทยก็เริ่มนิยมใช้ Trust สำหรับบริหารจัดการ และจัดสรรทรัพย์สินมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจครอบครัวในตลาดหลักทรัพย์ หรือว่าธุรกิจครอบครัวที่ยังเป็นคนในครอบครัวถือครองทั้งหมดอยู่ (Private-Owned Family Business) นั้นก็เพราะ Trust เปรียบเสมือนกับกุญแจสำคัญในการสร้างความมั่งคั่ง และเป็นกระบวนการที่ปลอดภัยสำหรับการส่งต่อกิจการสู่ลูกหลานได้อย่างมั่นใจทางกฎหมายแม้ตนจะเสียชีวิตไปแล้ว เพราะ Trust นั้นเป็นสัญญาทางกฎหมายนั้นเอง
ด้วยเหตุผลดังกล่าว หลายครอบครัวได้ใช้ Trust เป็นเครื่องมือสำหรับการลงทุนสร้างความมั่งคั่ง จัดสรรวางแผนการสืบทอดกิจการผ่านการส่งต่อหุ้น และทรัพย์สิน รวมไปถึงสร้างสิทธิประโยชน์ทางภาษีต่างๆ ตามแต่ละเขตอำนาจของประเทศที่ Trust นั้นตั้งอยู่ และ Trust ในทางกฎหมายนั้นก็ได้พิสูจน์มาอย่างยางนานแล้วว่าเป็นเครื่องมือที่สามารถบริหารความมั่งคั่ง ส่งต่อกิจการ และบริหารจัดการภาษีได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่เมื่อธุรกิจครอบครัวมองถึงแนวทางปฏิบัติการวางแผนสืบทอดธุรกิจครอบครัวอย่างครอบคลุมแล้ว รู้หรือไม่ว่าแค่การที่ครอบครัวมี Trust อย่างเดียวคงจะ “ไม่พอ” ในบทความนี้ขออธิบายว่า ธุรกิจครอบครัวล้มเหลวอย่างไร เมื่อครอบครัวหวังพึ่ง Trust ในการสืบทอดธุรกิจครอบครัวเพียงอย่างเดียว
การสืบทอดธุรกิจครอบครัวคือกระบวนการในการส่งต่อความเป็นเจ้าของ (Ownership) การบริหาร (Management) ความมั่งคั่ง (Wealth) และความรู้สึกถึงความเป็นเจ้าของธุรกิจและครอบครัวที่ต้องดูแลคนในครอบครัวไปพร้อมๆ กัน หรือเรียกได้ว่าเป็น “จิตสำนึกกงสี” แต่เนื่องจาก Trust คือเครื่องมือที่ช่วยส่งต่อความความเป็นเจ้าของ ส่งต่อ “หุ้น” และช่วยส่งเสริมความมั่งคั่งผ่านการลงทุนของ Trust Fund หรือรวมไปถึงการนำดอกผลจากการลงทุนเป็นเงินสนับสนุน สวัสดิการครอบครัว เพื่อฝึกฝนลูกหลานในการเป็นผู้บริหารชั้นยอดทั้งหมดนี้เกิดขึ้นเพราะผู้จัดตั้ง Trust หวังว่า Trust จะเป็นตัวช่วยดึงดูดลูกหลานให้เข้ามาสานต่อธุรกิจครอบครัว แต่สิ่งที่หลายครอบครัวมักวางกลยุทธ์สืบทอดธุรกิจครอบครัวที่ขาดไปคือเรื่องการส่งต่อในส่วนที่เหลือ นั้นก็คือด้านการบริหาร และการสร้างจิตสำนึกกงสี
กรณีศึกษา: Trust อย่างเดียวคงจะไม่พอ
จากประสบการณ์การเป็นที่ปรึกษาธุรกิจครอบครัวมา มีกรณีศึกษาของครอบครัวหนึ่งที่คุณพ่อรุ่นก่อตั้งได้จัดตั้ง Trust เพื่อวางแผนการส่งต่อกิจการให้กับรุ่นถัดไปโดยคุณพ่อรุ่นก่อตั้งในฐานะ Settlor ได้มี Trust Policy ในการนำทรัพย์สิน (Asset) ซึ่งคือหุ้นที่ตนเองถือมากกว่า 90% ในธุรกิจครอบครัว พร้อมกับสินทรัพย์จำนวนบางส่วนเข้าไปเป็น Trust Fund และมีนโยบายให้ Beneficiaries คือลูกของตน (หรือหลาน หรือเหลานหากลูกของตนได้เสียชีวิตไประหว่างที่ Trust ยังดำเนินอยู่)
ในทางกฎหมายแล้วนั้นกรอบการส่งต่อธุรกิจได้ถูกวางโครงสร้างไว้อย่างดีเยี่ยมโดยครอบครัวก็ยังคงถือครองสัดส่วนการถือหุ้นแม้รุ่นที่ 1 ได้เสียชีวิตไป แถมยังได้รับดอกผลจากการลงทุนใน Trust รวมถึงผลประโยชน์ทางภาษีในเรื่องของการได้รับหุ้นคืนหลังจาก Trust ได้หมดอายุไป (ไม่ถือเป็นภาษีมรดก เพราะหุ้นและทรัพย์สินที่ได้คืนไม่ใช่มรดก)
แต่ในทางปฏิบัติครอบครัวนี้มีปัญหาในเรื่องของความสัมพันธ์ระหว่างพ่อลูก ในฐานะที่คุณพ่ออายุกว่า 80+ ปี แต่ยังไม่ได้วางแผนการส่งต่อด้านในเรื่องตำแหน่งบริหารธุรกิจแก่รุ่นที่ 2 ซึ่งเป็นลูกๆ อายุกว่า 50+ ปี โดยให้เหตุผลว่าตนเองยังไม่ไว้วางใจลูกที่จะทำงานในฐานะผู้บริหาร เลยบอกลูกทุกคนว่าตนเองจะบริหารต่อ และลูกๆ ก็ควรรอให้เค้าเสียชีวิตไปก่อน หรือทำงานไม่ไหวจึงค่อยเข้ามาทำงานแทนที่ ด้วยความยึดติดของคุณพ่อ ผสานกับแรงผลักดันที่อยากบริหารธุรกิจของลูกๆ จึงทำให้ลูกทุกคนไม่อยากที่จะรอเป็นเจ้าของและสานต่อกิจการของครอบครัว เนื่องจากตนเองซึ่งมาอายุมากแล้วก็อยากที่จะมีความรู้สึกเป็นเจ้าของ และบริหารธุรกิจตามกลยุทธ์ที่ตนเองคิด จากมุมมองของลูกที่มีต่อกงสี ได้ส่งต่อมุมมองและความรู้สึกส่งถึงรุ่นหลาน (รุ่นที่ 3 ซึ่งมีอายุราว 30 ปี) จนทำให้รุ่นที่ 3 ทุกคนรู้สึกว่ากิจการของครอบครัวไม่น่าสนใจ ไม่รู้สึกถึงความเป็นเจ้าของ และไม่อยากสานต่อกิจการกงสี และจากที่ได้สัมภาษณ์รุ่นที่ 3 เกือบทุกคนระบุว่าแม้ตนเองได้หุ้นและทรัพย์สินจาก Trust ที่จะสิ้นสุดในอีก 50 ปีข้างหน้า (ครอบครัวนี้ใช้ Hongkong’s Trust) ที่ไม่ได้กำหนดระยะเวลาของ Trust จึงได้กำหนดอายุขัยของ Trust ไว้ที่ 50 ปี และมีเงื่อนไขต่ออายุ Trust ได้ในอนาคต) ก็คงจะขายทิ้งแล้วเอาเงินทุนดังกล่าวไปใช้เพื่อความมั่งคั่งตนเอง
จากกรณีตัวอย่างคงจะเห็นได้ว่าแม้ครอบครัวจะตั้ง Trust เพื่อคงความเป็นธุรกิจครอบครัวไว้เป็น 3 ชั่วอายุคน แต่นั้นก็ไม่ได้รับประกันว่ากิจการครอบครัวจะยังคงเป็นของครอบครัวเมื่อ Trust นั้นสิ้นสุดลง หรืออาจจะกล่าวได้ว่าแม้ในระหว่างที่ Trust ยังดำเนินอยู่นั้น รุ่นถัดไปก็ไม่ได้รู้สึกถึงความเป็นเจ้าของและไม่ประสงค์ที่จะสานต่อกิจการของครอบครัวต่อไปโดยด้วยซ้ำ และเห็นเพียงว่า “ทรัพย์สินที่ได้มาจาก Trust ในอนาคตเป็นเพียงความมั่งคั่งที่รอการกระจายไปหาแต่ละคนในอนาคตเท่านั้น” จากเรื่องราวที่เกิดขึ้น ครอบครัวจึงได้ตัดสินใจให้เราได้ให้คำปรึกษาและว่าแผนเกี่ยวกับการสร้างความรู้สึกถึงความเป็นเจ้าของ และวางแผนการสืบทอดกิจการอย่างเป็นรูปธรรม โดยสุดท้ายแล้วนั้นครอบครัวได้จัดทำธรรมนูญครอบครัวเพื่อสร้างความเข้าใจกันในครอบครัว วางกิจกรรมครอบครัวและรูปแบบการสืบทอดกิจการอย่างชัดเจน โปร่งใสแก่ลูกหลานทุกคน และดำเนินการสืบทอดกิจการโดยให้คุณพ่อรุ่นที่ 1 ได้เริ่มกระจายอำนาจการตัดสินใจ ต่อเนื่องจนไปถึงการส่งต่อตำแหน่งบริหารให้กับลูกคนหนึ่งที่ “เหมาะสม” ในการเป็นผู้บริหารต่อได้ เหตุการณ์นี้ทำให้รุ่นหลานรู้สึกว่าธุรกิจครอบครัวเริ่มมีความเป็นมืออาชีพ มีการวางแผนการสืบทอดกิจการ รวมไปถึงมีกิจกรรม การดูแลกันในครอบครัว (ผ่านสวัสดิการครอบครัวที่ได้รับผลประโยชน์จาก Trust) ที่ทำให้พวกเขารู้สึกการดูแลกัน และอนาคตของธุรกิจรวมไปถึงอนาคตที่ตนเองมีต่อกงสี จึงทำให้รุ่นที่ 3 เริ่มมีความรู้สึกถึงความเป็นเจ้าของ และอยากที่จะสานต่อธุรกิจครอบครัวต่อไป
โดยสรุป
ถึงแม้ว่า Trust ในประเทศไทยจะยังไม่มีกฎหมายรองรับเป็นที่ชัดเจน รวมไปถึงองค์ความรู้เกี่ยวกับ Trust ในไทยยังอยู่ในช่วงเริ่มต้น รวมถึงกรณีศึกษาเกี่ยวกับ Trust และธุรกิจครอบครัวไทยยังน้อยหรือยังไม่มีข้อสรุปออกมาชัดเจน แต่เราสามารถเรียนรู้กรณีศึกษาความสำเร็จและข้อเรียนรู้ต่างๆ จากที่ต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศ Hongkong Singapore หรือ Switzerland ได้อย่างดี ดังนั้นแล้วการจัดตั้ง Trust เพื่อส่งต่อความเป็นเจ้าของ (Ownership Succession Planning) ก็ต้องบริหารควบคู่กับการวางแผนสืบทอดการบริหาร (Management Succession Planning) และมีการสร้างธรรมาภิบาลเพื่อให้เกิดความปรองดองภายในครอบครัว และสร้างความรู้สึกถึงความเป็นเจ้าของ (Sense of Ownership) เพื่อทำให้การส่งต่อของธุรกิจครอบครัวเกิดประสิทธิภาพที่สูงที่สุด และดำเนินตามเจตนารมณ์ของธุรกิจครอบครัวนั้นคือส่งต่อธุรกิจและความมั่งคั่งจากรุ่นสู่รุ่น (Generational Transition)