วางแผนสืบทอดธุรกิจครอบครัว ส่งต่อช่วงอายุไหนเหมาะสมที่สุด?
เราควรเริ่มส่งไม้ต่อให้รุ่นถัดไปเมื่อไหร่?
พ่อแม่ควรเริ่มวางแผนสืบทอดธุรกิจให้ลูกตอนอายุเท่าไหร่?
เมื่อไหร่คือเวลาที่เหมาะสมสำหรับลูกที่จะมารับช่วงต่อ?
เมื่อครอบครัวคิดถึงเรื่องการวางแผนสืบทอดธุรกิจครอบครัว การส่งไม้ต่อ (Succession Planning) หนึ่งในองค์ประกอบสำคัญในการประเมินการสืบทอดก็คงปฏิเสธไม่ได้ว่าเป็นเรื่อง “อายุ” ของฝั่งผู้ใหญ่ และฝั่งรุ่นถัดไปผสมกัน อายุสำหรับผู้บริหารที่เป็นผู้ใหญ่แล้ว บ่งบอกถึงวัยวุฒิ ความน่าเชื่อถือ ความนับน่าถือตาในสังคม และประสบการณ์ที่สั่งสมมานับหลายสิบปี แต่ในทางกลับกัน อายุสำหรับคนรุ่นใหม่ก็บ่งบอกถึงความมุ่งมั่น ไอเดียความคิดสร้างสรรค์ แรงบันดาลใจ องค์ความรู้ที่สดใหม่ที่พร้อมมีให้กับธุรกิจครอบครัว
คำถามสำคัญที่มักเกิดขึ้นเมื่อเริ่มคิดถึงการส่งไม้ต่อคือ “เมื่อไหร่” ที่เราควรจะเริ่มส่งไม้ต่อจากรุ่นผู้ใหญ่ไปสู่รุ่นถัดไป? เพราะแน่นอนว่าหากเร็วไป ความพร้อมด้านจิตใจ ประสบการณ์ ความรู้ด้านการบริหาร ความน่าเชื่อถือต่าง ๆ ก็คงยังไม่ครบครัน แต่หากนานไปธุรกิจเราก็อาจจะล้าหลังไม่น่าดึงดูดในมุมมองคนรุ่นใหม่ และไม่สามารถสู้กับคู่แข่งได้เพราะขาดคลื่นลูกใหม่ที่จะผลักดันองค์กร
งานวิจัยของ John Davis และ Renato Tagiuri ในปี 1989 และหนังสือ Family Business Management โดย Sage ในปี 2022 ได้นำเสนอแนวทางที่น่าสนใจ ที่กล่าวถึงช่วงอายุที่ “เหมาะสม” สำหรับผู้ใหญ่ และรุ่นถัดไปที่จะรับไม้ต่อระหว่างกัน บทความนี้จึงได้สรุป และวิเคราะห์ให้ทุกคนได้อ่านและเป็นแนวทางได้ไปปรับใช้
งานวิจัยได้แบ่งกลุ่มช่วงอายุของผู้ใหญ่ และคนรุ่นใหม่เป็น 3 ช่วงอายุ ด้วยกัน
ช่วงอายุรุ่นผู้ใหญ่ 40+ ปีและคนรุ่นใหม่อายุประมาณ 17 – 22 ปี
ยังเป็นช่วงที่เร็วเกินไปสำหรับการสืบทอดกิจการเนื่องจากการทำงานของรุ่นผู้ใหญ่ยังไม่สำเร็จไปทั้งหมด และมีแนวคิดว่ายังสามารถช่วยเหลือ พัฒนาธุรกิจครอบครัวไปได้อีกมาก ซึ่งหากได้ส่งมอบกิจการต่อไปยังรุ่นถัดไปจะทำให้รุ่นผู้ใหญ่รู้สึกว่าตนเองยังไม่ได้ช่วยเหลือหรือสร้าง “มรดกตกทอด” ไปสู่ลูกหลานได้อย่างเต็มที่ การส่งไม้ต่อด้านการบริหาร และเกษียณของรุ่นผู้ใหญ่หลังจากนั้นจึงจะไม่ถือว่าเป็นการส่งไม้ต่อ และเกษียณอย่างจริงจัง และมีแนวโน้มว่าผู้ใหญ่จะพยายามเข้ามามีบทบาทในการช่วยกำกับดูแล และช่วยบริหารธุรกิจกับรุ่นถัดไปซึ่งจะสร้างความขัดแย้งด้านการบริหาร สร้างความสับสนให้กับพนักงาน มืออาชีพ และกระทบความสัมพันธ์ของครอบครัวในระยะยาว
ในทางกลับกัน คนรุ่นใหม่ที่อายุ 17 – 22 ปี เป็นช่วงอายุที่พึ่งจบการศึกษาไม่ว่าจะมัธยม หรือมหาวิทยาลัย ซึ่งองค์ความรู้ต่าง ๆ ยังไม่ครอบคลุมสำหรับการเข้ามาสู่การบริหารธุรกิจ ช่วงอายุดังกล่าวคนรุ่นใหม่จะมีความสนใจในการออกไปหาความท้าทายใหม่นอกกรอบของกงสีเพื่อพิสูจน์ตนเอง หรือเพื่อตอบโจทย์สิ่งที่ตัวเองคิดว่าเหมาะสมในช่วงเวลาดังกล่าว หรืออยากออกไปหาประสบการณืข้างนอกก่อนเข้ามาทำงานในกงสี การเข้ามาทำงาน และรับช่วงต่อการทำงานของผู้ใหญ่จะทำให้เกิดความยากลำบากในการบริหารการจัดการความสัมพันธ์เนื่องจากเป็น 2 กลุ่มที่มีแรงผลักดัน และความทะเยอทะยานสูง จึงทำให้หากมีข้อพิพาทระหว่างกัน จะทำให้เกิดความขัดแย้งระยะยาว และจะส่งผลเสียต่อการทำงานร่วมกัน และการสืบทอดธุรกิจครอบครัวในระยะยาว
ช่วงอายุรุ่นผู้ใหญ่ 50+ ปีและคนรุ่นใหม่อายุประมาณ 23 – 33 ปี
รุ่นผู้ใหญ่จะเริ่มสร้างมรดกตกทอดภายในธุรกิจครอบครัวได้ตามที่ต้องการเพราะมีเวลาในการวางแผน และปฏิบัติ ความทะเยอทะยานเริ่มลดลงเนื่องจากมีผลลัพธ์ด้านความสำเร็จของธุรกิจ ความชอบ และความต้องการด้านวัตถุน้อยลง และเริ่มมีความสงบทางอารมณ์มากขึ้น มีตรรกะความสามารถในการแก้ปัญหาได้อย่างครอบคลุมจากประสบการณ์ที่ได้มาจากการทำงาน และพบเจอคนหลากหลายมาอย่างยาวนาน จึงสามารถประเมินได้ว่าสามารถเป็นที่ปรึกษา เป็นคนสั่งสอนคนอื่นได้โดยมีอารมณ์ร่วมน้อยกว่าช่วงอายุอื่น
คนรุ่นใหม่จะสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 กลุ่มย่อย กลุ่มอายุ 23 – 28 ปี และกลุ่ม 28 – 33 ปี
คนรุ่นใหม่ที่อายุ 23 – 28 ปี แม้จะพึ่งสำเร็จการศึกษา พึ่งได้ลองท้าทายตนเอง และ/หรือได้ทำงานให้กับธุรกิจนอกครอบครัวเพื่อแสวงหาความสำเร็จตามที่ได้ตั้งเป้าไว้ แต่กลุ่มดังกล่าวก็เริ่มมีแรงกดดันด้านการทำงานเข้ามา ในบางกรณีกลุ่มดังกล่าวก็เริ่มมีความสัมพันธ์กับคนอื่นจึงต้องเริ่มมองหาความมั่นคงมากขึ้นในชีวิต เมื่อโลกแห่งความจริงกระทบกับความทะเยอะทะยาน กลุ่มดังกล่าวจึงมีความไม่มั่นคงทางความคิด และไม่มั่นใจตนเองเท่าเมื่อก่อน การมีผู้ฝึกสอน (Mentor) หรือที่ปรึกษา (Advisor) เป็นคนที่เค้าไว้ใจ และให้ความมั่นคงในชีวิตก็ถือเป็นเรื่องที่ทำให้คนรุ่นใหม่กลุ่มนี้สนใจไม่น้อย
คนรุ่นใหม่ที่อายุ 28 – 33 ปี จะเป็นวัยที่คนกลุ่มดังกล่าวเริ่มตกผลึกทางความคิดได้อย่างชัดเจนที่สุด และเริ่มจะมองหาสถานที่ที่จะลงหลักปักฐานเพื่อสร้างชื่อเสียง สร้างผลงานของตัวเอง และจะเริ่มมองเห็นคุณค่าของธุรกิจครอบครัวที่รุ่นผู้ใหญ่ได้ทำมา (เมื่อตอนที่คุณพ่อทำมาอยู่ในจุดสูงสุด) และจากประสบการณ์ที่ได้จากภายนอกจึงทำให้เค้าสามารถเห็นโอกาส และการพัฒนาธุรกิจครอบครัวได้อย่างครอบคลุมมากขึ้น และเมื่อผนวกกับแนวคิดการสร้างผลงานของตนเองก็จะมองเห็นการสร้าง “มรดกตกทอด” ของตนเองในธุรกิจครอบครัวเพื่อส่งต่อไปยังลูกหลานของเค้าในอนาคต
ช่วงอายุรุ่นผู้ใหญ่ 60+ ปีและคนรุ่นใหม่อายุประมาณ 34 – 40 ปี
เมื่อรุ่นผู้ใหญ่ใช้เวลาอยู่ในการบริหารธุรกิจครอบครัวนานกว่าชีวิตภายนอกธุรกิจ การบริหารธุรกิจครอบครัวจึงกลายมาเป็นชีวิตของเค้าโดยสมบูรณ์ ชื่อเสียง การยอมรับทางสังคม และมรดกตกทอดที่เค้าขึ้นมาก็จะกลายเป็นสิ่งหลอกล่อให้เค้าอยากที่จะอยู่ต่อ ทำการก้าวออกมาจากการบริหาร และส่งมอบอำนาจที่เค้าเคยได้มาทั้งชีวิตจะเป็นสิ่งที่เค้าหวงแหน และมอบให้แก่คนอื่นยากที่สุดแม้กระทั้งลูกหลานของตนเอง ผู้ใหญ่ในช่วงนี้จึงเลิกคิดในเรื่องการส่งมอบกิจการให้กับคนรุ่นใหม่เนื่องจาก “นี้คือชีวิตเดียวที่เค้าเป็น”
คนรุ่นใหม่ในช่วงอายุ 34 – 40 ปี เป็นช่วงอายุที่ต้องการความเป็นอิสระในการบริหารจัดการสูง จากประสบการณ์ทำงานที่เริ่มเป็นหัวหน้า หรือผู้บริหารมาระยะเวลาหนึ่ง เพื่อพิสูจน์ตนเองจากทัศนวิสัยน์ในการพัฒนาธุรกิจครอบครัวตามแนวทางที่ได้วางไว้ สร้างชื่อเสียง และการเป็นที่ยอมรับในสังคม (ตามเนื้อหาของรุ่นผู้ใหญ่ที่มีอายุ 40+ ปี) การมีพี่เลี้ยงจึงเป็นสิ่งที่ไม่เหมาะสมเนื่องจากหากจะต้องขอการอนุมัติจากรุ่นผู้ใหญ่ที่แนวทางไม่เหมือนกันแต่ละยุคสมัยก็จะทำให้เกิดข้อขัดแย้ง และทำให้ความสัมพันธ์ภายในครอบครัวแย่ลง และเมื่อเกิดข้อขัดแย้งด้านการบริหารกับรุ่นผู้ใหญ่ภายในครอบครัว ความคิดที่จะ “สร้างอาณาจักรของตนเอง” “สร้างมรดกตกทอด” ที่อื่นนอกกงสีก็มักเกิดขึ้น และจะทวีความรุนแรงเรื่อย ๆ หากอำนาจการบริหารธุรกิจจะต้องยังขึ้นตรงกับคุณพ่อคุณแม่ หรือรุ่นผู้ใหญ่ในครอบครัวตลอดเวลา
หากกล่าวโดยสรุป
การสืบทอดธุรกิจครอบครัวที่เกิดขึ้นเร็วไปจะเป็นการ “ยัดเยียด” “บีบบังคับ” ทั้งรุ่นผู้ใหญ่ และรุ่นใหม่ในการส่งต่อ และรับช่วงต่อกันทั้งหมดทั้งสิ้น สภาวะธุรกิจครอบครัวตอนนั้นก็จะเกิดความอึดอัดเหมือนถูกบีบบังคับให้กระทำ (Force Zone) แต่ในทางกลับกันหากการสืบทอดกิจการเกิดขึ้นช้าไป จะเป็นการ “สร้างสงครามภายใน” “ท้าทายอำนาจ” ระหว่างสมาชิกแต่ละรุ่นเพราะความคุ้นชินในการดำรงชีวิต และการก้าวหน้าของธุรกิจนั้นไม่เหมือนกันความสัมพันธ์ของครอบครัวย่อมสั่นคลอนเพราะทะเลาะกัน (Conflict Zone) เกิดปัญหาในการสืบทอด (Problematic) และอาจทำให้ธุรกิจครอบครัวไร้ซึ่งทายาทสืบทอดในการบริหารธุรกิจครอบครัวเลยก็เป็นได้
หากการสืบทอดกิจการเกิดขึ้นในระหว่างความพอดีของทั้ง 2 ช่วงอายุการสืบทอดที่ปรองดอง (Harmony Zone) ก็มีโอกาสที่จะเกิดขึ้นมากกว่าเนื่องจากผู้ใหญ่นั้นได้สร้างมรดกสืบทอดให้กับธุรกิจพร้อมกับมีความสำเร็จในเรื่องความมั่งคั่งทางการเงิน และมีความสุขุมในการแก้ไขปัญหา เป็นที่ปรึกษาที่ดี สมาชิกรุ่นใหม่ในทางเดียวกันก็ต้องการความก้าวหน้า ความแน่นอน ด้านการงานเนื่องจากต้องการความมั่นคงของชีวิตมากขึ้น โดยเฉพาะช่วงอายุ 28 – 33 ที่คนรุ่นใหม่นั้นจะมีมุมมองการต่อยอดธุรกิจครอบครัวผ่านประสบการณ์ทำงานข้างนอกที่ทำให้พวกเขามีวิสัยทัศน์ มีแนวทางการพัฒนาธุรกิจครอบครัว และความทะเยอทะยานในการสร้างอาณาจักรธุรกิจครอบครัวให้ก้าวหน้าต่อไป บริบทของทั้งสองรุ่นก็จะผสานกัน (Harmonious) และสืบทอดธุรกิจครอบครัวต่อไปได้อย่างดี
อย่างไรก็ตาม ถ้าเราจะประใช้แนวทางนี้ในบริบทปัจจุบัน เนื่องจากงานวิจัยดังกล่าวเกิดขึ้น ณ ปี 1989 ซึ่งถือว่าเกิดขึ้นมานานกว่า 30+ ปี ซึ่งความแตกต่างด้านพฤติกรรมของคนแต่ละยุคสมัยนั้นย่อมเปลี่ยนไป (ในงานวิจัย รุ่นผู้ใหญ่ = Baby Boomer / คนรุ่นใหม่ = Gen X) ซึ่งหลายครอบครัวก็อาจโต้แย้งได้ว่าบริบท ณ ปัจจุบันนั้นแตกต่าง (รุ่นผู้ใหญ่ = Baby Boom + Gen X / คนรุ่นใหม่ = Gen X + Gen Y) แต่จากประสบการณ์ที่ปรึกษาแล้ว “หลักการ” ด้านความคิด ประสบการณ์ ความต้องการความท้าทาย หรือพิสูจน์ตนเองนั้นไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงไปจากยุคสมัยก่อน เพียงแต่จะมีการปรับเปลี่ยนในเรื่องของความสามารถด้านความรู้ และความสามารถรอบด้านที่ในปัจจุบันนั้นคนรุ่นใหม่สามารถเรียนรู้ได้อย่างรวดเร็ว
มากไปกว่านั้น บางครอบครัวก็ไม่ได้มีช่วงอายุระหว่างรุ่นที่เหมือนกับงานวิจัย แต่ครอบครัวก็สามารถนำแนวทางบทวิเคราะห์ครอบครัวแต่ละรุ่น แต่ละช่วงอายุไปปรับใช้ให้เหมาะสมกับครอบครัว หรือหากครอบครัวยังไม่มั่นใจเกี่ยวกับการนำแนวทางดังกล่าวไปวางแผนการสืบทอดกิจการ การปรึกษากับที่ปรึกษาธุรกิจครอบครัวเพื่อช่วยวางแนวทางการสืบทอดกิจการอย่างเหมาะสมให้สอดคล้องกับทรัพย์ยากร และค่านิยมของครอบครัวก็จะทำให้แผนการสืบทอดธุรกิจของครอบครัวเข้มแข็งและสามารถส่งต่อธุรกิจต่อไปตามที่ได้หวังไว้ และได้ทำตามจุดประสงค์ของธุรกิจครอบครัวที่ตั้งเป้าเพื่อวางแผนระยะยาวให้กับครอบครัว และธุรกิจครอบครัวเพื่อให้เกิดความมั่งคั่งต่อไป