ธรรมนูญครอบครัว ควรทำเมื่อไหร่? EP.2

   ธุรกิจครอบครัวคือส่วนผสมระหว่างความเป็นธุรกิจ ความเป็นเจ้าของและความเป็นครอบครัว  ดังนั้น  การบริหารธุรกิจครอบครัวที่ดีควรจะมีหลักการและกฎระเบียบที่สอดคล้องระหว่างกัน  ทั้งในเรื่องของหลักการการถือหุ้นภายในธุรกิจครอบครัว  ความชัดเจนโปร่งใสว่าบุคคลใดสามารถเข้ามาถือหุ้นในธุรกิจครอบครัวของเราได้  ลักษณะหน้าตาผู้บริหารของธุรกิจครอบครัวของเรา จะเป็นเพียงแค่สมาชิกครอบครัว เท่านั้นหรือไม่? แต่กระนั้นแล้ว จุดประสงค์ของการทำธุรกิจครอบครัวนั้นไม่ใช่เป็นเพียงแค่การสร้างรายได้ แสวงหาผลกำไร แต่อีกหนึ่งจุดประสงค์ที่สำคัญคือการดูแลสมาชิกครอบครัว ดูแลความสัมพันธ์ความปรองดอง ให้เทียบเท่าจุดประสงค์ทางการเงินที่ธุรกิจควรจะทำ ด้วยเหตุนี้ หลายธุรกิจครอบครัวจึงเลือกใช้ธรรมนูญครอบครัวเป็นเครื่องมือในการสร้างกฎระเบียบการอยู่ร่วมกันภายในครอบครัว พยายามวางโครงสร้างการถือหุ้น โครงสร้างผู้บริหารความเป็นมืออาชีพทรัพย์กงสี บทบาทหน้าที่ของสมาชิกครอบครัวและวางแผนการสืบทอดธุรกิจครอบครัวให้ชัดเจนโปร่งใสกับสมาชิกครอบครัวทุกคน

 

   อย่างไรก็ดี แม้ว่าธรรมนูญครอบครัวจะเป็นเครื่องมือที่สามารถช่วยเหลือในการสร้างธรรมาภิบาลให้แก่ทุกธุรกิจครอบครัวได้อย่างเป็นรูปธรรม แต่ หนึ่งคำถามที่สำคัญที่ถูกธุรกิจครอบครัวมักตั้งคำถามนั่นก็คือ ธรรมนูญครอบครัวควรเริ่มทำเมื่อไหร่?  จังหวะเวลาไหนที่ธุรกิจครอบครัวของตนควรที่จะเริ่มพิจารณาและจัดทำธรรมนูญครอบครัว?  และมีหรือไม่? ที่ธุรกิจครอบครัวจัดทำธรรมนูญครอบครัวในเวลาที่ผิด และผลกระทบของการตัดสินใจผิดพลาดนั้น เป็นอย่างไร? ในบทความนี้จะขอมาวิเคราะห์และตอบคำถามว่าธุรกิจครอบครัวควรเริ่มทำธรรมนูญครอบครัวเมื่อไหร่

 

   ธรรมนูญครอบครัว คือข้อตกลง ในการอยู่ร่วมกันของสมาชิกครอบครัวที่เกี่ยวข้องกับความเป็นเจ้าของ ธุรกิจและครอบครัว (สามารถอ่านและทำความเข้าใจนิยามธรรมนูญครอบครัวได้ที่บทความ) ด้วยเหตุนี้แล้วการจัดทำธรรมนูญครอบครัวควรเป็นการจัดทำเมื่อสมาชิกครอบครัวทุกคนพร้อมที่จะหาข้อตกลงที่ เป็นประโยชน์ต่อทั้ง 3 องค์ประกอบที่กล่าวข้างต้น (ความเป็นเจ้าของธุรกิจและครอบครัว) ด้วยเหตุนี้แล้ว คำตอบว่า ธรรมนูญครอบครัวควรเริ่มจัดทำเมื่อไหร่ เราก็ควรนำ 3 เรื่องมาเป็นเกณฑ์ในการพิจารณาและหาคำตอบ โดยจะมีรายละเอียดเรื่องของมุมมองความเป็นครอบครัว และบทสรุปบทความทั้งหมด ดังต่อไปนี้

3. พิจารณาด้วยมุมมองครอบครัว


เมื่อมีสมาชิกมากขึ้น สายสมาชิกมากขึ้น มีหลายรุ่น หรือสมาชิกครอบครัวอยู่ต่างถิ่นที่อยู่

ครอบครัวสมัยก่อนและครอบครัวสมัยใหม่มีโครงสร้างที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง หลายครอบครัวมักบอกว่าเมื่อก่อนก็เลี้ยงดูแบบนี้ได้ แต่ทำไมลูกหลานสมัยนี้ใจไม่สู้ และดูไม่รักใคร่กันเหมือนเดิม อย่าลืมว่าโครงสร้างครอบครัวของเรานั้นเปลี่ยนแปลงไปตามการเวลา ให้คิดสภาพเหมือนธุรกิจที่ค่อยๆ เติมโตย่อมต้องมีแผนก มีฝ่ายที่แตกกันออกไป ฉันใดก็ฉันนั้นสมาชิกที่เคยอยู่ร่วมกันในบ้านหลังเดียวกันเมื่อก่อน ก็ย่อมต้องแต่งงานมีลูก และมีพื้นที่เป็นของตนเองเพื่อสร้างครอบครัว อย่าได้กล่าวโทษเขยสะใภ้ที่เขาเข้ามาในครอบครัว แต่จงเข้าใจวัฏจักรของครอบครัวที่ต้องเป็นไป จากคนน้อยกลายเป็นคนเยอะ ดังนั้น การบริหารต้องเปลี่ยนแปลง เช่นนั้นแล้วธรรมนูญครอบครัวจึงกลายเป็นเครื่องมือสำหรับนิยามการบริหารครอบครัวแบบใหม่เผื่อเปลี่ยนถ่ายจากการบริหารครอบครัวแบบสมัยก่อน (คนน้อยราย กระจุกตัว) กลายเป็นบริหารกงสีแบบสมัยใหม่ (คนเยอะ กระจายตัว) และหาทางสร้างความปรองดองในบริบทใหม่ที่ทุกธุรกิจครอบครัวต้องเผชิญ


เมื่อทรัพย์กงสีมีจำนวนมากขึ้น แต่ยังไม่มีระบบหรือวิธีบริหารจัดการที่ชัดเจน

ทรัพย์กงสี (ที่ดิน อาคาร เงินทอง หรือแท้กระทั้งหุ้น) ที่เมื่อก่อนถูกเก็บและบริหารโดยผู้ใหญ่ในบ้าน สร้างมาจากความมุมานะของผู้อาวุโสที่ยอมเสียสละแรงกายแรงใจจนได้มา ในสมัยก่อนที่มีการถือครองทรัพย์สินผู้ใหญ่อาจหยิบยืมชื่อของตนเอง ภรรยาย พี่น้อง ลูกหลาน หรือแม้กระทั้งคนข้างบ้านมาร่วมถือครองในทางกฎหมาย กล่าวคือ “ฝากไว้ก่อน” แต่ในทางครอบครัวการถือครองดังกล่าวไม่ได้สะท้อนความเป็นจริงแต่อย่างใด เมื่อเวลาผ่านไปการฝากไว้ก่อนก็ถูกลืมเลือน ทรัพย์สินที่ตนเองถือครองแทนก็เริ่มรู้สึกเป็นเจ้าของมากขึ้น หรือบางครั้งเมื่อทรัพย์สินคงอยู่กับที่ ก็ขอนำไปใช้เพื่อสร้างประโยชน์เล็กน้อยให้กับตนเองโดยไม่พูดคุยกัน เหตุการณ์ดังกล่าวเป็นตัวจุดประกายให้เกิดความไม่ชัดเจน โปร่งใส การตั้งคำถามซึ่งนำไปสู่การทะเลาะกันของคนในครอบครัว และคนรุ่นใหม่ก็ไม่อยากมายุ่งเกี่ยวกับความวุ่นวายที่ไม่เป็นของรุ่นผู้ใหญ่นี้อย่างแน่นอน การจัดทำธรรมนูญครอบครัวเพื่อหากระบวนการบริหารทรัพย์สินกงสี จึงเป็นทางเลือกที่หลายธุรกิจครอบครัวเลือกใช้ในการวางแผนทรัพย์กงสี และจัดสรรให้ทรัพย์สินทุกอย่างมีจุดประสงค์และสื่อสารได้อย่างชัดเจนโปร่งใสสร้างความเป็นมืออาชีพในการบริหารครอบครัว

เมื่อครอบครัวไม่อยากที่จะทะเลาะกันในอนาคต

หนึ่งในจุดตายของธุรกิจครอบครัวคือการที่คนในครอบครัวเริ่มรู้สึกถึงการดูแลภายในครอบครัวที่ไม่เท่าเทียม ซึ่งอาจเป็นเรื่องสวัสดิการการดูแล ตำแหน่ง การสืบทอด โอกาส ความเป็นเจ้าของต่างๆ ที่เกิดขึ้นและไม่ได้นำมาพูดคุยกัน หรือความขัดแย้งจุดเล็กๆ ที่ไม่ได้ถูกยกขึ้นมาพูดคุยภายในครอบครัวจนร้าวลึกกลายมาเป็นแผลใหญ่ระหว่างครอบครัว การที่ครอบครัวมีข้อพิพาทภายในครอบครัวและกลายมาเป็นการเมืองภายในครอบครัวนั้นไม่อาจทำให้ธุรกิจครอบครัวเดินหน้าต่อไปได้ ซึ่งหลายครอบครัวก็ไม่ได้อยากให้ครอบครัวตนเองเดินทางไปสู่จุดนั้นแต่ไม่รู้ว่ามีกระบวนการหรือเครื่องมืออะไรเพื่อทำให้พี่น้องไม่ทะเลาะกันในอนาคต การนำธรรมนูญครอบครัวเข้ามาช่วยเป็นเครื่องมือสำหรับนำเรื่องใต้พรมของกงสีมาสื่อสารและหาข้อตกลงร่วมกันจึงเป็นกระบวนการที่สำคัญภายในกงสี แน่นอนว่าการนำเรื่องใต้พรมมาพูดคุยกันอาจจะทำให้ครอบครัวกระทบกระทั้งระหว่างจัดทำธรรมนูญครอบครัว แต่การที่ครอบครัวมีที่ปรึกษาหรือผู้อาวุโสเข้ามาเป็นตัวกลางไกล่เกลี่ยโดยหาทางออกให้ก็จะทำให้ปัญหาใต้พรมได้รับการแก้ไข และทำให้ทุกคนกลับมาเข้าใจกันมากขึ้น มีกระบวนการสื่อสารและระงับข้อพิพาท มีความปรองดอง และมุ่งหน้าไปในทิศทางที่กงสีต้องการจะก้าวเดินต่อไป


อีกหนึ่งกุญแจสำคัญที่อยากจะฝากทุกธุรกิจครอบครัวในการพิจารณาจัดทำธรรมนูญครอบครัว คือการสื่อสารกันอย่างตรงไปตรงมาและพูดคุยสื่อสารเมื่อตอนที่สมาชิกครอบครัวทุกคนยังไม่ได้ทะเลาะกัน  สามารถพูดคุยสื่อสารกันได้  และที่สำคัญ คือเมื่อสมาชิกครอบครัวทุกคน มีความสุข  เพราะหากเราไม่ได้จะทำธรรมนูญครอบครัว เมื่อตอนที่สมาชิกครอบครัวมีความสุข ความรู้สึกนึกคิด ความเห็นแก่ตัว หรือการมองเพื่อประโยชน์ส่วนตัว ก็จะ มีมากกว่าการมองเพื่อประโยชน์ส่วนรวมหรือประโยชน์กงสี  และด้วยเหตุนั้นเอง จึงเป็นสาเหตุให้ทำไมหลายธุรกิจครอบครัว ที่จัดทำธรรมนูญครอบครัวไม่สำเร็จ นั่นก็เพราะ พวกเขารอให้เกิดปัญหาก่อน แล้วจึงมาแก้ไขโดยพยายามใช้ธรรมนูญครอบครัวเป็นตัวแปรกำหนด ให้ทุกคนอยู่ในกรอบ  แต่นั้นก็คือการกระทำแบบวัวหายล้อมคอก  เป็นการแก้ปัญหาที่ไม่ตรงจุด เพราะปัญหานั้นได้เกิดขึ้นแล้วสมาชิกครอบครัวแต่ละคนมีความสัมพันธ์ที่ไม่ดีระหว่างกัน ความพยายามในการสานสัมพันธ์ต่อจากนั้น ก็จะไม่เกิดผล

หากจะกล่าวโดยสรุป

   ธรรมนูญครอบครัว คือเครื่องมือ ป้องกันความขัดแย้ง ผ่านข้อตกลงของครอบครัว ซึ่งขยายความออกมาเป็น กฎเกณฑ์เป็นกรอบการอยู่ร่วมกัน และสร้างความปรองดองให้ธุรกิจและครอบครัว ผสานกันได้และส่งต่อไปจากรุ่นสู่รุ่น  เมื่อธุรกิจครอบครัว กำลังพิจารณาการจัดทำธรรมนูญครอบครัว ก็ควรที่จะพิจารณาจากมุมมองของความเป็นเจ้าของ มุมมองธุรกิจและมุมมองครอบครัว  โดยที่กุญแจสำคัญของการจัดทำธรรมนูญครอบครัวคือการป้องกันไม่ใช่การแก้ไข  มองประโยชน์ส่วนรวมมากกว่าประโยชน์ส่วนตน รวมไปถึง การจัดทำธรรมนูญครอบครัวเมื่อสมาชิกครอบครัวทุกคนยังมีความรักใคร่ปรองดองระหว่างกันอยู่  ด้วยเหตุนี้เอง หากธุรกิจครอบครัวในนำแนวทางเหล่านี้ ไปพิจารณาและเริ่มจัดทำธรรมนูญครอบครัว ครอบครัวก็จะได้ มีธรรมนูญครอบครัวที่ เป็นข้อตกลงของสมาชิกครอบครัวทุกคน และเป็นเครื่องมือสื่อสารให้สมาชิกครอบครัวรุ่นใหม่ๆ ยาที่จะเข้ามาสานต่อธุรกิจครอบครัวให้มีการเติบโตและสร้างความมั่งคั่งเพื่อส่งต่อมรดกครอบครัว จากรุ่นสู่รุ่น

Previous
Previous

“Aunyanuphap Consulting” บริษัทให้คำปรึกษาธุรกิจครอบครัว ผู้อยู่เบื้องหลังกลยุทธ์การสร้าง “ธุรกิจครอบครัว” ให้เป็นมืออาชีพและส่งต่ออย่างยั่งยืน

Next
Next

ธรรมนูญครอบครัว ควรทำเมื่อไหร่? EP.1