สมรสเท่าเทียม เรื่องใกล้ตัวชวนคิด จัดเตรียมกงสี
เมื่อการผ่านกฎหมายเรื่อง “สมรสเท่าเทียม” นั้นใกล้เป็นความจริงมากขึ้นหลังจากผ่านกระบวนการออกเสียงอันเป็นเอกฉันท์จากสภาผู้แทนราษฎร ถือว่าเป็นอีกก้าวที่การสมรสเท่าเทียมจะขยับจากนามธรรมเป็นรูปธรรมทางกฎหมาย การมองการสมรสโดยมองข้ามคำว่าเพศสภาพแล้ว การสมรสเท่าเทียมส่งมีอิทธิพล ส่งผลกระทบอย่างไรกับธุรกิจครอบครัวในอนาคต และกงสีของเราจะต้องจัดเตรียมตัวเองอย่างไรให้ทันต่อสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงไปของสังคม ซึ่งหมายถึงสมาชิกครอบครัวรุ่นใหม่ๆ ในอนาคต
บทความนี้จึงมาวิเคราะห์ประเด็นสำคัญที่กระทบต่อธุรกิจครอบครัว ภายใต้อิทธิพลของกฎหมายสมรสเท่าเทียม
ประเด็นที่ 1. ประเด็นทางกฎหมายมรดก
เมื่อสองบุคคลได้สมรสกัน (ไม่ว่าเพศสภาพใด) การ “ได้รับสิทธิ” ต่างๆ ทางกฎหมายก็นับได้ว่าถือสิทธิเทียบเท่ากับกฎหมาย (สามี - ภรรยา) ก่อนหน้า ดังนั้น “สิทธิในการรับมรดก” คู่สมรสในฐานะทายาทโดยธรรม ก็มีสิทธิได้รับ ทรัพย์มรดกจากคู่สมรสหากมีอันเป็นไป (เฉกเช่นที่สามี ภรรยาในกฎหมายก่อนหน้า) ในทางปฏิบัติหากผู้เสียชีวิตไม่ได้เขียนพินัยกรรมยกให้ทรัพย์สินให้บุคคลใดเป็นพิเศษ สินสมรส (ทรัพย์สิน ดอกผล ที่ได้มาจากการทำมาหาได้หลังจดทะเบียนสมรส) ครึ่งหนึ่งจะถูกจัดสรรสู่ “คู่สมรส” และสินสมรสอีกส่วนหนึ่งจะถูกไปรวมกับสินส่วนตัว เพื่อนำไปจัดสรรให้แก่ “ทายาทโดยธรรม” 6 ลำดับ ซึ่งในชั้นที่ 1 คือผู้สืบสันดาน อันหมายถึง บุตรโดยชอบด้วยกฎหมาย บุตรนอกกฎหมายที่บิดารับรองแล้ว บุตรบุญธรรม และ “คู่สมรส” ที่ยังมีชีวิตอยู่เช่นเดียวกัน
แนวทางต่อยอด...หากกงสียังให้ความสำคัญในเรื่อง “สายเลือด” และการส่งต่อธุรกิจภายในสายเลือด การจัดทำพินัยกรรม กำหนดทรัพย์มรดก (สิ่งที่สามารถกำหนดในมรดกได้คือการจัดการทรัพย์สิน (ทรัพย์สิน 4 ประเภทหลักประกอบไปด้วย เงินฝากในสถาบันการเงิน สังหาริมทรัพย์ (หลักทรัพย์) ที่จดทะเบียน ยานพาหนะที่จดทะเบียน และอสังหาริมทรัพย์ (ที่ดิน บ้าน อาคาร คอนโด) สิทธิ (อำนาจในการเป็นเจ้าหนี้) และหน้าที่ (บทบาทในการเป็นลูกหนี้) ให้ยังอยู่กับลูก หลานทางสายเลือดก็เป็นสิทธิที่เจ้าของทรัพย์สินสามารถจัดการได้เพื่อคงทรัพย์สินให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของครอบครัว
ประเด็นที่ 2: ประเด็นผู้สืบทอด
ในธุรกิจครอบครัว เป็นเรื่องปกติที่ครอบครัวจะมองการสืบทอดธุรกิจครอบครัวโดยให้สิทธิสมาชิกครอบครัวทางสายเลือดมาก่อนคนในครอบครัว “นอกสายเลือด” หรือคนนอกก่อนเสมอ ไม่ว่าจะเป็นการสืบทอดในด้านความเป็นเจ้าของกิจการผ่านการถือหุ้น (Ownership) และการสืบทอดด้านการบริหาร (Management) นั้นก็เพราะความเป็นสายเลือด มีคุณสมบัติที่แตกต่าง สร้างความสบายใจให้แก่ผู้ส่งมอบเพราะไม่ว่าธุรกิจเป็นอย่างไร ธุรกิจครอบครัวก็ยังเป็นของ “คนในสายเลือด”
อย่างไรก็ตาม เมื่อโลกเปลี่ยน กฎหมายเปลี่ยนแปลง ความแน่นอนในการสืบทอดทางสายเลือดก็ย่อมสั่นคลอน การสมรสเท่าเทียมได้สร้างอีกทางเลือกให้คนสามารถสร้างครอบครัว และเลือกการมีลูกได้ในแบบฉบับของตัวเอง ด้วยเหตุนี้การรับบุตรบุญธรรมก็เป็นสิ่งที่อาจเกิดมากขึ้นในสังคมของเรา ดังนั้น ลูก หลานธุรกิจครอบครัวในอนาคตอาจจะไม่ได้เป็นสมาชิกครอบครัวทางสายเลือดทั้งหมดอีกต่อไป ด้วยเหตุนี้ ธุรกิจครอบครัวจึงจะต้องเตรียมพร้อมในการเปิดรับ และเตรียมตัวการรับผู้สืบทอดที่เป็นสมาชิกครอบครัว “นอกสายเลือด” เมื่อถึงคร่าวต้องวางแผนการสืบทอดในอนาคต
แนวทางต่อยอด...การมองหา และแต่งตั้งผู้สืบทอดในธุรกิจครอบครัวจะต้อง “ทำความเข้าใจ” “มีกฎกลาง” และ “สื่อสาร” ภายในกงสีอย่างชัดเจน หลายธุรกิจครอบครัวที่ได้ไปให้คำปรึกษาจะให้ตั้งหลักการเริ่มต้นด้วยคำถามว่า “เรามองอนาคตธุรกิจครอบครัวไว้อยู่ที่มือคนแบบไหน?” คนในสายเลือด? คนเก่ง? เพศสภาพ? พนักงาน? พี่โต-น้องเล็ก? อายุ?
คำถามดังกล่าว เปิดความเป็นไปได้ของสมาชิกครอบครัวแต่ละคนอย่างกว้างขวาง และทำให้คนในครอบครัวได้มีโอกาสปรับจูนกัน และได้ข้อตกลงกลางในภาพของผู้สืบทอดกิจการ “เจ้าของในอนาคต” และ “คนทำงานในอนาคต” หากมองง่ายๆ นั้นก็คือ ใครจะสามารถเข้ามาเป็นเจ้าของถือในอนาคตได้ และใครเล่าที่สามารถเข้าทำงานในธุรกิจครอบครัว ความเข้าใจตรงกลางต่อยอดมาสู่กฎระเบียบกลางของที่บ้านหลากหลายข้อ ธรรมนูญครอบครัวที่กำหนดถึงคุณสมบัติของผู้สืบทอด และวิธีการสร้างความมั่นใจให้กับผู้สืบทอดจึงเป็นธรรมนูญครอบครัวที่มีประสิทธิภาพ สำหรับกงสีที่ต้องการวางกฎในการสืบทอด ไม่ว่าครอบครัวจะเปิดรับสถานะคนในกงสีอย่างไร สุดท้ายแล้วการสื่อสารให้กับลูก หลานในครอบครัวได้รับทราบนั้นเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุด
หากกล่าวโดยสรุป
กฎหมายสมรสเท่าเทียม หรือสถานะคนในครอบครัวปัจจุบันไม่มีเรื่องถูกผิด ไม่ใช่ประเด็นถกเถียงว่าดีหรือไม่ดี แต่มันคือการเปลี่ยนแปลงที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ในสังคม ธุรกิจครอบครัวควรที่จะตั้งคำถามว่าหากกฎหมายสมรสเท่าเทียมเกิดขึ้นจริง การส่งมอบ ความเป็นเจ้าของ และการบริหารของธุรกิจครอบครัวจะเป็นอย่างไร? และเป็นไปได้ขนาดไหนที่ครอบครัวจะมีผู้สืบทอดธุรกิจครอบครัวโดยมีสมาชิกครอบครัวที่มีเส้นทางชีวิตส่วนตัวที่เค้าได้ตัดสินใจเลือกด้วยความสุขของเค้าเอง...