ธุรกิจครอบครัว มีดีอะไร? ตอนที่ 1. ต้นทุนครอบครัว
หลายคนมักสงสัยว่าธุรกิจครอบครัวมีดีอะไร? ธุรกิจอยู่มานานต้องมีอะไรดีซักอย่างสองอย่างหรือไม่ น่าสนใจที่ทำไมบางคนถึงเลือกอยู่ หรือคำถามนี้อาจเป็นคำถามเชิงประชดที่สื่อได้ว่าเพราะมันไม่มีอะไรดีมากกว่าเลยไม่คิดจะเข้ามา (หรือกลับเข้าไป)
คำถามน่าสนใจชวนค้นหาคำตอบว่ากงสีของเรา (ธุรกิจ+ครอบครัว) ดำเนินธุรกิจมาอย่างยาวนานหลายชั่วอายุคน สำเร็จมาได้ขนาดนี้ต้องมีอะไรดี และทำไมหลายอุตสาหกรรมทั่วโลกจึงมีธุรกิจที่มีเจ้าของเป็นคนในตระกูลเดียวกันกินส่วนแบ่งตลาดเป็นส่วนใหญ่ รวมถึงมีอิทธิพลอยู่ตลาดต่างๆ เกือบทั้งหมด มันต้องมีอะไรบางอย่างที่ดี น่าสนใจชวนวิเคราะห์ว่าขุมทรัพย์เบื้องลึกของธุรกิจครอบครัวจริงๆ แล้วอยู่ที่ตรงไหน?
มาวิเคราะห์กันอย่างละเอียดกับคำถามว่าธุรกิจครอบครัวมีดีอะไร สิ่งที่มีดีแปลว่าจะต้องเป็นจุดแข็ง เป็นขุมทรัพย์ หรือเรียกได้ว่าเป็นต้นทุน (Capital) ให้กงสีเราเป็นรากฐานที่สามารถก้าวต่อไปได้ ดังนั้น ต้นทุนธุรกิจครอบครัว (Family Business Capital) จะสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ส่วนหลักๆ คือต้นทุนครอบครัว (Family Capital) และต้นทุนธุรกิจ (Business Capital):
ต้นทุนครอบครัว Family Capital
ต้นทุนครอบครัวเป็นขุมทรัพย์ที่หลายธุรกิจครอบครัวมักมองข้าม เลือกที่จะไม่มองเพราะคิดว่าไม่สำคัญ แต่ในความเป็นจริงแล้วต้นทุนครอบครัวคือสิ่งที่ทำให้ธุรกิจครอบครัวแตกต่าง และมีข้อได้เปรียบจากธุรกิจอื่นๆ อย่างมีนัยยะสำคัญ หากลองคิดดีๆ คงไม่มีธุรกิจรูปแบบอื่นที่จะมีต้นทุนด้านครอบครัวเข้ามาเป็นแรงสนับสนุน แรงช่วยเหลือให้กับธุรกิจเพื่อผลักดันให้ธุรกิจอยู่รอด หรือพัฒนาต่อไปได้ มองอย่างไรก็คงเป็นไปแทบไม่ได้
แต่ที่นี้คือธุรกิจครอบครัว มีข้อดีคือความผูกพันธ์ระหว่างครอบครัว และธุรกิจเป็นความสัมพันธ์ที่ลึกซึ้งที่ไม่อาจแยกออกจากกันได้ ความอยากที่จะให้อยู่รอดปลอดภัยเพราะเป็นธุรกิจที่ครอบครัวสร้างมา ไม่อยากให้ล้มหายตายจาก ความอยากที่จะสร้างมรดกตกทอดให้แก่สังคมเพื่อให้ชื่อของตระกูลอยู่ในสังคมต่อไป ความอยากให้เติบโตเพื่อส่งต่อธุรกิจที่เป็นดั่งความมั่งคั่งให้แก่ลูกหลานจากรุ่นสู่รุ่น ความรู้สึกดังกล่าวเป็นความรู้สึกถึงความเป็นเจ้าของ (Sense of Ownership) ที่สมาชิกครอบครัวทุกคนมักจะมีเมื่อรับรู้ถึงการมีอยู่ของธุรกิจครอบครัว และเห็นสมาชิกครอบครัวพ่อแม่พี่น้อง ลุงป้าน้าอาเราเข้าไปทำงาน เหน็ดเหนื่อยเพื่อสร้างธุรกิจนี้ขึ้นมา ประสบการณ์ที่เห็นก็อดไม่ได้ที่จะทำให้สมาชิกครอบครัวรับรู้ และรู้สึกถึงความเป็นเจ้าของ ดังนั้นแล้ว ต้นทุนครอบครัวสามารถแบ่งออกได้เป็น 3 ประเภทหลัก
ต้นทุนครอบครัว ประเภทที่ 1: สมาชิกครอบครัว
ต้นทุนที่ชัดเจน แต่ถูกมองข้ามที่สุดในธุรกิจครอบครัว และเป็นสิ่งที่ธุรกิจทุกรูปแบบไม่มี คือการมีผู้สืบทอด หรือคนใกล้ตัวที่สามารถ “สร้าง” เพื่อสืบทอดต่อในธุรกิจครอบครัวได้ “ความเชื่อใจ” เป็นสิ่งที่สร้างยากในโลกของการทำงาน แต่การมีสมาชิกครอบครัวก็เป็นต้นทุนหนึ่งที่ทำให้กงสีเบาใจได้เปราะหนึ่งว่าสมาชิกครอบครัวจะสามารถต่อยอดธุรกิจครอบครัวได้โดยเชื่อได้ใจได้ว่าการส่งต่อ หรือรับสมาชิกครอบครัวเข้าทำงานจะทำให้ธุรกิจครอบครัวเติบโตได้โดยมีคนที่ไว้ใจ
ลูกหลาน หรือรุ่นถัดไปในกงสีถือว่าเป็นขุนพลเอกที่ผู้ใหญ่รุ่นส่งมอบมักจะฝึกปรือให้มารับช่วงต่อในกิจการ เพราะเราได้ให้ต้นทุนที่ดีมีการศึกษา และมีความผูกพันกับธุรกิจครอบครัวมาตั้งแต่เด็กๆ หรือมีญาติพี่น้องที่ไว้ใจในสายเลือดเดียวกัน หรือแม้กระทั้งเขย สะใภ้ที่หลายครอบครัวมักจะมองข้ามกึ่งปฏิเสธ เพราะมองว่าอาจเป็นภัยต่อกงสีได้หากนำเข้ามาทำงาน แต่หารู้หรือไม่ว่านี้คืออีกขุมทรัพย์ที่หลายธุรกิจครอบครัวเริ่มหันกลับมามอง บุคคลากรทุกคนในครอบครัวล้วนแล้วแต่มีศักยภาพ และความผูกพันในธุรกิจครอบครัวเรามาไม่มากก็น้อย
ต้นทุนครอบครัว ประเภทที่ 2: วิสัยทัศน์ครอบครัว
“อยากไปเร็วให้ไปคนเดียว แต่อยากไปไกลต้องไปด้วยกัน” นิยามนี้ผมได้มาจากหนังสือเล่มหนึ่งเขียนโดยที่ปรึกษาองค์กร ที่มองเห็นการเปลี่ยนแปลงของยุคสมัยว่าการทำธุรกิจแบบเป็นทีมนั้นมีคุณค่า และให้ผลระยะยาวที่ดีกว่าในทุกมิติของการทำงาน เช่นเดียวกันกับการทำธุรกิจครอบครัว แม้ว่าในกิจการเราจะมีตำแหน่งผู้บริหารสูงสุด (CEO หรือ MD) ที่ทำหน้าที่เป็นหัวรือออกกลยุทธ์เพื่อเป็นทิศทางในการดำเนินธุรกิจ ถึงกระนั้น “การกำหนดวิสัยทัศน์ของธุรกิจครอบครัว จะต้องเกิดจากวิสัยทัศน์ครอบครัวไม่ใช่ของคนใดคนหนึ่ง” เพราะธุรกิจเป็นของครอบครัวทุกคน การวางรากฐานให้ทุกคนมีส่วนร่วมในการกำหนดว่าธุรกิจควรจะไปในอนาคตแบบไหนจะสร้างประโยชน์ให้ทุกคนรู้สึกถึงความเป็นเจ้าของ และสู้เพื่อจุดมุ่งหมายเดียวกัน ไม่ใช่ของคนใดคนหนึ่งเพียงผู้เดียว
สมาชิกครอบครัวแต่ละคนมีความแตกต่างที่ไม่เหมือนกัน แม้โตมาในที่เดียวกัน แต่ต้องยอมรับว่าบุคคลิกของแต่ละคนนั้นย่อมแตกต่าง เห็นได้ชัดคือการเรียน แนวทางการทำงาน (บางคนสายบัญชี การตลาด นักขาย นักออกแบบ ฯลฯ) ดังนั้น ไอเดีย ความคิดสร้างสรรค์ แรงผลักดันของแต่ละคนย่อมไม่เหมือนกัน หน้าที่ของกงสีคือการสกัดเอาองค์ประกอบเหล่านี้เพื่อผสมออกมาให้เป็นวิสัยทัศน์ของครอบครัว หลายครอบครัวได้ใช้การประชุมครอบครัวเพื่อเป็นแนวทางในการเข้าใจจุดมุ่งหมายของครอบครัว โดยมีที่ปรึกษาคอยสนับสนุน และช่วยเหลือหากครอบครัวไม่ทราบว่าจะต้องสอบถามอย่างไร ทั้งนี้ ครอบครัวจะต้องไม่ลืมค่านิยมของครอบครัวว่า “ทำธุรกิจครอบครัวไปเพื่ออะไร” แม้ความต่างอาจทำให้เกิดความห่าง แต่การมองหาจุดร่วมภายในครอบครัวนั้นเป็นสิ่งสำคัญโดยค่านิคมครอบครัวจะเป็นจุดตรงกลางเพื่อผสานความเห็นของทุกคนเข้าด้วยกัน โดยจะมีกฎระเบียบครอบครัวช่วยเป็นกรอบว่าวิสัยทัศน์แบบไหนที่เป็นไปได้ หรือเป็นข้อจำกัดภายในครอบครัว
วิสัยทัศน์ครอบครัวคือสิ่งรวมใจของคนทั้งบ้าน เป็น North Star (ดาวเหนือ) ที่ทำให้สมาชิกครอบครัวทุกคนเห็นจุดมุ่งหมายเดียวกัน หลายธุรกิจครอบครัวได้กำหนดวิสัยทัศน์ครอบครัวโดยการพูดคุยผ่านสภาครอบครัวที่มีธรรมนูญครอบครัวเป็นกรอบในการประชุมหารือกัน เมื่อได้วิสัยทัศน์ร่วมแล้ว ต่างบริษัท ต่างตำแหน่งก็ต่างไปทำงานวางกลยุทธ์ ออกแบบการทำงานเพื่อให้ได้ซึ่งอนาคตที่ทุกคนเห็นตรงกัน หากวิเคราะห์หลายธุรกิจครอบครัวแล้วนั้น หลายครั้งที่ธุรกิจครอบครัวเกิดข้อพิพาทในการทำงานภายในครอบครัวก็มักเกิดจากอนาคต เกิดจากวิสัยทัศน์ที่มองไม่ตรงกัน ไม่ตกลงกันก่อน เมื่อไม่ตกลงไม่เห็น North Star ดวงเดียวกัน กลยุทธ์ พฤติกรรม รวมถึงการบริหารกิจการก็ย่อมแตกต่าง และเกิดความขัดแย้งเป็นเรื่องธรรมดา ดังนั้นต้นทุนครอบครัวที่สำคัญ ทุกกงสีจึงควรหันกลับมาพูดคุยมองวิสัยทัศน์ของทุกคน และออกแบบวิสัยทัศน์ครอบครัวเพื่อให้ไปได้ไกลตามที่หลายคนวางแผนไว้
ต้นทุนครอบครัว ประเภทที่ 3: ประวัติศาสตร์
กาลเวลาเป็นสิ่งที่ไม่มีใครเปลี่ยนแปลงได้ เช่นเดียวกันกับประวัติศาสตร์ที่เกิดขึ้นในกงสีที่ล้วนแล้วแต่มีความหมาย ซึ่งล้วนแล้วเป็นข้อดีที่สามารถนำไปต่อยอดได้ในธุรกิจครอบครัว ชื่อเสียง นามสกุลของตระกูลเราเป็นสิ่งที่สามารถนำไปใช้ได้เมื่อครอบครัวได้พูดคุยทางธุรกิจ หรือกำลังเปิดธุรกิจใหม่ ต้นทุนดังกล่าวเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อกงสีเราได้สั่งสมชื่อเสียง บารมีมาอย่างยาวนาน เช่นเดียวกันกับความลับทางการค้า หรือประสบการณ์บางประการที่ไม่สามารถแบ่งปันสู่คนนอกได้ “เคล็ดลับ” ต่างๆ ที่เป็นสูตรเฉพาะในครอบครัว เกือบทุกธุรกิจครอบครัวที่ได้ให้คำปรึกษามักมี “ความลับ” บางอย่างที่เก็บไว้เฉพาะคนในครอบครัวเท่านั้น ด้วยความโชคดีที่ผมได้รับความเชื่อใจจึงมีโอกาสได้ทราบว่า แม้แต่อุตสาหกรรมการผลิตบางประการก็มีการปรับปรุงรูปแบบการผลิตหน้างานแม้กระทั้งช่างเทคนิคก็ไม่ทราบเพื่อคงความเป็นเอกลักษณ์ หรือความได้เปรียบทางการค้าไว้อย่างแน่นหนา และนั้นเป็นสาเหตุว่าบางตำแหน่งจึงถูกจับจองไว้เพื่อสมาชิกครอบครัวเท่านั้น
ทรัพย์สินครอบครัวเป็นอีกหนึ่งต้นทุนของครอบครัวที่สามารถเป็นสารตั้งต้นเพื่อพัฒนาธุรกิจได้ เมื่อธุรกิจครอบครัวกำลังมองหาการเข้าถึงแหล่งทุน การเข้าถึงสถาบันการเงิน หรือกำไรสะสมของกิจการในบางครั้งก็ไม่เพียงพอ และมีข้อจำกัด กงสีจึงสามารถนำทรัพย์สินของครอบครัว อาทิ ที่ดิน และเงินสด เข้ามาเพิ่มทุน เป็นทุนจดทะเบียนเพิ่มเติมในธุรกิจครอบครัวได้เพื่อพัฒนาขยายต่อ ซึ่งถือว่าทรัพย์สินครอบครัวเป็นอีกหนึ่งแหล่งทุนที่ธุรกิจครอบครัวไม่อาจมองข้ามได้
อีกหนึ่งต้นทุนครอบครัวที่เป็นจุดแข็งของธุรกิจครอบครัวคือคนรู้จักในครอบครัว หรือให้เรียกโดยง่ายคือ Connection การสอบถามถึงคนที่รู้จัก เข้าถึงกลุ่มบุคคลทางการค้าที่ต้องการโดยมีความสัมพันธ์ที่ไม่ใช่เพียงคู่ค้ามักซ่อนไว้ซึ่งความสามารถในการพัฒนาไปสู่การค้าได้ในอนาคต ธุรกิจครอบครัวหนึ่งที่ได้ไปนั่งเป็นกรรมการครอบครัว ได้เคยมีความพยายามควบคุมต้นทุน โดยมีกลยุทธ์ในการหาแหล่งต้นทุนวัตถุดิบที่ถูกลง แต่คงคุณภาพเท่าเดิม ความพยายามโดยใช้พนักงานจัดซื้อ (Procurement) ในการติดต่อไม่เป็นผลเพราะเราเป็นเพียงธุรกิจคู่ค้าที่แค่พยายามต่อราคามากขึ้นเท่านั้น แต่พอได้แนะนำให้ไปสอบถามทางสภาครอบครัว (ครอบครัวดังกล่าวได้จัดทำธรรมนูญครอบครัว และตั้งสภาครอบครัว) ว่ามีสมาชิกครอบครัวคนไหนมี Connection เกี่ยวกับวัตถุดิบที่ต้องการหรือไม่ ภายในไปถึง 2 สัปดาห์ มีครอบครัวหนึ่งมีคนรู้จักที่เป็นเจ้าของ และทำธุรกิจเกี่ยวกับวัตถุดิบดังกล่าว เหตุการดังกล่าวทำให้เจ้าของคุยกับเจ้าของ การทำการค้าจึงง่ายขึ้น และความสัมพันธ์ทางการค้าราบรื่นเป็นอย่างมาก ท้ายที่สุด ธุรกิจครอบครัวนี้สามารถหาแหล่งวัตถุดิบที่มีต้นทุนถูกลงเกือบ 20% ผลพวงดังกล่าวเกิดขึ้นเพราะคนรู้จักในครอบครัว
หากกล่าวโดยสรุป
ต้นทุนครอบครัวคือทุนทรัพย์ที่หลายกงสีมักมองข้าม เพราะมัวแต่มุ่งเน้นไปเฉพาะแค่ธุรกิจ เชื่อว่าหลายธุรกิจครอบครัวได้มีความพยายามผลักดันธุรกิจให้อยู่รอด หรือเติบโตขึ้น วางกลยุทธ์ทางธุรกิจอย่างรัดกุมแต่อาจไม่เกิดผล หรือในทางกลับกันคือกลับสร้างผลร้ายแก่ความสัมพันธ์ครอบครัวเพียงเพราะเราไม่เข้าใจความเป็นธุรกิจ “ครอบครัว” การสร้างวิสัยทัศน์ร่วมภายในกงสี และการแสวงหาประโยชน์จากประวัติศาสตร์ครอบครัว ทุกครอบครัวจึงต้องหันกลับมามองสิ่งที่เป็นต้นทุนของครอบครัว และหาวิธีสานต่อจากสิ่งที่มีเพื่อสร้างอนาคตที่เหมาะสม เริ่มต้นง่ายๆ ที่การจัดประชุมครอบครัววางวิสัยทัศน์ครอบครัว วางสมาชิกครอบครัวเข้ามามีส่วนร่วม และ/หรือพัฒนาประวัติศาสตร์ครอบครัวให้เป็นกลยุทธ์เพิ่มเติมในธุรกิจครอบครัวต่อไป
แล้วต้นทุนทางธุรกิจ (Business Capital) มีอะไรบ้าง?
พบกับการวิเคราะห์ในบทความหน้าตอนที่ 2.