ทำธรรมนูญครอบครัว เพื่ออะไร?

ธรรมนูญครอบครัว

   ธรรมนูญครอบครัวคือ “ข้อตกลงร่วมของครอบครัวในการบริหารจัดการ และวางกฎระเบียบการอยู่ร่วมกันในกงสี (ธุรกิจ และครอบครัว) เพื่อคงความเป็นเจ้าของ และสามารถส่งต่อความมั่งคั่งนี้จากรุ่นสู่รุ่น” ธรรมนูญครอบครัวได้ถูกใช้เป็นเครื่องมือเพื่อนำไปใช้งานหลากหลาย เพื่อบริหารจัดการให้กงสีมีกรอบการทำงานที่เป็นจุดร่วมของคนในครอบครัว การจัดทำธรรมนูญครอบครัวมีองค์ประกอบในการพูดคุยหารือกันอยู่ 9 เรื่องหลัก ๆ อันประกอบไปด้วย

1. ค่านิยมครอบครัว

2. อนาคตธุรกิจครอบครัว

3. โครงสร้างธุรกิจ และโครงสร้างครอบครัว

4. สิทธิ หน้าที่ (สมาชิกครอบครัว)

5. สวัสดิการครอบครัว

6. การบริหารธุรกิจครอบครัว

7. การสืบทอดธุรกิจครอบครัว

8. ทรัพย์สิน และความมั่งคั่ง

9. กฎบ้าน

   ซึ่งหลายครอบครัวได้นำองค์ประกอบเหล่านี้ไปจัดทำธรรมนูญครอบครัวผ่านการให้คำปรึกษาโดยเครื่องมือ Family Charter Canvas (FCC) สามารถอ่านบทความเกี่ยวกับการจัดทำธรรมนูญครอบครัวผ่าน FCC ได้ที่

https://www..aunyanuphap-consulting.com/article/familychartercanvas

https://www..aunyanuphap-consulting.com/article/familychartercanvasprocess1

https://www..aunyanuphap-consulting.com/article/familychartercanvasprocess2

   อย่างไรก็ตาม แม้ธรรมนูญครอบครัวจะเป็นเครื่องมือชั้นดี เป็นสารตั้งต้นในการสร้างธุรกิจครอบครัวที่ยั่งยืน แต่หากธุรกิจครอบครัวไม่ตั้งคำถามกับตัวเองว่า “เราทำธรรมนูญครอบครัวไปเพื่ออะไร?” ธุรกิจครอบครัวเราพยายามจะบรรลุจุดประสงค์อะไร การจัดทำธรรมนูญครอบครัวก็จะไม่เกิดผลลัพธ์อันเป็นที่คาดหวังภายในครอบครัว

   ด้วยเหตุนี้ บทความนี้จึงขอมาวิเคราะห์ว่าการจัดทำธรรมนูญครอบครัวนั้นสามารถมีจุดประสงค์อะไรบ้างเพื่อสามารถนำคำถามนี้ไปตัดสินใจภายในครอบครัวได้ และวางหมุดในการจัดทำธรรมนูญครอบครัวอย่างถูกต้อง โดยจุดประสงค์ในการทำธรรมนูญครอบครัวสามารถแบ่งออกได้เป็น 4 มิติ ดังนี้


1. เพื่อเติบโต (Growth)

ธรรมนูญครอบครัวเป็นเครื่องมือมุ่งเน้นไปที่การเติบโต พูดคุยเชิงลึกในนโยบายในการเติบโต (Business Policies) ลงรายละเอียดเกี่ยวกับนโยบายการบริหาร (Management Policies) ทั้งในเรื่องของอำนาจของผู้ถือหุ้น อำนาจกรรมการ สิทธิของผู้บริหาร และความเป็นมืออาชีพในธุรกิจครอบครัวอย่างชัดเจน หลายกิจการที่ตั้งใจทำธรรมนูญครอบครัวมักมุ้งเน้นไปในเรื่องของการวางกลไกการบริหารธุรกิจให้ชัดเจน โปร่งใส เพื่อป้องกันการทะเลาะกันภายในครอบครัวแต่ลืมนึกไปว่าหนึ่งในข้อพิพาทที่สำคัญในธุรกิจครอบครัวคือคนในบ้าน “มองอนาคตการเติบโตไม่เหมือนกัน” (Growth Differential) ด้วยเหตุนี้ ธรรมนูญครอบครัวจึงจะต้องลงรายละเอียดเกี่ยวกับอนาคตของธุรกิจครอบครัวทั้งในเชิงนโยบาย และเชิงบริหารอย่างชัดเจน มองหาตรงกลางว่ากงสีเราจะเดินทางต่ออย่างไรภายใต้ข้อตกลงร่วมกันของครอบครัว

ในเชิงนโยบายการเติบโต (Growth Policies) ธรรมนูญครอบครัวจะต้องวางหลักการว่าธุรกิจครอบครัวมีแนวทางในการเติบโตอย่างไร? เติบโตตามธุรกิจเดิม เน้นการลงทุนในธุรกิจเดิม (Reinvest) เน้นยอดขาย (Revenue) Top-line มากกว่า กำไรสุทธิ หรือ Bottom-line หรือการขยายกลุ่มธุรกิจ (Diversify) นำกำไรสุทธิ (Bottom-line) มา reinvest ในกิจการใหม่ที่ครอบครัวมองว่าเป็น New S-Curve ในธุรกิจครอบครัว หรือหากครอบครัวเลือกเป็นการเติบโตแบบควบคู่ (Hybrid) ทั้งเติบโตในธุรกิจเดิม และขยายกลุ่มธุรกิจ สภาพคล่องของทุนธุรกิจอาจต้องมีสูง โดยหากเลือกเป็นเช่นนั้น ครอบครัวอาจต้องพูดคุยถึงความเป็นไปได้ที่การเติบโตของครอบครัวคือการปรับโครงสร้างเพื่อเข้าตลาดหลักทรัพย์ หรือการร่วมทุนกับบุคคลภายนอกเพื่อให้ได้ซึ่งนโยบายการเติบโตของครอบครัว

ในเชิงนโยบายการบริหาร (Management Policies) จะต้องลงรายละเอียดว่ากรรมการบริษัทจะมีบทบาทอย่างไรเพื่อจัดโครงสร้างธุรกิจครอบครัวให้เป็นมืออาชีพมากขึ้น ในบางธุรกิจครอบครัวได้เริ่มมีการวางโครงสร้างภายในองค์กร แบ่งหมวกกรรมการบริหารจากหมวกผู้บริหาร แบ่งการตัดสินใจออกจากการทำงาน หรือเป็นการให้กรรมการบริษัทกระจายอำนาจการตัดสินใจ (Delegate of Authorization) บางอย่างแก่ผู้บริหารเพื่อไปดำเนินการตามกรอบที่กรรมการกำหนด แนวทางดังกล่าวคือการสร้างความเป็นมืออาชีพที่หลายคนวางแผนไว้ ทั้งนี้ นโยบายดังกล่าวสามารถเกิดขึ้นได้ ก็ต่อเมื่อมีการพูดคุยใช้ชั้นครอบครัวเพื่อตกลงที่จะดำเนินการในแนวทางดังกล่าว

การมอง Growth Differential ไม่ใช่ความน่ากลัวของการจัดทำธรรมนูญครอบครัว ในทางกลับกันธรรมนูญครอบครัวมีไว้เพื่อดึง Growth Differential ที่เป็นดั่งปัญหาใต้พรมออกมาหาข้อตกลงร่วมกันภายในครอบครัว และธรรมนูญครอบครัวก็ควรที่จะนำเอาอนาคตของธุรกิจครอบครัวมาพูดคุยหารือเพื่อสร้างแนวทางตรงกลางให้ทุกคนสามารถต่อยอดกงสีตามสิ่งที่ครอบครัวตกลงกันได้ ดังนั้น หากครอบครัวใดกำลังจัดทำธรรมนูญครอบครัวโดยหลีกหนีการพูดคุยเรื่องการเติบโต ครอบครั้วดังกล่าวก็อาจจะกำลังปกปิดสิ่งที่เป็นดั่งกุญแจสำคัญในการทำธรรมนูญครอบครัวนั้นคือการสร้างอนาคตร่วมกัน


2. เพื่อส่งต่อ (Succession)

การส่งต่อธุรกิจครอบครัวเป็นปัจจัยสำคัญที่ทุกธุรกิจครอบครัวต้องคำนึกถึง ไม่เว้นแต่การจัดทำธรรมนูญครอบครัว ในระหว่างการจัดทำครอบครัวควรจะหารือกันในเรื่องของสิทธิ และความสามารถของการได้รับความเป็นเจ้าของธุรกิจ เนื่องจากอาจไม่ใช่ทุกคนที่จะได้รับสิทธิในการรับช่วงต่อในธุรกิจครอบครัว

ธุรกิจครอบครัวหนึ่งที่ได้ไปให้คำปรึกษาในการจัดทำธรรมนูญครอบครัว คุณพ่อคุณแม่มีพี่น้อง 4 คน โดยลูกทั้ง 4 คนนั้น มีเพียง 1 คนที่เป็นคนทำงานในธุรกิจครอบครัว หลักการคุณพ่อคุณแม่มองว่าด้วยสิทธิของความเป็นลูก ทุกคนจึงมีสิทธิในการรับช่วงต่อกิจการในฐานะผู้ถือหุ้น แต่ปัญหาของครอบครัวนี้คือมีเพียงลูก 1 คนที่มีความสามารถในการรับช่วงต่อกิจการเนื่องจากมีประสบการณ์ในการทำงานในกิจการครอบครัวเพียงผู้เดียว ปรากฏการณ์ดังกล่าวสร้างความลำบากใจให้แก่พ่อแม่ทั้งคู่เนื่องจาก การจะไปบอกลูกอีก 3 คนว่าแม้พวกเขามีสิทธิแต่ไม่สามารถเข้ามาสืบทอดในกิจการครอบครัวได้นั้น เป็นอะไรที่พ่อแม่คงปวดใจไม่น้อย สุดท้ายด้วยการปรับโครงสร้างกิจการ และการบริหารการเปลี่ยนแปลงธุรกิจครอบครัวดังกล่าวจึงสามารถวางแผนการสืบทอดโดยมีลูกผู้ทำงานเป็นผู้สืบทอด และมีสัดส่วนการถือหุ้นที่มากกว่าท่านอื่นได้

เหตุการณ์ดังกล่าวสะท้อนอะไรในภาพใหญ่ของธุรกิจครอบครัว การวางแผนการสืบทอดกิจการ เพื่อส่งต่อไปยังคนรุ่นถัดไปจึงเป็นแนวทางที่สำคัญ และต้องตกลงกันในธรรมนูญครอบครัว เนื่องจากการส่งต่อธุรกิจเป็นกระบวนการที่ต้องคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของกิจการ และใช้เวลา ดังนั้น หากครอบครัวไม่ได้พูดคุย และสื่อสารระหว่างการจัดทำกฎครอบครัว ความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนอาจก่อเกิดขึ้นได้ โดยอาจเข้าใจว่าธุรกิจครอบครัวที่กำลังสร้างนั้นจะเป็นคนใครแต่เพียงผู้เดียว หรือความพยายามในการจัดทำกฎกงสีก็เพื่อแยกกงสี แยกทรัพย์สิน หลายธุรกิจครอบครัวเมื่อไม่ได้พูดถึงการส่งต่อในการจัดทำธรรมนูญครอบครัวก็มักเกิดข้อพิพาทจากความเข้าใจผิดทั้งสิ้น สุดท้าย หลายครอบครัวก็ได้ล้มเลิกการจัดทำธรรมนูญครอบครัวไปเพียงเพราะมองไม่รอบ ไม่สอบทานอย่างรอบคอบเรื่องการส่งต่อธุรกิจครอบครัวในอนาคต

การพูดคุยเรื่องการส่งต่อธุรกิจครอบครัวต้องมองทั้งภาพความเป็นเจ้าของ และภาพการทำงาน ในมิติของความเป็นเจ้าของนั้นสามารถจัดสรรภายในครอบครัวได้ตามหลักการที่ครอบครัวกำหนดว่าจะจัดสรรเหตุเพราะเป็นคนในครอบครัว หรือจัดสรรเพราะความเหมาะสมในการทำงาน การเลือกแนวทางทั้งสองสามารถจัดการได้ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจภายในครอบครัว และอีกมิติของการส่งต่อคือในเรื่องของการบริหาร ที่จะต้องลงรายละเอียดว่าสมาชิกครอบครัวจะสามารถเข้ามาบริหารในธุรกิจครอบครัวนั้นจะต้องมี Requirement หรือกฎเกณฑ์ประมานไหนบ้างเพื่อสร้างเป็นบรรทัดฐานความเป็นมืออาชีพในธุรกิจครอบครัว


3. เพื่อจัดสรร (Allocation)

เมื่อมีการส่งต่อก็ย่อมต้องมีการจัดสรร ในธุรกิจครอบครัวการจัดสรรจะมีหลักการอยู่ 3 เรื่อง คือการจัดสรรสิทธิ หน้าที่ และทรัพย์สิน การจัดสรรสิทธิจะครอบคลุมไปในเรื่องของสิทธิความเป็นสมาชิกครอบครัวซึ่งจะกำหนดว่าใครคือสมาชิกครอบครัวในธรรมนูญครอบครัว สิทธิในการถือหุ้นที่มาจากความเป็นสายเลือด หรือเขย สะใภ้ และอื่นๆ ตามข้อตกลงครอบครัว สิทธิในการเข้าทำงานในธุรกิจครอบครัวเนื่องจากในบางธุรกิจครอบครัวอาจกำหนดข้อจำกัดของผู้ที่สามารถเข้าทำงานในกิจการครอบครัวได้ และสิทธิในการได้รับประโยชน์จากความเป็นคนในครอบครัว ซึ่งอาจหมายถึงสวัสดิการครอบครัวที่จะได้รับ สิทธิในการได้เป็นสภาครอบครัวเพื่อพิจารณาตัดสินใจในเรื่องสำคัญภายในกงสี

หลักการที่สองคือการจัดสรรหน้าที่ สมาชิกครอบครัวทุกคนที่อยู่ในธรรมนูญครอบครัวจะต้องได้รับบทบาทหน้าที่เพื่อสร้างประโยชน์ให้แก่กงสีไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม ไม่ว่าคนทำงานหรือไม่ทำงาน ไม่ว่าจะเป็นเด็กหรือผู้สูงอายุ ในธรรมนูญครอบครัวจะต้องกำหนดบทบาท หน้าที่ให้กับแต่ละกลุ่มเพื่อปฏิบัติตาม ทั้งนี้ สมาชิกครอบครัวที่อยู่ในเกณฑ์ก็อาจได้รับเลือกเพื่ออยู่ในตำแหน่งเฉพาะของโครงสร้างครอบครัว อาทิ เลขาครอบครัวฯ สภาครอบครัว (คณะกรรมการครอบครัว) คนวางแผนการพัฒนาสมาชิกครอบครัว หรือในบางครอบครัวก็อาจมี Brand Ambassador ภายในครอบครัวเช่นเดียวกัน

การจัดสรรทรัพย์สินเป็นองค์ประกอบที่หลายครอบครัวให้ความสำคัญ และตั้งตารอเพื่อดูว่า “เค้าจะได้อะไร” จากการจัดสรรทรัพย์สินครั้งนี้ แต่ในความเป็นจริงแล้ว การจัดสรรทรัพย์สินในธรรมนูญครอบครัว จะเป็นการจัดสรรเพื่อวางโครงสร้างของทรัพย์สินให้ถูกต้องตามเจตนารมณ์ของสมาชิกครอบครัว มากกว่าการตัดแบ่งทรัพย์สินให้แก่สมาชิกครอบครัวแต่ละคน อาทิเช่น วางจุดประสงค์ของที่ดินครอบครัวว่ามีไว้เพื่อเก็บภายในครอบครัว (เพื่ออยู่อาศัย) แบ่งภายในครอบครัว (มรดก) ขาย หรือต่อยอดทางธุรกิจ หรือในอีกมิติคือการจัดสรรทรัพย์สินส่วนตัวเพื่อเป็นเงินครอบครัวเพื่อนำไปใช้ดูแลสมาชิกครอบครัว หรือที่หลายคนเรียกกันว่า “สวัสดิการครอบครัว” ทั้งนี้ การวางแผนการจัดสรรนั้นมีไว้เพื่อการสร้างความปรองดองในกงสีต่อไป


4. เพื่อปรองดอง (Harmony)

ความปรองดอง

จุดประสงค์ของธรรมนูญครอบครัวนั้นมีไว้เพื่อการสร้างความปรองดองในครอบครัว (Family Harmony) (สามารถกลับไปอ่านความหมาย และองค์ประกอบของความปรองดองครอบครัวได้ที่: https://www.theeraphap.com/article/challenges-and-resolution-of-family-harmony) การที่ครอบครัวมีความปรองดองนั้นหมายถึงสมาชิกครอบครัวไม่ได้หวังความพิเศษให้กับตัวเอง (Exclusivity) แต่เป็นการมองถึงประโยชน์กงสี (Inclusivity) หรือสร้างสรรค์ผลประโยชน์โดยมีสำนึกความเป็นกงสีอยู่ตลาด ความปรองดองคือการที่ทุกคน “ได้รับ” บทบาทหน้าที่ ความมั่งคั่ง การดูแล ความเป็นเจ้าของ และโอกาสอย่างเสมอภาค นำเสนอโอกาสให้แก่สมาชิกครอบครัวที่มีสิทธิเข้ามาร่วมสร้างกงสีตามอนาคตการเติบโตที่ครอบครัวได้ตั้งหลักการไว้ในธรรมนูญครอบครัว

ธรรมนูญครอบครัวที่มุ่งเน้นเรื่องความปรองดองจะทำให้สมาชิกครอบครัวมีส่วนร่วม (Engagement) ภายในธุรกิจครอบครัวในอัตราที่สูง ธุรกิจครอบครัวหนึ่งที่ได้ไปให้คำปรึกษาในการสานต่อธรรมนูญครอบครัว (Family Charter Continue) ให้เสร็จลุล่วงเหตุจากไม่ทราบว่าเพราะเหตุใดที่ตั้งกฎระเบียบไว้อย่างครอบคลุม เริ่มต้นจากคนไม่กี่คนพูดคุยกันเองถามกันว่า “ควรคุยเรื่องอะไร” และพยายามทำสร้างกฎทุกข้อเท่าที่คิดได้ แต่ในความเป็นจริงแล้ว จุดประสงค์การทำธรรมนูญครอบครัวนั้นสำคัญไม่แพ้ความจำเป็นของกฎระเบียบ นั้นหมายความว่าการให้คำปรึกษานั้นได้เชิญชวนสมาชิกครอบครัวรุ่นใหม่ และคนที่จำเป็นท่านอื่นมาร่วมออกแบบ ซึ่งแทนที่จะเป็นการเพิ่มกฎที่มากอยู่แล้ว แต่กลับกลายเป็นการปรับเปลี่ยน และลดกฎที่มากเกินไปซึ่งอาจเป็นการสร้างความอึดอัดให้กับคนในครอบครัวได้

“การสร้างกฎระเบียบครอบครัว ควรจะเน้นที่หลักการ และความถูกต้อง มากกว่าข้อผูกมัด”


หากกล่าวโดยสรุป

ธรรมนูญครอบครัวเป็นเครื่องมือที่มีกระบวนท่าในการจัดทำอย่างหลากหลาย และมีกฎระเบียบนับร้อยนับพันที่ครอบครัวสามารถพิจารณากำหนดไว้ในธรรมนูญครอบครัวได้ แต่การเริ่มต้นธรรมนูญครอบครัวด้วยหลักการจาก “อะไร” “ควรมีกฎอะไรบ้าง” หรือ “ควรตั้งกฎอะไร” นั้นอาจเป็นความเสี่ยงที่ทำให้สมาชิกครอบครัวหลายคนถอยห่าง และต่อต้านกฎ เหตุเพราะสมาชิกครอบครัวหลายคนอาจไม่เข้าใจเจตนารมณ์ของธรรมนูญครอบครัว แต่หากเริ่มต้นจาก “ทำไม” “ทำไมจึงต้องมีกฎครอบครัว” “เพราะอะไรกฎครอบครัวถึงสำคัญต่อการเติบโตในกงสี” นั้นจะเป็นการสร้างแรงดึงดูดให้คนในครอบครัวร่วมออกความคิดเห็น และต่อยอดกลายเป็นกฎระเบียบครอบครัว เป็นธรรมนูญครอบครัวที่หลายธุรกิจครอบครัวต้องการที่จะสร้างเพื่อเติบโต เพื่อส่งต่อ เพื่อจัดสรร และเพื่อปรองดองภายในครอบครัว

ดังนั้น หากท่านกำลังพิจารณาจัดทำธรรมนูญครอบครัว จงพิจารณาจุดประสงค์การจัดทำธรรมนูญครอบครัวอย่างถี่ถ้วน ตั้งหลักประเด็นการพูดคุยอย่างเหมาะสม และใช้เครื่องมือในการสื่อสาร จัดทำธรรมนูญครอบครัวอย่างถูกต้องเพื่อทำให้ธรรมนูญครอบครัวมีประสิทธิภาพ และสามารถนำไปปฏิบัติได้ตามเจตนารมณ์ของผู้จัดทำธรรมนูญครอบครัวทุกคน

Previous
Previous

คำสาปรุ่นที่ 3 เกิดจากอะไร?

Next
Next

ธุรกิจครอบครัว มีดีอะไร? ตอนที่ 1. ต้นทุนครอบครัว