ธรรมนูญครอบครัว เชื่อมโยง เปลี่ยนแปลงระบบการเงินธุรกิจครอบครัวอย่างไร
ธรรมนูญครอบครัวคือข้อตกลงร่วมของครอบครัวในการบริหารจัดการ และวางกฎระเบียบการอยู่ร่วมกันในกงสี (ธุรกิจ และครอบครัว) เพื่อคงความเป็นเจ้าของ และสามารถส่งต่อความมั่งคั่งนี้จากรุ่นสู่รุ่น ธรรมนูญครอบครัวเป็นเครื่องมือที่สร้างกลไกต่อยอดความมั่งคั่งภายในกงสี เปรียบได้ว่าเป็นกรอบการบริหารกงสีทั้งในมิติของกิจการครอบครัว และความสัมพันธ์การดูแลภายในครอบครัว ซึ่งหลายครอบครัวได้เริ่มการทำธรรมนูญครอบครัวเป็นสารตั้งต้นความยั่งยืน โดยใช้ Family Charter Canvas ในการจัดทำ
สามารถย้อนอ่านบทความเกี่ยวกับ Family Charter Canvas ได้ที่ บทความ 1 และ บทความ 2
อย่างไรก็ตาม ธรรมนูญครอบครัว ณ ปัจจุบัน มักถูกใช้งานในมิติของการสร้างความสัมพันธ์ สร้างความรัก กระชับความปรองดองภายในครอบครัวเพียงอย่างเดียว ซึ่งหลายครอบครัวที่ได้ไปให้คำปรึกษาเพราะไม่สามารถปฏิบัติใช้ธรรมนูญครอบครัวได้เนื่องจากไม่สามารถหาจุดเชื่อมโยงในการประยุกต์ข้อตกลงของครอบครัวให้เป็นกลยุทธ์ทางธุรกิจได้อย่างเป็นรูปธรรม เนื่องจากจุดประสงค์ที่แตกต่างระหว่าง 3 ระบบนั้นมีความแตกต่างธุรกิจ (การแสวงหาการเติบโต ผลกำไร) ความเป็นเจ้าของ (ผลตอบแทน การสืบทอด) และครอบครัว (ความสัมพันธ์ ความมั่งคั่ง) แม้ธรรมนูญนั้นสามารถกำหนดหลักการได้ แต่ในทางปฏิบัติแล้วครอบครัวมักเจออุปสรรคในการหาทางต่อยอดแผนการเพื่อสร้างการเติบโต ผสานกับความเป็นมืออาชีพที่ยังคงความปรองดองภายในครอบครัว และเมื่อไม่สามารถประยุกต์ใช้ธรรมนูญให้เป็นแผนของกิจการได้ หลายธุรกิจครอบครัวจึงย้อนกลับมามุ่งแน่นเพียงเฉพาะเรื่องของธุรกิจ โดยมองว่าธรรมนูญครอบครัวที่จัดทำขึ้นมานั้นใช้ไม่ได้ จึงปล่อยเบลอไม่สนใจข้อตกลงครอบครัวอีกต่อไป ผลกระทบที่เกิดขึ้นคือเมื่อมุ่งเน้นเพียงแค่ธุรกิจ แนวคิดการทำธุรกิจก็ย่อมแตกต่าง จึงทำให้เกิดข้อพิพาทภายในครอบครัวซึ่งไม่สามารถหาข้อยุติได้หากไม่มีกรอบที่เคยตกลงกัน จนสุดท้ายทุกคนก็ย้อนกลับมามองที่ “ธรรมนูญครอบครัว” ที่เคยทิ้งขว้างไว้ และกลายเป็นวงจรที่ไม่สามารถแก้ได้อย่างไม่จบไม่สิ้น
ด้วยเหตุนี้ คำถามที่สำคัญซึ่งต้องหาคำตอบให้ได้คือธรรมนูญครอบครัวสร้างการเปลี่ยนแปลงในระบบการเงินธุรกิจครอบครัวอย่างไร เพื่อให้ธรรมนูญครอบครัวเป็นเครื่องมือในการวางกลยุทธ์ของกลุ่มธุรกิจให้เป็นไปตามข้อตกลงของครอบครัว? เมื่อธุรกิจครอบครัวใช้ระบบการเงินการบัญชีเข้ามาจับซึ่งมีมาตรฐานการรายงานทางการเงินสำหรับกิจการที่ไม่มีส่วนได้เสียสาธารณะ (NPAE) ที่หลายธุรกิจครอบครัวใช้ทุกปีเพื่อนำส่งงบให้กับทางราชการ จะสามารถนำมาวิเคราะห์งบการเงินได้ดังต่อไปนี้:
งบดุล (Balance Sheet)
งบดุลของหลายธุรกิจครอบครัวที่เคยวิเคราะห์ และให้คำปรึกษา ก่อนหน้าที่จะจัดทำธรรมนูญครอบครัว กงสีมักมีระบบเงินครอบครัว “ฝั่งตัว” อยู่ในระบบธุรกิจ ไม่ว่าจะอยู่ในบัญชีเล่มที่สอง (ไม่ได้ระบุไว้ในงบดุลฉบับนำส่งหน่วยงานราชการ) หรือเงินที่กรรมการ (ครอบครัว) กู้ยืมมาจากบริษัท กลยุทธ์เมื่อก่อนเป็นการดึงเงินสดออกจากกิจการซึ่งทำให้เงินสด (Cash) จากฝั่งทรัพย์สินลดลง แต่รายได้อื่น (Other Receivables) มีมากขึ้น และทำให้ฝั่งรายได้มีเยอะกว่าความเป็นจริงโดยไม่เกี่ยวข้องกับการดำเนินกิจการอะไร เช่นเดียวกันกับทรัพย์สิน (Inventory) ของกิจการที่จะมีมากขึ้นเพราะมีการซื้อสิ่งของเป็นสวัสดิการครอบครัว (รถยนต์ คอมพิวเตอร์ เฟอร์นิเจอร์ ฯลฯ) สอดคล้องกับรายจ่ายฝั่งหนี้สินที่มีเพิ่มมากขึ้นจากรายจ่ายของครอบครัวดังกล่าว
กิจกรรมของครอบครัวที่ดำเนินอยู่ภายใต้งบดุลทำให้เงินสดของกิจการไม่ได้สะท้อนหลักความเป็นจริง (เป็นของธุรกิจทั้งหมด) การดำเนินต่อยอดกิจการหลายครั้งจึงชะงัก ไม่สามารถวิเคราะห์ เพื่อลงทุนพัฒนาได้อย่างเต็มที่เนื่องจากตัวชี้วัดทางการเงิน (อัตราผลตอบแทนจากสินทรัพย์ (ROA) อัตราส่วนหนี้สินต่อทุน (D/E) ฯลฯ) ไม่สามารถวิเคราะห์ได้อย่างมืออาชีพ แม้หลายครอบครัวพยายามจัดทำบัญชีสองระบบ นั้นหมายถึงบัญชีนำส่งราชการผสานบัญชีสอง แต่นั้นก็ไม่สามารถสะท้อนมูลค่าที่แท้จริงของกิจการ กระทบความสามารถในการวิเคราะห์ และวางแผนในกิจการครอบครัวอย่างเป็นมืออาชีพ
การมีธรรมนูญครอบครัวที่มีข้อตกลงอย่างครอบคลุมจะมีผลกระทบต่อการปรับงบดุลบริษัท เนื่องจากระบบการเงินระหว่างธุรกิจกับครอบครัวจะแยกออกจากกัน และจะต้องทำให้เกิดความถูกต้องทางภาษีเพื่อลดความเสี่ยงการประเมินภาษีย้อนหลัง (มีโทษทั้งเบี้ยปรับ และเงินเพิ่ม) ส่งผลให้รูปแบบการแปลงจากเงินธุรกิจเป็นเงินครอบครัวแตกต่างออกไปจากเดิม กรณีศึกษาจากหลายธุรกิจครอบครัว เมื่อก่อนหลายกิจการจะต้องจ่ายเงินออกทางเงินเดือน เงินกรรมการกู้ยืม หรือเงินบัญชีเล่มที่สอง กลายเป็นการจ่ายเงินปันผลจากกิจการสู่ผู้ถือหุ้น (สมาชิกครอบครัว) ดั่งกิจการทั่วไปที่คืนกำไรสู่ผู้ถือหุ้น ดังนั้น เพื่อให้สามารถดำเนินแนวทางดังกล่าวได้ Balance Sheet จะต้องสร้างกำไรสะสมทางบัญชีพร้อมกับมีเงินสดมากขึ้น ซึ่งหมายถึงกำไร (ขาดทุน) สะสม (Retained Earning) ในส่วนของผู้ถือหุ้น (Equity) จะมีมากขึ้น สอดคล้องกับเงินสด (Cash) ในฝั่งทรัพย์สิน (Asset) จึงจะสามารถดำเนินการจ่ายเงินปันผลสู่ผู้ถือหุ้น
หากธรรมนูญครอบครัวระบุเช่นเดียวกันว่าทรัพย์สินกงสี จะถูกจัดสรรอย่างถูกต้องตามจุดประสงค์สร้างความชัดเจนโปร่งใส ทรัพย์สินที่กิจการใช้อยู่นั้นสามารถแปลงจากทรัพย์สินครอบครัวกลายเป็นทุนกิจการ (Asset share swap) เพื่อนำมาใช้ในการต่อยอด ดำเนินกิจการได้อย่างถูกต้อง ด้วยเหตุนี้ ทรัพย์สินไม่หมุนเวียนในฝั่งทรัพย์สิน (Asset) ส่วนของที่ดิน หรืออาคารจะมีสูงขึ้นไปพร้อมกับทุนของส่วนผู้ถือหุ้น (Equity) ที่จะมีมากขึ้นไปพร้อมกัน การจัดสรรด้วยกลยุทธ์ดังกล่าวจะทำให้ธุรกิจครอบครัวสามารถวิเคราะห์งบดุลได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นเนื่องจากรายการต่างๆ ที่ระบุไว้ในงบดุลจะสะท้อนความเป็นจริงมากขึ้น ไม่มีรายการใต้ดิน หรือรายการซุกซ่อนภายในงบดุลอีกต่อไป ซึ่งจะสามารถสะท้อนมูลค่าทางบัญชีได้ หากจะต้องมีการซื้อขายหุ้นภายในหรือภายนอกครอบครัว
งบกำไรขาดทุน (Financial Statement)
งบกำไรขาดทุนเป็นรายงานการดำเนินงานของกิจการเพื่อดูว่าการดำเนินกิจการเริ่มต้นตั้งแต่กำไรการขาย จนไปถึงกำไรสุทธิเป็นอย่างไร โดยทั่วไปแล้ว Financial Statement สามารถสะท้อนได้ถึงประสิทธิภาพของการขาย ต้นทุนสินค้า (หรือบริการ) ต้นทุนการบริหาร (Operational Expense) ต้นทุนทางด้านค่าเสื่อมราคา (Amortization & Depreciation) และอัตราดอกเบี้ย หรือภาษี (Interest & Tax) ซึ่งนักวิเคราะห์ทางการเงินมือดีได้ใช้ Financial Statement เพื่อวางกลยุทธ์ในการดำเนินกิจการโดยตลอด หลายธุรกิจครอบครัวที่พบปะให้คำปรึกษาส่วนใหญ่มักนำ Financial Statement มาไว้เพื่อ “ดู” เพียงเท่านั้น แต่ยังไม่ได้นำว่าวิเคราะห์วางแผนอย่างเป็นรูปธรรม
ธุรกิจหลายครอบครัวส่วนใหญ่ปัจจุบันที่วางนโยบายการดูแลครอบครัวอย่างเท่ากัน (ย้อนอ่านบทความการดูแลคนกงสีได้ทาง บทความ) มักตั้งฐานเงินเดือน (เป็นสวัสดิการครอบครัว) ให้กับสมาชิกครอบครัวที่ทำงาน หรือไม่ทำงานไว้ในบริษัทกลายเป็นรายจ่ายทางด้านการดำเนินการ (Operating Expense) หักลบกับกำไรจากการขายสินค้า (บริการ) (Gross Profit) ได้รับบน Top Line ของงบกำไรขาดทุน สาเหตุที่หลายครอบครัวทำเช่นนี้เพราะต้องการสร้างรายจ่ายเพื่อลดการเสียภาษีนิติบุคคล (อัตราคงที่ 20%) ใน Bottom Line (EBIT) ก่อนที่จะกลายเป็น กำไรสุทธิ แต่การกระทำเช่นนี้เป็นเพียงแผนการหวังน้ำบ่อหน้าในกงสี เพราะหากวิเคราะห์อย่างลึกซึ่ง เมื่อสมาชิกครอบครัวได้รับค่าตอบแทนจากกิจการ แต่ละคนก็จะต้องนำเอาฐานรายได้ดังกล่าวรวมไปคำนวนเพื่อเสียภาษีบุคคลธรรมดา (อัตราก้าวหน้า 5% - 35%) หรือหากนำค่าตอบแทนจ่ายจากบัญชีเล่มที่สองให้แก่คนในครอบครัว สมาชิกครอบครัวดังกล่างก็ยังมีความเสี่ยงที่จะโดนประเมินภาษีจากหน่วยงานรัฐ ที่โดนตั้งคำถามว่าเงินได้ที่เข้ามาเป็นประจำนั้นได้จากที่ใด ซึ่งถือว่าเป็นการว่าจ้างหรือไม่
เมื่อกงสีได้จัดทำธรรมนูญครอบครัวขึ้น ข้อตกลงอนาคตธุรกิจครอบครัวก็จะถูกวางแนวทางซึ่งจะกระทบกับงบกำไรขาดทุนบริษัทอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ในบางครอบครัวที่ต้องการให้ธุรกิจเติบโต (Growth Policy) Sales ของกิจการก็ต้องเติบโต ขยับขายแตกไลน์ธุรกิจใหม่ ขยายตลาดเพื่อให้เติบโตตามแนวทางที่กำหนด ดังนั้นกิจการดังกล่าวจะเน้นหลักไปที่ Net Sales โดยอาจจะยังมีต้นทุนการขาย (Cost of Goods Sold (COGS)) และการดำเนินการสูง ดังนั้นกำไรสุทธิ (Net Profit) และ อัตรากำไรสุทธิ (Net Profit Margin) จะยังไม่สูงมากเนื่องจากการรุกตลาดเพื่อเติบโต
หากธุรกิจครอบครัวเน้นการควบคุมภายในครอบครัวเพื่อคงสภาพกิจการ (Control Policy) ไม่ได้มุ่งเน้นการเติบโตแบบก้าวกระโดด กิจการดังกล่าวจะมุ่งเน้นไปที่การดูแลพนักงานกับสมาชิกครอบครัวนั้นหมายถึง Operating Expense จะไม่ได้ลดลงเนื่องจากฐานเงินเดือนจะคงที่ซึ่งหมายความว่ากิจการจะต้องคงสภาพอัตรากำไรสุทธิ (Net Profit Margin) ไว้ในอัตราคงที่ (ตามอัตราที่อุตสาหกรรม หรือครอบครัวเป็นผู้กำหนด) เพื่อไม่ให้มูลค่ากิจการลดลง และยังสามารถดำเนินกิจการต่อไปได้
ในอีกทางหนึ่ง ครอบครัวที่มีข้อตกลงที่จะให้กิจการสร้างสภาพคล่องให้แก่ครอบครัว (Liquidation Policy) การบริหารจัดการต้นทุนสินค้า และการดำเนินการ (COGS & Operating Expense) เพื่อเพิ่มศักยภาพทางด้านการดำเนินการก่อนการหักลบมูลค่าทางการเงิน (EBITDA) เพื่อเพิ่มกำไรสุทธิ (Net Profit) ให้สูงขึ้น และแปลงเป็นกำไรสะสม (Retained Earning) ที่แสดงผลในงบดุลก่อนการจ่ายเงินปันผลแก่ผู้ถือหุ้น (สมาชิกครอบครัว)
งบกระแสเงินสด (Cash Flow Statement)
Cash Flow Statement คืองบที่แสดงผลกิจกรรมการได้มา และการใช้ไปของเงินสดภายในองค์กร ซึ่งแสดงผลเป็นรายการขารับ (Debit) และขาจ่าย (Credit) กิจกรรมทางการเงินที่เกิดขึ้นในธุรกิจครอบครัวนั้นสะท้อนไปถึงพฤติกรรมของผู้บริหารภายในองค์กร และความชัดเจนโปร่งใสทางการเงินว่าธุรกรรมต่างๆ นั้นถูกนำไปใช้เพื่อจุดประสงค์ทางการค้าหรือไม่ ธุรกิจครอบครัวก่อนที่จะมีการจัดทำธรรมนูญครอบครัวเมื่อวิเคราะห์ไป Cash Flow Statement จะให้ถึงกิจกรรมในขาเงินสดจ่าย (Cash Outflows) ว่ามีรายจ่ายค่าสินค้า หรือวัตถุดิบเป็นจำนวนมากเพราะครอบครัวได้นำรายจ่ายตรงนี้ไปเป็นช่องทางในการดูแลสมาชิกครอบครัว (ผ่านสวัสดิการครอบครัว) ไม่ว่าจะเป็นสินค้าเพื่อการอยู่อาศัย ค่าเทอมลูกหลาน หรือเบี้ยประกัน หรือ Cash Outflows เพื่อการลงทุน (Investing Activities) เพื่อซื้ออสังหาริมทรัพย์ในนามกิจการแต่ถูกใช้งานเป็นบ้านกงสีให้สมาชิกครอบครัวอยู่กลายเป็นรายจ่ายที่ไม่ตรงต่อความเป็นจริง และเจตนารมณ์การใช้งาน หากหน่วยงานรัฐ (กรมสรรพากร) พบสิ่งผิดปกติในการใช้งานทรัพย์สินซึ่งอาจนำไปสู่การถูกเรียกตรวจสอบ (Audit) ทางบัญชีได้ในอนาคต
การวางกรอบธรรมนูญครอบครัวจะช่วยปรับโครงสร้างงบกระแสเงินสดโดยเริ่มจากการลด Cash Outflows ที่เป็นกิจกรรมของฝั่งครอบครัว รายจ่ายทรัพย์สินครอบครัว รายจ่ายสวัสดิการ หรือประกันเป็นเพียงการดูแลคนในครอบครัวก็จะลดลง ผู้บริหารสามารถประเมินความก้าวหน้าการลดลงของ Cash Outflows ได้จากการวิเคราะห์ส่วนต่างเงินสดจ่าย (Outflows Margin) แต่ละรายการปีก่อนหน้าการจัดโครงสร้างที่เกี่ยวข้องกับครอบครัว การวิเคราะห์จะต้องมั่นใจได้ว่า Outflows Margin ในทุกรายการมีสัดส่วนที่ลดลง (ซึ่งจะต้องเป็นรายการที่เกี่ยวข้องกับครอบครัวทั้งสิ้น) โดย Cash Outflows ที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินกิจการ นั้นสามารถประเมินให้คงที่หรือปรับลดลงได้ตามกลยุทธ์ด้านการค้า ด้วยเหตุนี้ Cash Outflows ของกิจการก็จะมีสัดส่วนที่น้อยลง ลดความเสี่ยงรายจ่ายต้องห้าม (ทางภาษี) และทำให้กิจการมีกำไรสุทธิที่มากขึ้น
อย่างไรก็ตาม เพื่อสร้างความชัดเจน โปร่งใสในโครงสร้าง Cash Flow Statement เมื่อเจตนารมณ์การใช้ทรัพย์สินถูกจัดตั้งขึ้นในธรรมนูญครอบครัว และมีการวางโครงสร้างทรัพย์กงสีให้ถูกต้อง ธุรกิจครอบครัวอาจต้องมีการวางโครงสร้างการใช้งานอสังหาริมทรัพย์ของกงสีใหม่ หากกิจการได้มีการใช้อสังหาริมทรัพย์ (ที่ดิน / อาคาร / สิ่งปลูกสร้าง) ที่เป็นของสมาชิกครอบครัว (บุคคลธรรมดา) การทำสัญญาเช่าเพื่อให้รายจ่ายสะท้อนความเป็นจริงซึ่งจะทำให้เกิด Cash Outflows ที่ถูกต้องมากขึ้น ทั้งนี้ หากธุรกิจได้นำอสังหาริมทรัพย์กงสีเข้าเป็นทุนจดทะเบียนเพราะเป็นไปตามนโยบายธรรมนูญครอบครัว และไม่ได้ต้องการทำสัญญาเช่ากับสมาชิกครอบครัว (เนื่องจากสมาชิกครอบครัวจะต้องมีรายได้เพื่อไปรวมคำนวณในฐานภาษีบุคคลธรรมดา) Cash Outflows จากสัญญาเช่าก็จะถูกเปลี่ยนแปลงรายการเป็น Cash Outflows จากภาษีที่ดิน และสิ่งปลูกสร้างแทน หรือในทางกลับกัน หากครอบครัว (หรือสมาชิกครอบครัวบางท่าน) ได้ใช้ประโยชน์จากที่ดินของกิจการก็จะต้องมีการทำสัญญาการเช่า ซึ่งกิจการก็จะมีเงินสดรับ (Cash Inflows) จากการให้เช่ากลายเป็นรายได้ในฝั่ง Financial Statement นำไปรวมคำนวณเป็นกำไรสุทธิ (Net Profit) และแปรสภาพเป็นกำไรสะสม (Retained Earning) ในฝั่งงบดุลของกิจการ
หากกล่าวโดยสรุป
อนาคตธุรกิจครอบครัวเป็นการวางแผนของกงสี ทั้งฝั่งธุรกิจ และฝั่งครอบครัวโดยที่ทั้งสององค์ประกอบจะต้องสอดคล้อง เกื้อกูลกันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ การจัดทำธรรมนูญเป็นดั่งกฎกงสีซึ่งมีผลกระทบในการสร้างแรงผลักดันที่จะเปลี่ยนแปลงระบบการเงินของกิจการ ซึ่งอาจกล่าวได้ว่าธรรมนูญครอบครัวที่ครอบคลุม จะต้องชี้แจงอนาคตของธุรกิจ และบอกถึงแนวทางการบริหารธุรกิจครอบครัว โดยกรรมการ ผู้บริหารของแต่ละกิจการจะต้องประเมิน และตีโจทย์ในหลักการของครอบครัวให้แตก และนำหลักการไปประยุกต์ใช้เพื่อต่อยอดกิจการของครอบครัวให้เป็นไปตามนโยบายของกงสี ทั้งนี้ธรรมนูญครอบครัวจะต้องชี้แจงแนวทางการเติบโตที่เป็นไปได้ และสามารถนำไปใช้ได้จริงทั้งในเชิงกลยุทธ์ และสร้างตัวชี้วัดทางการเงิน
ธรรมนูญครอบครัวสามารถเป็นหลักการที่บ่งบอกถือกลยุทธ์ทางการเงินในธุรกิจครอบครัวได้ โดยต้องอาศัยการร่วมมือกันระหว่างสมาชิกครอบครัวเพื่อพูดคุยหลักการในอนาคตธุรกิจ และการมองหาตัวชี้วัดทางการเงินเพื่อประยุกต์ใช้ในทางปฏิบัติ หลายธุรกิจครอบครัวที่ได้ให้คำปรึกษาได้เข้าใจในแนวทางดังกล่าวจึงเริ่มย้อนกลับมาปรับปรุงธรรมนูญครอบครัว (Family Charter Revision) และปฏิบัติใช้ธรรมนูญครอบครัว (Family Charter Implementation) เชื่อมโยงกับกลยุทธ์ธุรกิจครอบครัวในการสร้างการเติบโตอย่างมืออาชีพอย่างเป็นรูปธรรม