ความขัดแย้งในธุรกิจครอบครัวมีกี่รูปแบบ
การทำธุรกิจครอบครัวไม่อาจหนีไม่พ้นความขัดแย้งที่เกิดขึ้นภายในครอบครัว ซึ่งภายใต้ความขัดแย้งที่ไม่ว่าจะเริ่มต้นจากจุดใด การโต้แย้งกันก็ปะปนไปด้วยเรื่องราวของธุรกิจและครอบครัวอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ไม่ว่าข้อพิพาทจะเริ่มต้นจากเรื่องครอบครัวและลามไปเรื่องธุรกิจ หรือความเห็นที่ไม่ตรงกันในที่ทำงานและลามไปถึงความสัมพันธ์ภายในครอบครัว คำถามที่น่าหาคำตอบคือความขัดแย้งในธุรกิจครอบครัวมีกี่รูปแบบ? และเมื่อเข้าใจธุรกิจครอบครัวจะแก้ไขอย่างไรเพื่อจัดการกับความขัดแย้งไม่ให้บานปลาย
ความขัดแย้งในธุรกิจครอบครัวสามารถแบ่งได้ด้วย 2 ส่วนสำคัญนั้นคือความขัดแย้งในบริบทธุรกิจ (Business Context) และความขัดแย้งในบริบทครอบครัว (Family Context) ซึ่งแต่ละความขัดแย้งล้วนมีหลักการที่แตกต่าง และมีข้อสังเกตที่ครอบครัวสามารถนำไปพิจารณาได้ในธุรกิจครอบครัวของตน
ความขัดแย้งในบริบทธุรกิจ (Business Conflict)
ความขัดแย้งเชิงนโยบาย (Policy Conflict)
ความขัดแย้งเชิงนโยบายมักเกิดขึ้นเมื่อธุรกิจครอบครัวกำลังพิจารณาถึงอนาคต และความเป็นไปของธุรกิจครอบครัว นั้นหมายถึงสมาชิกครอบครัวบางคนอาจมองภาพของกิจการให้เจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว ต้องวิ่งเข้าหา โอกาส (Aggressive) ต่อยอดธุรกิจภายในระยะเวลาอันสั้น ด้วยแหล่งทุนที่หลากหลาย และบุคลากรขับเคลื่อนที่ไม่ใช่เฉพาะคนในครอบครัว แต่ในทางกลับกันอาจมีคนในครอบครัวเห็นต่างมองว่าธุรกิจควรจะเน้นความมั่งคง เติบโตแบบค่อยเป็นค่อยไป (Conservative) เน้นความปลอดภัยด้านการลงทุนเพื่อคงความมั่งคั่งครอบครัวไว้ตามเดิม แนวทางตัวอย่างที่กล่าวไปเป็นความขัดแย้งเชิงนโยบายที่หลายธุรกิจครอบครัวมักเผชิญเมื่อธุรกิจได้ดำเนินมาถึงช่วงระยะเวลาหนึ่งที่ครอบครัวได้เผชิญกับความท้าทายในปัจจัยด้านธุรกิจหรือมีการเปลี่ยนแปลงภายในครอบครัว
นโยบายทางธุรกิจมีผลกระทบต่อความเป็นไปของธุรกิจ ซึ่งหมายถึงความมั่งคั่งของครอบครัวในเวลาเดียวกัน ดังนั้น เมื่อมีความเห็นต่างเชิงนโยบายสมาชิกครอบครัวผู้เป็น “ผู้กำหนดนโยบาย” (ผู้ถือหุ้น กรรมการ และ/หรือสภาครอบครัวหากครอบครัวได้จัดทำสภาครอบครัว) ควรที่จะจัดประชุมเพื่อรับฟังความคิดเห็นของทุกฝ่ายเพื่อตัดสินใจร่วมกันเพื่อให้ได้ซึ่งข้อตกลงร่วม (Agreement) ภายในผู้กำหนดนโยบายดังกล่าว การพูดคุยเรื่องนโยบายระหว่างกลุ่มคนน้อยคนแม้เป็นเรื่องที่สามารถพูดคุยถกเถียงกันได้แต่หากเนื้อหาเริ่มบานปลายไปสู่ข้อพิพาทหรือจะสร้างความไม่พอใจก็ควรที่จะนำประเด็นดังกล่าวไปพูดคุยกับผู้กำหนดนโยบายทั้งหมดโดยรวดเร็ว
ความขัดแย้งเชิงบริหาร (Management Conflict)
ความขัดแย้งเชิงบริหารคือความขัดแย้งที่เกิดขึ้นจากบริบทการทำงานภายในธุรกิจ สมาชิกครอบครัวที่เป็นผู้บริหาร หรือพนักงานในกิจการครอบครัวส่วนใหญ่แล้วจะมีข้อพิพาทดังกล่าวเพราะรูปแบบการทำงานที่แตกต่างกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งรูปแบบการทำงานที่แตกต่างระหว่างช่วงอายุ หรือที่รู้จักในนาม Generation Gap วิธีการบริหารที่มีหลากหลายอาจทำให้องค์กรมีข้อได้เปรียบจากความหลากหลายส่งเสริมให้ได้มุมมองที่แตกต่างออกไป แต่หากใช้ไม่ถูกวิธีก็อาจทำให้เกิดความขัดแย้งอย่างไม่รู้จบภายในกลุ่มผู้บริหารของธุรกิจครอบครัวได้ ผู้บริหารบางคนในครอบครัวอาจเป็นผู้ที่บริหารที่แบบตรงไปตรงมาเน้นการตัดสินใจอย่างรวดเร็ว แต่บางคนอาจเป็นคนประณีประนอมหรือต้องการข้อมูลอย่างหนาเน้นใช้เวลาเพื่อตัดสินใจธุรกิจ
การบริหารมีผลกระทบต่อแนวทางการดำเนินธุรกิจ ซึ่งจะต้องดำเนินกลยุทธ์ตามนโยบายของธุรกิจครอบครัว ดังนั้น เมื่อเกิดความขัดแย้งเชิงบริหาร ผู้บริหารที่เกี่ยวข้องควรต้องวางแผนการกระจายการตัดสินใจ (DOA = Delegate of Authorization) เพื่อลดการกระทบระหว่างการทำงานของผู้บริหาร (ครอบครัว) แต่ละคน มากไปกว่านั้น หากมีข้อขัดแย้งเชิงบริหารระหว่างคนในครอบครัว “ผู้กำหนดนโยบาย” ควรต้องพิจารณานโยบายของธุรกิจว่าความขัดแย้งจากการบริหารที่เกิดขึ้นมีโอกาสที่จะเกิดขึ้นซ้ำหรือไม่ หากมีโอกาสเพราะเป็นแนวทางการบริหารที่ต้องพบปะเจอกันบ่อยครั้ง ผู้กำหนดนโยบายควรต้องวางแผนสำหรับการขยายกิจการ หรือปรับเปลี่ยนตำแหน่งตามความเหมาะสมอีกครั้งหนึ่ง
ความขัดแย้งในบริบทครอบครัว (Family Conflict)
ความขัดแย้งเชิงความสัมพันธ์ (Relationship Conflict)
ความขัดแย้งเชิงความสัมพันธ์คือความสัมพันธ์ระหว่างสมาชิกครอบครัวที่ไม่ดี อาจเกิดจากการทะเลาะกันเพราะเรื่องนโยบาย การบริหารในกิจการ หรือในบางครั้งก็เพราะเป็นเชิงความสัมพันธ์ในครอบครัวเนื่องจากประสบการณ์ที่เกิดขึ้นภายในครอบครัวเช่นการถูกเปรียบเทียบ เพศที่แตกต่าง หรือการได้รับการดูแลที่แตกต่างเป็นต้น อารมณ์ความรู้สึกดังกล่าวสามารถเกิดขึ้นได้ภายในครอบครัว หรือในหมู่เครือญาติ ซึ่งจะกระทบต่อการทำงานร่วมกันภายในกิจครอบครัวอย่างมีนัยยสำคัญ (สามารถกระทบไปสู่ความขัดแย้งเชิงนโยบาย หรือความขัดแย้งเชิงการบริหาร) ความสัมพันธ์ภายในครอบครัวที่กระทบต่อบรรยากาศการทำงาน การสื่อสาร รวมไปถึงความเป็นอนึ่งเดียวกันกับครอบครัวสามารถนำไปสู่ประสิทธิภาพการทำงานของบุคคลดังกล่าวที่ลดลง (เนื่องจากปิดกั้นตัวเองจากสิ่งเร้าที่ไม่พอใจ) ซึ่งจะมีผลต่อวัฒนธรรมองค์กร ความเป็นมืออาชีพ ภาพลักษณ์ความน่าเชื่อถือของครอบครัวภายในธุรกิจครอบครัว ยิ่งหากธุรกิจครอบครัวเป็นธุรกิจที่มีมืออาชีพเข้ามาเป็นผู้ร่วมกำหนดนโยบาย และ/หรือร่วมการบริหาร แต่มีความขัดแย้งเชิงครอบครัว (ความสัมพันธ์) เป็นปัจจัยที่กระทบต่อการสื่อสาร การตัดสินใจ ความเป็นมืออาชีพในองค์กรก็จะลดน้อยถอยลงไปอย่างไม่สามารถปฏิเสธได้
เมื่อเกิดความขัดแย้งเชิงความสัมพันธ์ขึ้น สภาครอบครัว (ที่ถูกจัดตั้งโดยธรรมนูญครอบครัว) จะต้องเข้ามามีบทบาท เพื่อไกล่เกลี่ยข้อพิพาทดังกล่าว โดยสามารถทำได้จากการจัดประชุมส่วนตัวระหว่างคู่กรณีภายในครอบครัว โดยมีสภาครอบครัว (หรือตัวแทน) เข้ามาทำความเข้าใจ ไกล่เกลี่ย หรือหากจำเป็นก็ต้องมีการตักเตือน และ/หรือลงโทษเพื่อคงกฎระเบียบของครอบครัวไว้ (หากสมาชิกครอบครัวทำผิดกฎระเบียบในธรรมนูญครอบครัว) และเพื่อป้องกันเหตุการณ์ความขัดแย้งเชิงความสัมพันธ์ ครอบครัวควรที่จะจัดประชุมครอบครัว หรือมีตัวแทนครอบครัวเข้าไปพูดคุยสอบถามถึงข้อกังวลของสมาชิกครอบครัว หรือมีช่องทางการสื่อสารให้สมาชิกครอบครัวเข้ามาชี้แจงถึงความรู้สึกไม่พอใจเพื่อที่จะสามารถแก้ไขข้อขัดแย้งตรงนั้นให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
หากกล่าวโดยสรุป
ความขัดแย้งไม่ว่าจะเป็นในบริบทธุรกิจ หรือบริบทครอบครัวหากเกิดขึ้นอย่างใดอย่างหนึ่งก็จะทำให้เกิดความไม่พอใจอย่างต่อเนื่อง และกระจายต่อไปให้เกิดความขัดแย้งอีกรูปแบบนึงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ดังนั้นธุรกิจครอบครัวจึงจะต้องสร้างเกราะป้องกันที่ถูกต้อง มีกฎระเบียบที่ชัดเจนว่าหากเกิดความขัดแย้งขึ้นทางครอบครัวจะมีกระบวนการในการพูดคุย ไกล่เกลี่ย และจัดการอย่างเป็นรูปธรรมอย่างไรเพื่อให้ธุรกิจครอบครัวสามารถดำเนินต่อไปได้อย่างมืออาชีพโดยได้รับผลกระทบจากความขัดแย้งดังกล่าวอย่างน้อยที่สุด
อย่างไรก็ตาม ความขัดแย้งไม่ใช่สิ่งที่ไม่ดี ในทางกลับกัน หนึ่งในธุรกิจครอบครัวที่ได้ให้คำปรึกษาและประสบความสำเร็จ มีความสามารถที่ใช้ประโยชน์จากความขัดแย้งเพื่อหาทางพัฒนาธุรกิจครอบครัวให้เติบใหญ่ ผ่านแนวคิด “ความขัดแย้งอย่างสร้างสรรค์” (Constructive Conflict) ซึ่งเป็นหัวใจหลักของการตั้งคำถามว่า เมื่อเกิดความขัดแย้ง “แล้วต้องแก้ไขอย่างไรต่อ” ไม่ใช่ “โต้แย้งให้เราถูกอย่างไรต่อ” หลายธุรกิจครอบครัวยังมองความขัดแย้งเป็นอันตรายเพราะมีแนวคิดว่าทุกความขัดแย้งคือ “ความขัดแย้งเพื่อบ่อนทำลาย” (Destructive Conflict) ทั้งที่ในความจริงแล้ว หากธุรกิจครอบครัวมีกฎระเบียบ สร้างโครงสร้างที่เข้มแข็งในการสื่อสารความขัดแย้ง ความแตกต่างของสมาชิกครอบครัว สามารถนำมาเป็นสารตั้งต้นเพื่อพัฒนาธุรกิจครอบครัวได้อย่างไม่มีสิ้นสุด