เท่ากัน เท่าเทียม เหมาะสม จัดสรรอย่างไรในธุรกิจครอบครัว
ควรจะดูแลกงสีอย่างไร? ระหว่างเท่ากัน เท่าเทียม และเหมาะสม?
เกือบทุกธุรกิจครอบครัวที่ได้ให้คำปรึกษาธุรกิจครอบครัว มักจะนำประเด็นนี้มาพูดคุยกันระหว่างวางแผนธุรกิจครอบครัว เพื่อดูแลผู้ที่ทำงานในธุรกิจครอบครัว หรือไม่ได้ทำงานในธุรกิจครอบครัว เพราะเมื่อต้องวางกรอบการดูแลคนกงสีไม่ว่าจะเป็นทรัพย์สิน หรือค่าตอบแทนใด (Compensation) แล้วนั้น ย่อมมีความยากลำบากในการตัดสินใจเนื่องจากความเป็นครอบครัว และผลลัพธ์ในการทำงาน (Contribution) ในบางกงสีนั้นอาจไม่สัมพันธ์ตามสูตร 1 ต่อ 1 เสมอไป (Contribution ≠ Compensation) กงสีคือการผสมรวมกันระหว่างระบบธุรกิจ และครอบครัว การจัดสรรดูแลในกงสีก็ควรที่จะพิจารณาตัวแปรของทั้งสององค์ประกอบเพื่อสร้างสรรค์การดูแลที่ครอบคลุมที่สุด แต่ในแต่ละกงสีมักมีความแตกต่างว่าควรจะให้คนในครอบครัวเท่ากัน เนื่องจากเป็นลูกเหมือนกัน หรือควรให้อย่างเท่าเทียม เพราะคนนึงได้ อีกคนก็ควรได้ในรูปแบบที่แตกต่างกันเพื่อเกลี่ยให้เช่นเดียวกัน หรือตามแต่ละความเหมาะสมใครทำมากได้มาก ใครไม่ทำก็ได้น้อย หรืออาจจะไม่ได้เลยสุดแล้วแต่ละครอบครัว
ดังนั้น ธุรกิจครอบครัวควรจะเลือกการดูแลคนกงสีอย่างไรให้เหมาะสมกับบริบท และแนวทางอนาคตที่ธุรกิจครอบครัวต้องการจำก้าวเดินต่อไป ในบทความนี้จะมาวิเคราะห์ถึง 3 รูปแบบพร้อมข้อดีข้อเสียเพื่อให้กงสีของคุณได้นำไปปรับใช้อย่างถูกต้อง
ดูแลอย่างเท่ากัน
การให้เท่ากันนั้นหมายถึงการจัดสรรทรัพย์สินผลประโยชน์ทั้งใน และนอกธุรกิจครอบครัวให้เท่าให้มากที่สุด “เค้กหารเท่า” แม้ว่าสมาชิกครอบครัวจะทำงานธุรกิจครอบครัว ดูแลครอบครัว หรือไม่ได้ยุ่งเกี่ยวกับธุรกิจครอบครัวแต่อย่างใด แนวทางดังกล่าวจะใช้หลักการ “คนในครอบครัว” เป็นตัวตั้งตีความว่าเมื่อเป็นคนในครอบครัว เป็นพี่น้องกัน ก็ควรได้เท่ากัน ส่วนใหญ่แล้วสมาชิกครอบครัวที่ได้ใช้แนวทางดังกล่าวจะมีนโยบายให้สมาชิกครอบครัวเข้ามาทำงานในธุรกิจครอบครัว และจัดสรรเงินเดือนในสัดส่วนที่เท่ากัน หรือไม่ได้หนีห่างจากกันมากเกินไป เช่นเดียวกันกับสัดส่วนการถือหุ้นที่มีการถือหุ้นในสัดส่วนที่เท่ากันเพื่อป้องกันความรู้สึกน้อยใจภายในครอบครัวด้วยกันเอง ในเชิงทรัพย์สินก็เช่นเดียวกัน อสังหาริมทรัพย์ที่ถือครองในนามครอบครัวก็มักจะใช้นโยบายการถือร่วมกันโดยไม่ได้แบ่งแยกผู้มีกรรมสิทธิถือครองอย่างเบ็ดเสร็จ
การดูแลอย่างเท่ากันมีข้อดีในการสร้างรู้สึกถึงความเป็นเจ้าของกงสีอย่างทั่วถึง แม้ว่าทุกคนอาจไม่ได้เข้าทำงานในธุรกิจครอบครัวก็ตาม สมาชิกครอบครัวทุกคนจะมีสัดส่วนความเป็นเจ้าของผ่านการถือหุ้น หรือถือครองที่ดินกงสีอย่างเท่าเทียมกัน หรือแม้กระทั้งค่าตอบแทนที่แตกต่างกันเพียงเล็กน้อยตามตำแหน่งของแต่ละบุคคล แนวทางดังกล่าวยังมีข้อดีที่สามารถเป็นแนวทางในการสร้างการเปลี่ยนผ่านกิจการครอบครัวจากรุ่นสู่รุ่นได้อย่างมีประสิทธิภาพ อย่างไรก็ตามข้อเสียของแนวทางนี้มักเกิดขึ้นในระยะยาว แม้แนวทางดังกล่าวจะทำให้สมาชิกครอบครัวทุกคนรู้สึกพึงพอใจในระยะสั้น (เมื่อเริ่มเข้าทำงาน และ/หรือก่อนที่จะมีครอบครัวใหม่) แต่เมื่อดำเนินแนวทางดังกล่าวในระยะเวลาหนึ่ง เมื่อมีสมาชิกครอบครัวบางคนทำงาน และบางคนไม่ได้ทำงานในกงสี ความรู้สึกไม่พอใจที่สมาชิกครอบครัวบางคนได้รับการดูแลที่เท่ากันแต่การลงมือลงแรงในกงสีนั้นแตกต่างกัน “คนนึงทำ อีกคนไม่ทำ” มากไปกว่านั้นหากธุรกิจครอบครัวต้องการสร้างความเป็นมืออาชีพ การวัดผลงานเพื่อให้สะท้อนผลตอบแทนอาจเป็นอุปสรรค์ในอนาคตเนื่องจากค่าตอบแทนของสมาชิกครอบครัวนั้นไม่ได้สะท้อนจากผลงาน แต่สะท้อนมาจากความเป็นคนในรอบครัว จนสุดท้ายอาจเกิดปรากฏการณ์เกี่ยงกันทำกงสี เพราะสุดท้ายทำไม่ทำค่าก็เท่ากัน ดังนั้นไม่ทำซะก็สบายกว่า
แนวทางดังกล่าวสามารถทำให้สำเร็จได้หากกงสีได้สร้างแรงจูงใจให้สมาชิกครอบครัวเข้ามาร่วมพัฒนาธุรกิจครอบครัวได้ โดยสามารถทำได้โดยสร้างอนาคตการพัฒนาธุรกิจครอบครัวอย่างชัดเจน และน่าดึงดูดแก่คนในครอบครัวทุกคน เล็งพัฒนากิจการให้เติบใหญ่โดยสามารถสร้างค่าตอบแทนที่เพียงพอต่อการดำรงอยู่ของธุรกิจ อย่างไรก็ตามการดูแลที่เท่ากันภายในกงสีจะต้องพิจารณาการกำหนดบทบาท หน้าที่ในธุรกิจครอบครัวอย่างชัดเจนเพื่อสร้างความเป็นเจ้าภาพในแต่ละพื้นที่ของกิจการให้คนในครอบครัวไม่ให้ทับซ้อนระหว่างกันเพื่อป้องกันความขัดแย้งระหว่างการทำงาน รวมไปถึงสร้างความมั่งคั่ง (ทางการเงิน และความสัมพันธ์) ให้คงอยู่ได้กับสมาชิกครอบครัวทุกคน
ดูแลอย่างเท่าเทียม
การดูแลอย่างเท่าเทียมคือการดูแลสมาชิกครอบครัวโดยยึดหลัก “คนในครอบครัวได้เท่ากันในบริบทที่แตกต่าง” เป็นแนวทางตามหลักการเท่ากันที่พัฒนาขึ้น และเริ่มถูกใช้ในกงสีมากขึ้น แนวทางดังกล่าวได้เอาความเป็นครอบครัว มาพิจารณาร่วมกับความเป็น “ปัจเจกบุคคล” มากขึ้น หนึ่งในข้อเสียของการดูแลอย่างเท่ากันคือเมื่อสมาชิกครอบครัวเริ่มมีความแตกต่างเชิงปัจเจก บางคนแต่งงาน บางคนไม่แต่งงาน แต่งเข้า หรือแต่งออก ฯลฯ การดูแลอย่างเท่ากันจึงเริ่มไม่สามารถปฏิบัติได้ในความเป็นจริง (ของกงสียุคใหม่) ดังนั้น หลักการของความเท่าเทียมจึงเข้ามาทดแทน โดยแทนที่จะเป็นการแบ่งเค้กให้เท่ากันแต่จะเป็นการหาสิ่งทดแทนอื่นให้เท่าเทียมกับสมาชิกครอบครัวคนอื่น
ตัวอย่างที่หลายธุรกิจครอบครัวชอบปฏิบัติคือเมื่อสมาชิกครอบครัวคนหนึ่งได้แต่งงาน และมีลูกการดูแลของสมาชิกครอบครัวคนนั้นย่อมต้องสูงกว่าสมาชิกครอบครัวอีกฝ่ายที่ไม่ได้แต่งงานมีลูกอย่างชัดเจน เมื่อเกิดเหตุการณ์อย่างนั้น หลายกงสีจึงเลือกที่จะให้ทรัพย์สิน อาทิเช่นเงินสด หรือทรัพย์สินอื่นเข้าไปทดแทนให้กับสมาชิกครอบครัวที่ไม่ได้รับผลประโยชน์เพื่อคงหลักการให้เกิดความเท่ากันในบริบทที่แตกต่างกันออกไป เช่นเดียวกันกับหุ้นในธุรกิจครอบครัว ที่แม้สมาชิกครอบครัวจะได้หุ้นเท่ากัน แต่เมื่อมีสมาชิกครอบครัวบางคนที่ทำงานในธุรกิจครอบครัวกงสีอาจกำหนดนโยบายให้คนทำงานได้เงินเดือนที่สูงกว่าสมาชิกครอบครัวคนอื่นเพื่อเป็นการตอบแทนก็เป็นได้
แนวทางดังกล่าวมีข้อดีคือสามารถตอบแทนผู้ที่ลงมือทำงานในกงสีให้มากกว่าสมาชิกครอบครัวคนอื่นได้ โดยยังสามารถสร้างแรงจูงใจเพิ่มเติมกับคนในครอบครัวให้เข้ามาทำงานในธุรกิจครอบครัวได้มากขึ้น เพราะหากคนที่ทำงานในกิจการครอบครัวก็มีสิทธิได้รับผลตอบแทนในฐานะของผู้ทำงาน แต่ในทางกลับกันข้อเสียของแนวทางคือความรู้สึกเป็นเจ้าของที่ไม่เพิ่มขึ้นเช่นเดียวกันกับแนวทางก่อนหน้า เพราะเมื่อสมาชิกครอบครัวได้ทำงานในธุรกิจครอบครัวมาระยะเวลาหนึ่งความรู้สึก และความอยากเป็นเจ้าของในกิจการย่อมมีมากขึ้นเรื่อยๆ แต่อย่างไรก็ตามกงสีก็ไม่อาจให้ได้เนื่องจากสัดส่วนของหุ้นก็ยังจะต้องให้เท่ากันเพื่อคงความเป็นคนในครอบครัว จึงทำให้หลายครอบครัวที่นำแนวทางที่ไปใช้เริ่มมีข้อพิพาทในเรื่องการเรียกร้องความเป็นเจ้าของมากขึ้นเพื่อสิทธิอำนาจความเป็นเจ้าของ และการบริหารที่เบ็ดเสร็จมากขึ้นโดยไม่ต้องมาสอบถามความเห็นสมาชิกครอบครัวที่ไม่ได้ทำงาน และอาจมีองค์ความรู้ไม่เทียบเท่ากับคนทำงาน
ดูแลอย่างเหมาะสม
การดูแลอย่างเหมาะสมคือการดูแลโดยเริ่มมีการแบ่งระหว่างความเป็นธุรกิจ และครอบครัวอย่างชัดเจนมากขึ้น หลักการของความเหมาะสมคือ “ทำมากได้มาก ทำน้อยได้น้อย” ในเชิงความเป็นเจ้าของธุรกิจจะมีการแบ่งสัดส่วนการถือหุ้นด้วยเจตนารมณ์ซึ่งแบ่งออกได้เป็นการจัดสรรการถือหุ้นโดยสะท้อนความเป็นครอบครัว สะท้อนการทำงาน สะท้อนอดีต สะท้อนอนาคต และสะท้อนผู้ลงทุน ในสัดส่วนการถือหุ้นดังกล่าวหากสมาชิกครอบครัวคนใดทำงานในธุรกิจครอบครัวก็จะมีสิทธิได้รับหุ้นที่สะท้อนความเป็นครอบครัว การทำงาน และอนาคต หรือหากเป็นสมาชิกครอบครัวที่เคยทำงานในกิจการมาก่อนก็ได้ส่วนของความเป็นครอบครัว และอดีตที่เคยมีผลงานมาก่อน ในเชิงผลตอบแทนหากสมาชิกครอครัวคนใดทำงานก็จะมีเงินเดือนที่เหมาะสมกับตำแหน่ง เฉกเช่นพนักงานคนอื่นทั่วไป แต่หากไม่ได้ทำงานในกงสีก็จะไม่ได้รับเงินเดือน (แต่ได้รับความมั่งคั่งจากการถือหุ้น และรับเงินปันผล)
การดูแลอย่างเหมาะสมยังสามารถปรับใช้ได้กับการถือครองทรัพย์สินครอบครัว อาทิเช่นที่ดิน และอาคารเป็นต้น เมื่อครอบครัวได้มีนโยบายการจัดสรรอย่างเหมาะสม การหารให้เท่ากัน หรือเท่าเทียมก็ไม่ได้จะต้องมาใช้สูตรหาความเท่าอีกต่อไป แต่เป็นการดูที่จุดประสงค์ของการทรัพย์สินให้เหมาะสมต่อการใช้งานของกงสี เช่นเมื่อที่ดินดังกล่าวเหมาะสมกับการนำไปพัฒนาต่อก็ควรที่จะนำไปใช้ในการพาณิชย์ (ในกิจการครอบครัว) หรือหากมองว่าทรัพย์สินดังกล่าวควรที่จะขายทิ้งก็ควรที่จะนำปล่อยขายเพื่อใช้เป็นสภาพคล่องในครอบครัวต่อไป ความเหมาะสมสามารถจัดสรรขึ้นได้ในครอบครัวผ่านการได้รับสิทธิพึงจะได้รับในกงสี สิทธิในการได้รับสวัสดิการครอบครัว และ/หรือสิทธิในการเข้าทำงานในธุรกิจครอบครัวเช่นเดียวกัน (ในบางกรณี สมาชิกครอบครัวบางคน หรือเขย สะใภ้ อาจไม่ได้รับสิทธิในการเข้าทำงานในกิจการกงสี โดยจะต้องขึ้นอยู่กับธรรมนูญครอบครัวแต่ละกงสี)
ข้อดีของการดูแลอย่างเหมาะสมคือความเป็นมืออาชีพทั้งในธุรกิจ และครอบครัว มีความชัดเจน โปร่งใสในการบริหารจัดการ สมาชิกครอบครัวที่ทำงานในธุรกิจครอบครัวก็จะได้รับค่าตอบแทน หรือความเป็นเจ้าของที่มากกว่าสมาชิกครอบครัวคนอื่น (จะต้องผนวกกับกฎเกณฑ์ในธรรมนูญครอบครัวว่ามีอำนาจบริหารธุรกิจโดยเสียงข้างมากได้หรือไม่) ซึ่งเหมาะสมกับสมาชิกครอบครัวที่ไม่ทำก็จะได้รับสัดส่วนความเป็นเจ้าของในชั้นของสมาชิกครอบครัวซึ่งจะได้รับเงินปันผลในลำดับถัดไป เช่นเดียวกันกับทรัพย์สินครอบครัวที่จะถูกจัดสรรอย่างเหมาะสมให้ถูกต้องตามเจตนารมณ์ของกงสีต่อไป อย่างไรก็ตามข้อเสียในแนวทางดังกล่าวคือ “การเปลี่ยนแปลง” กงสีจะต้องมีการปรับเปลี่ยนระบบธรรมาภิบาลมากกว่าแนวทางอื่นสืบเนื่องมาจากครอบครัวจะต้องมาพิจารณาเจตนารมณ์ของหุ้น ทรัพย์สิน โครงสร้างกิจการ บทบาท หน้าที่ และค่าตอบแทนใหม่ เนื่องจากหากไม่ได้นำองค์ประกอบดังกล่าวมาพิจารณาการดูแลสมาชิกครอบครัวอย่างเหมาะสมนั้นก็จะไม่เกิดผลลัพธ์ที่คาดหวัง และสุดท้ายระบบธรรมาภิบาลก็จะถูกดีดกลับกลายเป็นแบบเดิม
หากกล่าวโดยสรุป
เมื่อธุรกิจครอบครัวถึงคราวต้องเติบโตระบบธรรมาภิบาลเดิมก็ต้องเปลี่ยนแปลงตาม ระบบเดิมที่ใช้อาจไม่ตอบโจทย์อนาคตที่ธุรกิจครอบครัวจะต้องเดินหน้าต่อไป ในการกำหนดการจัดสรรดูแลคนกงสีนั้น ไม่ได้มีวิธีใดถูกต้องเสมอไป แต่ละครอบครัวมีบริบทที่แตกต่าง และแต่ละแนวทางมีข้อดีข้อเสียที่จะต้องนำไปพิจารณาอย่างละเอียดถี่ถ้วน อย่างไรก็ตามสูตรการเติบโตของธุรกิจครอบครัวไม่ใช่การทิ้งบางอย่าง (บางคน) ไว้ข้างหลัง แต่เป็นการนำอดีตของกงสีมาต่อยอด (สามารถอ่านเพิ่มเติมได้ที่: ธุรกิจครอบครัวมีดีอะไร) เป็นฐานกระโดดให้ความมั่งคั่งนั้นสูงกว่ากงสีสมัยก่อนให้ได้ ซึ่งหากทำได้กงสีเราก็จะสามารถสร้างความมั่งคั่งภายในกิจการ และสร้างความมั่งคั่งให้กับทางครอบครัวให้สมาชิกครอบครัวทุกคนสามารถเติบโต ลดข้อพิพาท และมีความปรองดองภายในครอบครัวดั่งที่ทุกคนได้คาดหวังไว้ในการบริหารธุรกิจครอบครัว